svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

สหรัฐฯ-จีน เปิดศึกออนไลน์ชิงอิทธิพล "อาเซียน"

23 กรกฎาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คนไทยทั้งประเทศได้เห็นการปะทะคารมกันอย่างดุเดือดในประเด็นทะเลจีนใต้ระหว่างสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ กับจีน โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า การตอบโต้กันไปมาในรอบนี้ ทั้งสองมหาอำนาจได้เลือกใช้พื้นที่สื่อกระแสหลักและสื่อสังคมออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงคนในประเทศได้เป็นวงกว้าง

แต่ไทย...ไม่ใช่ประเทศเดียว ตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมาสถานทูตสหรัฐฯ ในอย่างน้อย 5 ประเทศอาเซียนได้ออกบทความวิพากษ์วิจารณ์จีนในประเด็นทะเลจีนใต้อย่างตรงไปตรงมา โดยนอกจากทูตสหรัฐฯ ในไทยแล้วก็ยังมีที่เมียนมา กัมพูชา มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ด้วย
ความเคลื่อนไหวนี้เริ่มจากเมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องในโอกาสครบรอบ 4 ปีที่ศาลโลกมีคำพิพากษาในกรณีทะเลจีนใต้ ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า สหรัฐฯ "เลือกข้างอาเซียน" และการอ้างความเป็นเจ้าของเหนือพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้ของจีนเป็นการกระทำที่ "ผิดกฎหมาย" อย่างสิ้นเชิง นับเป็นการเปลี่ยนจุดยืนของสหรัฐฯ จากที่เคยอ้างว่า ไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดในเรื่องนี้

สหรัฐฯ-จีน เปิดศึกออนไลน์ชิงอิทธิพล "อาเซียน"

หลังปอมเปโอมีแถลงการณ์ สถานทูตสหรัฐฯ ในหลายประเทศอาเซียนก็เริ่มเคลื่อนไหวในรูปแบบที่คล้ายกัน นั่นคือ เอกอัครราชทูตหรือนักการทูตอาวุโสในประเทศเหล่านี้เขียนบทความแสดงความคิดเห็นลงในสื่อที่มีชื่อเสียง พร้อมกับเผยแพร่บทความดังกล่าวเป็นภาษาอังกฤษและภาษาท้องถิ่นผ่านทางโซเชียลมีเดีย
เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจากประเด็นทะเลจีนใต้ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของบทความแล้ว ทูตสหรัฐฯ ยังเลือกหยิบยกเอาประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้องกับบริบทของประเทศนั้นๆ มาวิจารณ์จีนด้วย อย่างเช่น บทความของทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยและกัมพูชาได้ยกกรณีของเขื่อนแม่น้ำโขงและปัญหาภัยแล้ง ทูตสหรัฐฯ ที่เมียนมายกกรณีของเส้นทางขนยาเสพติดและการปล่อยกู้โครงสร้างพื้นฐานที่อาจนำไปสู่กับดักหนี้ ขณะที่ทูตสหรัฐฯ ประจำฟิลิปปินส์เลือกที่จะเรียกพื้นที่ทะเลพิพาทระหว่างฟิลิปปินส์กับจีนว่า "ทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก" แทนที่ทะเลจีนใต้
แน่นอนว่าจีนในยุคนี้ย่อมไม่อยู่เฉยและพร้อมโต้กลับสหรัฐฯ อย่างทันควัน โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนบอกว่า สหรัฐฯ เป็นฝ่ายเริ่มก่อน และนี่คือความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะยุให้จีนกับอาเซียนแตกกัน ด้านสถานทูตจีนประจำประเทศไทยเรียกบทความของทูตสหรัฐฯ ว่า "ผิดพลาด บิดเบือน และใช้ข้อมูลปลอมใส่ร้ายจีน" เช่นเดียวกับทูตจีนประจำเมียนมาที่เรียกความเคลื่อนไหวของสถานทูตสหรัฐฯ ด้วยถ้อยคำรุนแรงว่า "สกปรก ตีสองหน้า เห็นแก่ตัว และน่ารังเกียจ"

สหรัฐฯ-จีน เปิดศึกออนไลน์ชิงอิทธิพล "อาเซียน"

สหรัฐฯ-จีน เปิดศึกออนไลน์ชิงอิทธิพล "อาเซียน"


ทำไมสหรัฐฯ จึงเลือกช่วงเวลานี้เปิดศึกกับจีนเรื่องทะเลจีนใต้ในประเทศอาเซียน? 3 เหตุผลที่น่าจะพออธิบายได้ คือ
1. สหรัฐฯ ทราบดีว่าทะเลจีนใต้เป็นประเด็นที่อ่อนไหวต่อความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับจีนมานานแล้ว เป็นปมปัญหาที่หากไปสะกิดเมื่อไหร่ก็จะกลายเป็นประเด็นใหญ่โตแทบทุกครั้ง และถึงแม้ไทยจะไม่ได้เป็นประเทศคู่ขัดแย้งกับจีนโดยตรง แต่สหรัฐฯ ก็พยายามสื่อให้เห็นว่า ไทยก็มีส่วนได้ส่วนเสียในทะเลจีนใต้ไม่น้อยเหมือนกัน
2. สหรัฐฯ มองว่าตอนนี้ "ภาพลักษณ์" ของจีนในเวทีโลกกำลังไม่สู้ดีนัก เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่รัฐบาลจีนถูกตั้งคำถามว่า ทำเพียงพอหรือยังในการยับยั้งการแพร่ระบาดตั้งแต่ตอนที่ยังพอควบคุมได้ และมีความโปร่งใสแค่ไหนในการเปิดเผยข้อเท็จจริง
3. ขณะนี้เหลือเวลาอีกเพียง 3 เดือนเศษๆ ก็จะถึงวันเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ แล้ว และ ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ทราบดีว่าคนเมริกันส่วนใหญ่มองจีนในแง่ลบ ดังนั้น ทรัมป์จึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อตอกย้ำให้ฐานเสียงเห็นว่า เขาไม่มีทางยอมอ่อนข้อให้กับจีน ไม่ว่าจะเรื่องไหนก็ตาม
การเปิดศึกออนไลน์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ไปจนถึงสถานการณ์จริงที่กำลังคุกรุ่นในทะเลจีนใต้ เป็นหลักฐานที่บ่งชี้ว่า ตอนนี้ทั้งสองมหาอำนาจกำลังเปิดฉากทำสงครามเย็นกันรอบด้าน โดยมีภูมิภาคอาเซียนเป็นหนึ่งในสมรภูมิที่สำคัญที่สุดในการช่วงชิงอิทธิพล
ในภาวะที่อาเซียนกำลังถูกกดดันให้เลือกข้าง ชาติสมาชิกจำเป็นต้องดำเนินนโยบายอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของคนอาเซียนเอง

สหรัฐฯ-จีน เปิดศึกออนไลน์ชิงอิทธิพล "อาเซียน"

logoline