svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ย้อนสถิติเหตุรุนแรงใน รพ. กฎเหล็ก 7 ข้อไร้ผล!

20 กรกฎาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กลับมาอีกแล้ว สำหรับปัญหาซ้ำซากที่อยู่คู่กับสังคมไทย นั่นคือ ปัญหาการทะเลาะวิวาท / ตามล่าคู่อริไปเช็คบิลกันถึงในโรงพยาบาลของกลุ่มอันธพาลหัวร้อน ล่าสุด เกิดเหตุการณ์แบบเดิมขึ้นอีกครั้งในจังหวัดสมุทรปราการ ทั้งการทำร้ายคู่อริ และที่น่ากลัวกว่านั้น คือ การทำร้ายแพทย์ที่ให้การรักษาผู้ป่วย รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ราคาแพงได้รับความเสียหายจำนวนมาก

ทุกประเทศทั่วโลก หรือแม้แต่ในสมรภูมิสงครามยังให้ความสำคัญกับโรงพยาบาลเป็น "พื้นที่ปลอดภัย"รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ด้วย แต่ในบ้านเรา โรงพยาบาลกลายเป็น "พื้นที่เสี่ยงภัย" จากพวกแก๊งอันธพาลเราไปย้อนดูกันว่า เหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นจนกลายเป็นข่าวดัง มีมาแล้วกี่ครั้ง

เริ่มจากปี2555 เกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงศีรษะบุรุษพยาบาลโรงพยาบาลเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว เสียชีวิตคาห้องฉุกเฉินเพราะไม่พอใจที่พาภรรยามารักษา แต่บุรุษพยาบาลถามมาก ไม่ยอมเริ่มรักษาจึงชักปืนจ่อยิงจนเสียชีวิต ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความหละหลวมไม่มีเครื่องตรวจอาวุธก่อนเข้าโรงพยาบาล


ต่อมาเดือนกุมภาพันธ์2558 เหตุการณ์ยกพวกตีกัน โรงพยาบาลสิริธรกรุงเทพมหานคร / ถัดมาในเดือนมีนาคม ปี 2559เหตุบุกทำร้ายคู่อริ โรงพยาบาลราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร


และปี2562 เกิดเหตุต่อเนื่องกันถึง 3ครั้ง คือ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เกิดเหตุบุกทำร้ายคู่อริ โรงพยาบาลกบินทร์บุรีจังหวัดปราจีนบุรี / เดือนเมษายน 2562ยกพวกตีกันในห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และเหตุบุกทำร้ายคู่อริในโรงพยาบาลประทาย จังหวัดนครราชสีมา


จากนั้นอีกไม่ถึงเดือน/ ช่วงเดือนพฤษภาคม เกิดขึ้นถึง 2เหตุการณ์ คือ ที่โรงพยาบาลเหล่าเสือโก้ก จังหวัดอุบลราชธานีและโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเลิงนกทา จังหวัดยโสธรจนล่าสุดที่โรงพยาบาลในจังหวัดสมุทรปราการ

"เนชั่นทีวี" ได้ตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่าตั้งแต่ปี 2555 2562 เกิดความรุนแรงขึ้นในพื้นที่สถานพยาบาลมากถึง64 เหตุการณ์


แบ่งเป็นการทะเลาะวิวาท 29 เหตุการณ์ / ทำร้ายเจ้าหน้าที่ 22 เหตุการณ์ / ทำลายทรัพย์สิน 4 เหตุการณ์ /ก่อความไม่สงบ 1 เหตุการณ์ / กระโดดตึก 6 เหตุการณ์ / พนักงานเปลทะเลาะกับผู้ป่วย 1เหตุการณ์ และญาติคนไข้ลวนลามผู้ป่วย 1 เหตุการณ์


ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดส่งผลให้มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 15 ราย ขณะที่ประชาชนเสียชีวิต 9 ราย และบาดเจ็บ 58 ราย

ด้านนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดเผยว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทำให้ต้องหันกลับมามองว่าเราควรจะต้องกลับมาให้ความสำคัญกับมาตรการ 7 ข้อ สำหรับป้องกันเหตุรุนแรงในโรงพยาบาลอีก

แม้กระทรวงสาธารณสุขจะได้ออกมาตรการ 7 ข้อสำหรับป้องกันเหตุรุนแรงในโรงพยาบาล ซึ่งมาตรการหลักก็คือ การให้เพิ่มเติม "ประตูนิรภัย" แบบล็อคได้ทันทีและสื่อสารกับญาติผู้ป่วยเป็นระยะเพื่อลดความกังวล แต่ก็ดูเหมือนมาตรการ 7 ข้อนี้ ยังไม่มีการดำเนินใช้ตามสถานโรงพยาบาลอย่างแท้จริง

โดยจะต้องเน้นที่ประชาชนบางคนที่อาจจะยังไม่เข้าใจระบบการทำงานของเจ้าหน้าที่ในห้องฉุกเฉินซึ่งมีขั้นตอนการปฏิบัติที่ต้องให้การรักษาอย่างละเอียดต่อผู้ป่วย


ซึ่งการสร้างความเข้าใจต่อประชาชนในเรื่อง จึงเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะในส่วนของภาครัฐในการดำเนินการมาตรการทั้ง 7 ข้อได้มีการดำเนินอย่างเต็มที่แล้วซึ่งก็ต้องขอความร่วมมือจากประชาชนทุกภาคส่วนได้เห็นใจบุคลากรทางการแพทย์ในห้องฉุกเฉินด้วย


มาตรการดูแลห้องฉุกเฉินและโรงพยาบาลมี 7 ข้อ ดังนี้


1.ทำแนวทางปฏิบัติป้องกันและจัดการความรุนแรง ทบทวน ฝึกซ้อมและปรับปรุงเป็นประจำ


2.จัดระบบควบคุมประตู หรือมีทางเข้า-ออก ที่ปลอดภัยหลายช่องทาง


3.จัดสถานที่พักคอยสำหรับญาติ จำกัดการเข้าออก


4.ตรวจสอบกล้องวงจรปิดให้พร้อมใช้งาน และติดตั้งเพิ่มในจุดเสี่ยง


5.จัดระบบคัดกรองโดยเฉพาะผู้ป่วยห้องฉุกเฉิน และจัดบริการให้เหมาะสมกับความเร่งด่วน รวมทั้งให้สื่อสารกับญาติผู้ป่วยเป็นระยะ เพื่อลดความวิตกกังวล


6.จัดเวรยามรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง


7.จัดหาสัญญาณเตือนภัย หรืออุปกรณ์ขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน และมีช่องทางแจ้งเหตุด่วนกับตำรวจ ฝ่ายปกครอง และเครือข่ายอาสาสมัคร มูลนิธิต่างๆ ในพื้นที่

logoline