svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

"ทรัมป์" หมดหวัง "เลื่อนเลือกตั้ง" ปธน.สหรัฐฯ

01 สิงหาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แม้เหลือเวลาอีกเพียง 3 เดือนก็จะถึงการเลือกตั้ง ปธน.สหรัฐฯ ในวันที่ 3 พ.ย.นี้แล้ว แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศที่ยังคงรุนแรง จึงทำให้มีความกังวลว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นตามกำหนดได้หรือไม่ แต่การเสนอแนวคิด "เลื่อนการเลือกตั้ง" ออกไปของ ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ กลับถูกปฏิเสธจากทุกฝ่ายอย่างทันควัน และที่สำคัญอำนาจในการเลื่อนการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ขึ้นอยู่กับ "สภาคองเกรส" ไม่ใช่ประธานาธิบดี

ทรัมป์โพสต์ในทวิตเตอร์เมื่อวันพฤหัสบดี ระบุในลักษณะ "โยนหินถามทาง" ว่า การเลือกตั้งผ่านไปรษณีย์ทั่วประเทศจะทำให้การเลือกตั้งปีนี้เป็นการเลือกตั้งที่ไม่เที่ยงตรงและโกงที่สุดในประวัติศาสตร์ และจะทำให้สหรัฐฯ ยิ่งอับอายขายหน้า ดังนั้นเราจึงควรเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจนกว่าประชาชนจะสามารถใช้สิทธิ์ได้อย่างเหมาะสม มั่นใจ และปลอดภัยหรือไม่ พร้อมกันนี้ยังทวีตกดดันอีกว่า ประชาชนต้องทราบผลการเลือกตั้งภายในคืนที่จัดการเลือกตั้ง ไม่ใช่อีกหลายวัน หลายเดือน หรือหลายปีต่อมา

"ทรัมป์" หมดหวัง "เลื่อนเลือกตั้ง" ปธน.สหรัฐฯ


แม้ในการแถลงข่าวในเวลาต่อมาทรัมป์จะพยายามแก้ต่างว่า เขาไม่ได้ต้องการเลื่อนการเลือกตั้ง เพียงแต่ไม่ต้องการเห็นการโกงการเลือกตั้งเท่านั้น แต่สมาชิกสภาคองเกรสจากทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน แม้กระทั่งนักการเมืองคนสนิทของทรัมป์ต่างก็ประสานเสียงปฏิเสธความเป็นไปได้ในการเลื่อนเลือกตั้งทันที
ทรัมป์อ้างเรื่องการโกงเลือกตั้งผ่านระบบลงคะแนนทางไปรษณีย์มาพักใหญ่แล้ว ทั้งที่เขาไม่เคยนำเสนอหลักฐานใดที่เชื่อถือได้ ขณะที่พรรคเดโมแครตมองว่า การเลือกตั้งทางไปรษณีย์เป็นสิ่งจำเป็นในปีนี้เนื่องจากโรคโควิด-19 โดยการเลือกตั้งที่ผ่านมามีงานวิจัยที่พิสูจน์แล้วว่า การโกงเลือกตั้งโดยเฉพาะในการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นน้อยมากในสหรัฐฯ (0.00004-0.0009%) และไม่กระทบต่อผลการเลือกตั้ง

ตลอดประวัติศาสตร์กว่า 200 ปี สหรัฐฯ ไม่เคยเลื่อนการเลือกตั้งเลยแม้แต่ครั้งเดียว ไม่ว่าจะบ้านเมืองจะเจอกับสงครามกลางเมือง สงครามโลก โรคระบาด หรือวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ก็ตาม โดยรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ กำหนดไว้ว่า สภาคองเกรสเป็นผู้มีอำนาจกำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งในรอบ 175 ปีที่ผ่านมาต้องตรงกับ "วันอังคารแรกหลังวันจันทร์แรก" ของเดือนพฤศจิกายนเสมอ เพราะฉะนั้นต่อให้ทรัมป์ประกาศภาวะฉุกเฉินจากโควิด-19 ทั่วประเทศ เขาก็ไม่มีอำนาจเลื่อนเลือกตั้งแต่อย่างใด

"ทรัมป์" หมดหวัง "เลื่อนเลือกตั้ง" ปธน.สหรัฐฯ


จริงอยู่ที่กฎหมายเปิดช่องให้สภาคองเกรสสามารถลงมติมอบอำนาจให้ประธานาธิบดีเลื่อนเลือกตั้งได้ แต่ปัจจุบันสภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิกพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากขาดลอย โอกาสที่เหตุการณ์รูปแบบนี้จะเกิดขึ้นจึงแทบเป็นศูนย์
นอกจากนี้ผลการสำรวจความคิดเห็นที่จัดทำโดยสำนักข่าวรอยเตอร์สเมื่อเดือนเมษายนปีนี้พบว่า ประชาชนเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนเลือกตั้ง เช่นเดียวกับเมื่อแยกตามพรรคการเมืองที่สนับสนุนก็ยังคงพบว่าผู้สนับสนุนทั้งสองพรรคส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนเลือกตั้งเหมือนกัน แต่การสำรวจของศูนย์วิจัยพิวเมื่อเร็วๆ นี้ก็พบด้วยว่า ประชาชน 66 เปอร์เซ็นต์กังวลกับการออกจากบ้านไปใช้สิทธิ์ที่หน่วยเลือกตั้ง
ขณะเดียวกันการเลื่อนเลือกตั้งไม่ได้หมายความว่าทรัมป์จะสามารถนั่งเป็นประธานาธิบดีได้ต่อไป เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนว่าวาระของผู้นำคนปัจจุบันต้องสิ้นสุดลงในเวลาเที่ยงของวันที่ 20 มกราคมของปีถัดมา แต่อาจเปลี่ยนแปลงได้โดยต้องใช้เสียงสนับสนุนถึง 2 ใน 3 ของทั้งสภาล่างและสภาสูงในสภาคองเกรส และเสียงสนับสนุนจากอีกอย่างน้อย 38 รัฐ ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้เช่นกัน โดยหากถึงวันที่ 20 มกราคมแล้ว สหรัฐฯ ยังไม่มีประธานาธิบดีคนใหม่ ผู้ที่อาจต้องทำหน้าที่รักษาการก็คือประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้แก่ นางแนนซี เพโลซี "ศัตรูตัวแม่" ของทรัมป์จากพรรคเดโมแครต

"ทรัมป์" หมดหวัง "เลื่อนเลือกตั้ง" ปธน.สหรัฐฯ

ด้านทีมหาเสียงของอดีตรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน ว่าที่ผู้ท้าชิงจากพรรคเดโมแครตมองว่า นี่เป็นอีกครั้งที่ทรัมป์พยายาม "เบี่ยงเบนความสนใจ" ของประชาชนจากการบริหารประเทศอันย่ำแย่ การระบาดของโรคโควิด-19 ที่เลวร้าย การประท้วงเรื่องสีผิวที่บานปลาย และผลโพลล์ที่พบว่าไบเดนมีคะแนนนำห่างทรัมป์มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งส่วนต่างของคะแนนนิยมในบางการสำรวจสูงกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ เพราะในวันเดียวกับที่ทรัมป์เสนอเลื่อนเลือกตั้ง ได้มีการนำเสนอข่าวตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสสองของปีนี้ที่หดตัวถึง 32.9 เปอร์เซ็นต์ซึ่งถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบกว่า 70 ปี
ไบเดนเคยกล่าวว่า เหตุการณ์ที่เขากลัวที่สุดก็คือ กรณีที่ทรัมป์ไม่ยอมรับผลเลือกตั้งและปฏิเสธไม่ยอมออกจากทำเนียบขาว จนไบเดนในฐานะว่าที่ประธานาธิบดีและผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนใหม่เกรงว่า เขาอาจจำเป็นต้อง "ใช้กำลัง" ส่งทหารไปไล่ทรัมป์ออกมา
อย่างไรก็ตามแม้สุดท้ายการเลือกตั้งยังคงเกิดขึ้นตามกำหนดต่อไป แต่การที่ทรัมป์ออกมาตั้งคำถามถึง "ความชอบธรรม" ของกระบวนการลงคะแนนทางไปรษณีย์และผลการนับคะแนนที่อาจล่าช้า ก็อาจทำให้ผู้สนับสนุนของเขาหลายล้านคน "ปักใจเชื่อ" ไปแล้วว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม และอาจไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง โดยเฉพาะในกรณีที่โจ ไบเดนเป็นฝ่ายคว้าชัยชนะไปได้แบบ "ฉิวเฉียด" จนเรื่องอาจต้องไปจบที่การชี้ขาดของ "ศาลสูงสุด" ซ้ำรอยการเลือกตั้งในปี 2543 ระหว่าง "จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช" กับ "อัล กอร์" ก็เป็นได้

logoline