svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ไขปมทำไม รธน.ต้องแก้ยาก - ชี้ช่องไม่ต้องรื้อ ม.256

03 สิงหาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"อดีตโฆษก กรธ." แจง 2 เหตุผล ไขปมทำไมรัฐธรรมนูญต้องแก้ไขยาก ย้ำถอดบทเรียนป้องกันฝ่ายการเมืองลุยรื้อเพื่อผลประโยชน์ตัวเองจนประเทศวุ่นวาย ยันบทบาท ส.ว.มีความสำคัญ อย่ากังวลเรื่องโหวตนายกฯ ช่วง 5 ปีแรก เพราะบ้านเมืองยังต้องอยู่อีกยาว ชี้ช่องแก้รายมาตรา เจรจาสภาสูง อาจไม่ต้องแก้ ม.256

ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤตอดีตโฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงเสียงวิจารณ์เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่เขียนเงื่อนไขให้แก้ไขได้ยากมาก ว่า สาเหตุที่ร่างไว้แบบนี้มีเหตุผล 2 อย่าง คือ1.เป็นธรรมชาติของกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายแม่บท ไม่ใช่กฎหมายธรรมดา จึงต้องแก้ไขยาก และ กรธ.ยกร่างตามกรอบ 10 ประการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ที่กำหนดหลักการสำคัญที่ต้องมีในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเมื่อเป็นหลักการสำคัญ จึงต้องแก้ไขยาก

2.เป็นสาเหตุมาจากความวุ่นวายในอดีตที่มีฝ่ายการเมืองมุ่งหมายที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตอบโจทย์ในสิ่งที่พวกเขาเห็น ทำให้เกิดข้อขัดแย้งในสังคมขึ้นมา

ส่วนแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้แก้ได้ยากขึ้นนั้น ศ.ดร.อุดม บอกว่า ถ้าแก้มาตรานี้ ก็จะต้องทำประชามติ ซึ่งจุดนี้เป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้หลายคนมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยาก

ทว่า ประเด็นที่คนพูดกันมากกว่า คือ การต้องใช้เสียงสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ในการร่วมโหวตเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยใช้เสียงมากกว่า 1 ใน 3 หรือราวๆ 84 เสียง และต้องมีฝ่ายที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลมาร่วมด้วย 20% จุดนี้ทำให้ดูว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมีเงื่อนไขเสียงข้างมากจริงๆ ทั้งจากฝ่ายที่ไม่ได้เป็นรัฐบาล และ ส.ว. ไม่ใช่อาศัยเฉพาะเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรอย่างเดียว แต่ต้องได้การสนับสนุนจาก ส.ว. และฝ่ายที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลด้วยเช่นกัน

อดีตโฆษก กรธ. บอกอีกว่า การเขียนรัฐธรรมนูญให้ ส.ว.มีบทบาท มีในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ เพราะสภาไม่ได้มีเฉพาะ ส.ส. แต่เป็นรัฐสภา มี ส.ว.ด้วย แต่ที่บางฝ่ายออกมาโวยวายบทบาทของ ส.ว. ก็เพราะในบทเฉพาะกาลเขียนให้ ส.ว.ชุดแรกมาจากการคัดเลือกโดย คสช. และยังมีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ กับอำนาจตรวจสอบอีกหลายอย่าง ทำให้เสียงข้างมากทำอะไรตามใจไม่ได้ จึงถือว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้สร้างความยุ่งยากให้นักการเมืองมากพอสมควร

ศ.ดร.อุดม ยอมรับด้วยว่า การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องผ่านถึง 3 ด่าน กล่าวคือ ด่านแรก ต้องมี ส.ว.เห็นชอบด้วยทุกขั้นตอนอย่างน้อย 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง ด่านที่ 2 หากจะแก้ประเด็นสำคัญ เช่น หมวด 1 (บททั่วไป รูปแบบรัฐ) หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หมวด 15 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงการแก้ไขอำนาจศาล อำนาจองค์กรอิสระ ต้องทำประชามติ และด่านที่ 3 เมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่านการพิจารณาทั้ง 3 วาระแล้ว ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ยังเปิดช่องให้ ส.ส. ส.ว.ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้อีก

แต่ ศ.ดร.อุดม ก็เห็นว่า ไม่ได้หมายความว่ารัฐธรรมนูญจะแก้ไขไม่ได้เลย เพราะอะไรที่เป็นของดี ทุกฝ่ายก็จะเห็นร่วมกัน แต่บางเรื่องถ้าเป็นประโยชน์เฉพาะบางกลุ่มบางฝ่าย จะให้ฝ่ายอื่นเห็นดีเห็นงามคงไม่ได้ ตนยังคิดว่าถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญ ก็ต้องหารือกับ ส.ว. ซึ่ง ส.ว.อาจจะเห็นด้วยให้แก้ แต่อาจจะไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมดเหมือนกับ ส.ส. แต่ที่แก้ยากมากที่สุดคือการตัดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าอำนาจนี้ให้ไว้แค่ช่วง 5 ปีแรกของการใช้รัฐธรรมนูญเท่านั้น ประเทศยังมีเวลาดูแลกันอีกยาว ไม่ใช่แค่ 5 ปี

ศ.ดร.อุดม ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของสภาผู้แทนราษฎรด้วย ยังบอกอีกว่า กมธ.เห็นตรงกันให้แก้รัฐธรรมนูญ แต่ในรายละเอียดยังมี 2 แนวทางที่จะแก้ คือ 1. หากจะตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อยกร่างใหม่หมด ก็ต้องแก้มาตรา 256 และทำประชามติ กับ 2. แก้รายมาตรา แก้รายประเด็น ก็ไม่จำเป็นต้องแก้มาตรา 256 แต่ใช้วิธีหารือกับ ส.ว. เพื่อกำหนดประเด้นแก้ไขให้เห็นพ้องต้องกันได้

logoline