svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ข่าว

เชื่อมั่นภาคการเกษตรไทยยังมีอนาคต กระตุ้นเกษตรกรเร่งปรับตัว

30 กรกฎาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ธนาธร" เชื่อมั่นภาคการเกษตรไทยยังมีอนาคตหากปรับตัวเข้าสู่รูปแบบใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีการเกษตรใหม่ๆ มาใช้, การลงทุนในการสร้างตราสินค้า รวมถึงการใช้โซเชียลมีเดียในการสร้างตลาด

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก Thanathorn Juangroongruangkit - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มีข้อความระบุว่า...


[ ภาคการเกษตรไทยยังมีอนาคต : การปรับตัวของชาวนาจากรุ่นสู่รุ่น ]


เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมเดินทางไปทำงานเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นของคณะก้าวหน้าที่ จ.พิษณุโลก และได้มีโอกาสพบกับคุณตี๋ คุณตี๋มาจากครอบครัวชาวนาจังหวัดพิษณุโลก เขาอายุสามสิบกว่าปี เข้ากรุงเทพมาเรียนต่อและหางานทำ เหมือนกับคนหนุ่มสาวอีกหลายล้านคน และเมื่อเรียนจบ ตี๋ก็เริ่มทำงานเป็นบุรุษพยาบาลในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพ


หลังจากทำงานในกรุงเทพไปสักพัก เขาเริ่มคิดถึงชีวิตปั้นปลาย เขาเห็นว่าไม่ช้าก็เร็วคงต้องกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านอยู่ดี ถ้ากลับไปตอนแก่ คงจะเรียนรู้การทำนาไม่ไหว สู้กลับบ้านตั้งแต่ตอนนี้ และเริ่มเรียนรู้การทำการเกษตรจะดีกว่า


ตี๋เสียเวลาสองปีแรกไปกับการทำนาตามแบบฉบับดั้งเดิมที่พ่อและแม่ของเขาทำมา ครอบครัวของเขาไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง พ่อแม่ของเขาเช่าที่ทำนาอยู่ 70 ไร่ ผลผลิตขายโรงสีทั้งหมด


หลังผ่านไปสองปี ตี๋เริ่มคิดรูปแบบการผลิตและแปรรูปใหม่ โดยผสมผสานระหว่างการทำนาแบบเดิมและการแปรรูปสินค้าของตนเอง


ปัจจุบันนาข้าวครึ่งหนึ่งของเขาปลูกข้าวขาวเหมือนเดิม ถึงแม้กำไรไม่มาก แต่ได้เป็นเงินสดมาใช้หมุนเวียนและลงทุนในครอบครัว ส่วนนาข้าวอีกครึ่งหนึ่งเขาปลูกข้าวสีและข้าวพันธุ์พิเศษ เช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี่และข้าวทับทิมชุมแพ ซึ่งมีสารอาหารและคุณลักษณะต่างจากข้าว กข. อาทิ มีน้ำตาลน้อยกว่า หรือมีแคลเซี่ยมสูงกว่า เป็นต้น


ผลผลิตส่วนนี้ เขานำมาแปรรูปขายและบรรจุเป็นข้าวที่มีตราผลิตภัณฑ์ของตนเอง อีกส่วนนำมาทำเป็นข้าวกล้องกรอบผสมรสชาติ บรรจุเป็นขวดขายในรูปแบบขนมขบเคี้ยวทานเล่น ผลผลิตในตราสินค้าตนเองหมุนเงินได้ช้ากว่า แต่มีกำไรเพิ่มสูงกว่าเยอะมาก


ข้าวที่ขายโรงสีขายอยู่กิโลกรัมละ 12 บาท


ข้าวที่ขายในตราสินค้าตัวเอง กิโลกรัมละ 52 บาท หรือมูลค่าเพิ่มขึ้น 4 เท่า (ทดอัตราสีข้าวเปลือกแล้ว)


ข้าวที่ที่แปรรูปเป็นข้าวกล้องในชื่อ "ข้าวกล้องกรอบวิรัชไรซ์" กล่องละ 35 บาท ตกราคาขายต่อกิโลกรัมละ 540 บาท หรือมูลค่าเพิ่มขึ้น 45 เท่า (ทดอัตราสีข้าวเปลือกแล้ว)


ผมได้ทดลองชิมข้าวกล้องของตี๋แล้วบอกได้ว่าถูกปากและรสชาติไม่แพ้ขนมขบเคี้ยวของบริษัทระดับโลก


เขายังร่วมงานกับเพื่อนในจังหวัดเดียวกัน ลงทุนในเครื่องสีข้าวคุณภาพดี มือสองจากญี่ปุ่น, รถหยอดข้าวจากญี่ปุ่น, และเครื่องขัดขาวจากจีน ผมถามเขาว่าทำไมใช้เทคโนโลยีเยอะ เขาบอกว่าถ้าใช้แรงงานน้อยลง เขาจะมีเวลาทำการตลาดให้กับสินค้าตนเองมากขึ้น


เขาเปลี่ยนรูปแบบแปลงเกษตรของครอบครัวมาได้ 5 ปี รายได้ของครอบครัวต่อปีเพิ่มขึ้นจากเดิมปีละแสนกว่าบาทเป็นห้าแสนบาทต่อปี เขาตั้งเป้าค่อยๆ พัฒนาแปลงข้าวของเขา พัฒนาพันธุ์, ดูแลคุณภาพข้าวอย่างเอาใจใส่, ทำเรือนแปรรูปที่ได้มาตรฐานเพื่อส่งออก และพัฒนาความรับรู้ในชื่อตราสินค้าของเขาอย่างค่อยเป็นค่อยไป


ผมได้มีโอกาสไปพูดคุยกับแม่ของเขา แม่เขาเล่าว่า ทีแรกเมื่อตี๋บอกว่าต้องเปลี่ยนการทำนาแบบเดิม มาเน้นเรื่องการตลาด ขายด้วยตนเองมากขึ้น ขายให้โรงสีน้อยลง, การเพิ่มมูลค่า และคุณภาพสินค้ามากขึ้น แม่คุณตี๋บอกว่าทั้งพ่อและแม่ไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ และกลัวว่าลงทุนไปจะไม่คุ้ม ทำให้ครอบครัวเป็นหนี้เป็นสิน


แต่การทำงานอย่างหนักทั้งด้านการตลาด, การสร้างเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ และเน้นคุณภาพของตี๋ ทำให้ความพยายามของเขาประสบความสำเร็จ พ่อและแม่ของเขาภูมิใจมาก เขากลายเป็นผู้นำครอบครัว เป็นผู้วางแผนการลงทุนเพาะปลูกและขายในแต่ละฤดูกาล คนในชุมชนให้การยอมรับนับถือเขา ปัจจุบัน "วิรัช ไรซ์ฟาร์ม" ได้รับการรับรู้อย่างกว้างขวาง ใครที่อยากทดลองหรือสนับสนุนข้าวกล้องกรอบของเขา ลองเข้าไปดูได้ที่ https://www.facebook.com/wiruchrice/


การเกษตรไทยยังมีอนาคต ตี๋และเพื่อนของเขาทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ภาคการเกษตรมีการจ้างงานร้อยละ 30 ของกำลังแรงงาน แต่สร้างผลผลิตเพียงร้อยละ 7 ของผลผลิตทั้งประเทศ เกษตรกรไทยมีอายุเฉลี่ยเกือบ 60 ปี ภาคการเกษตรสร้างมูลค่าให้ประเทศลดลงเรื่อยๆ ความสำเร็จนี้คือตัวอย่างหนึ่งของการปรับตัวในภาคการเกษตร จากรุ่นถึงรุ่นด้วยการนำเทคโนโลยีการเกษตรใหม่ๆ มาใช้, การลงทุนในการสร้างตราสินค้า, การใช้โซเชียลมีเดียในการสร้างตลาด เป็นต้น


การเดินทางของผมพาผมไปรู้จักคนมากหน้าหลายตาที่มีความรู้ความสามารถ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจให้ผมเรียนรู้และเข้าใจโลกและเข้าใจวิถีชีวิตผู้คนมากขึ้นเสมอ ผมหวังว่าเรื่องราวของเขาจะเป็นแรงบันดาลใจให้เกษตรกรรุ่นใหม่ที่กำลังเสาะหาช่องทางในการสร้างรูปแบบการเกษตรเฉพาะของตนเอง ที่สร้างจากฐานความรู้และทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ตนเองครับ

logoline