svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

"กาฬโรค" กับ "โควิด-19" โรคไหนน่ากลัวกว่ากัน?

08 กรกฎาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จากโควิด-19 มาไข้หวัดหมู ล่าสุดมีอีกโรคที่พบผู้ติดเชื้อในประเทศจีนอีกแล้ว คราวนี้เป็นคิวของ "กาฬโรคต่อมน้ำเหลือง" ที่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพบผู้ติดเชื้ออย่างน้อย 2 คนในเขตปกครองตนเองมองโกเลียในของจีน และอีกอย่างน้อย 2 คนในประเทศมองโกเลีย

ใครก็ตามที่ได้ยินชื่อของ "กาฬโรค" ก็คงต้องรู้สึกกลัวกันเป็นธรรมดา เพราะกาฬโรคเป็นหนึ่งในโรคระบาดที่คร่าชีวิตมนุษย์มากที่สุดในประวัติศาสตร์รวมกันนับร้อยล้านคน โดยในอดีตเคยเกิดกาฬโรคระบาดมาแล้วอย่างน้อย 3 ระลอก ดังต่อไปนี้
รอบที่ 1 ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 6-8 ในรอบนี้ การระบาดที่โด่งดังที่สุดคือกาฬโรคแห่งจัสติเนียน ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยจักรวรรดิโรมัน มีผู้เสียชีวิตราว 25-100 ล้านคน
รอบที่ 2 ขยับมาที่ช่วงยุคกลาง คริสต์ศตวรรษที่ 14-19 รอบนี้การระบาดกระจายไปทั่วโลกทั้งในยุโรป เอเชีย และแอฟริกา มีผู้เสียชีวิตอย่างต่ำ 50 ล้านคน โดยเฉพาะในศตวรรษที่ 14 ถูกขนานนามว่า "กาฬมรณะ" หรือ "ความตายสีดำ" และในศตวรรษที่ 17 ที่ถูกเรียกว่า "การระบาดครั้งใหญ่"
รอบที่ 3 โดยหลักเกิดขึ้นสมัยศตวรรษที่ 19 ในจีนและอินเดีย มีผู้เสียชีวิตกว่า 12 ล้านคน
หลังจากนั้นการระบาดของกาฬโรคก็ขึ้นแบบประปราย อย่างในประเทศจีนมีผู้ป่วยเพียง 26 คน และเสียชีวิตเพียง 11 คนในช่วง 10 ปี ระหว่างปี 2552-2561
ตอนนี้คำถามสำคัญก็คือ กาฬโรคจะกลับมาระบาดใหญ่อีกครั้งหรือเปล่า และจะน่ากลัวยิ่งกว่าโควิด-19 หรือไม่ คำตอบก็คือ ไม่ โอกาสมีน้อยมาก และโควิด-19 น่ากลัวกว่ากันเยอะ

"กาฬโรค" กับ "โควิด-19" โรคไหนน่ากลัวกว่ากัน?

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น เราต้องเปรียบเทียบกันไปทีละด้าน ปัจจัยแรกก็คือ กาฬโรค เป็นโรคที่อยู่กับมนุษย์มานานนับพันปีแล้ว เพราะฉะนั้นมนุษย์รู้จักโรคนี้แบบทะลุปรุโปร่ง ทราบว่าพาหะของกาฬโรค ก็คือ หนูและสัตว์ประเภทฟันแทะทั้งหลายที่ติดเชื้อแบคทีเรียแล้วเราไปสัมผัส, หรือไม่ก็มาจากหมัดที่อยู่บนตัวสัตว์เหล่านี้แล้วมากัดคนอีกที 
ในขณะที่โควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ เราเพิ่งรู้จักมาแค่ครึ่งปี เรายังไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าสัตว์ชนิดใดกันแน่ที่พาเอาไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จากค้างคาวมาสู่คน
ปัจจัยต่อมาที่แตกต่างกันชัดเจนก็คือ กาฬโรค เกิดจากแบคทีเรีย ในขณะที่โควิด-19 เกิดจากเชื้อไวรัส 
ดังนั้น ในเมื่อสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย การใช้ยาปฏิชีวนะก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เราหายจากกาฬโรคได้ ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดก็คือต้องรีบตรวจให้พบโดยเร็วที่สุด ในทางกลับกัน สำหรับโควิด-19 ก็อย่างที่เราทราบกันว่า วัคซีนป้องกันยังคงอยู่ในขั้นตอนการทดลอง ขณะที่ยารักษาก็ยังไม่แน่ชัดว่า ยาตัวไหนมีประสิทธิภาพที่สุด
อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ ระยะเวลาในการแสดงอาการหลังได้รับเชื้อ โดยกรณีของกาฬโรคมักจะใช้เวลา 2-6 วัน อาการ ได้แก่ มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ และต่อมน้ำเหลืองบวมโตตามคอ รักแร้ ขาหนีบ ขณะที่โควิด-19 อาจใช้เวลาถึง 3 สัปดาห์กว่าจะแสดงอาการ หรือไม่ก็อาจจะไม่มีอาการเลยก็เป็นได้ ดังนั้น โควิด-19 จึงระบาดได้ง่ายกว่ากาฬโรค

"กาฬโรค" กับ "โควิด-19" โรคไหนน่ากลัวกว่ากัน?

ขณะนี้ทางเขตปกครองตนเองมองโกเลียในได้ประกาศเตือนภัยกาฬโรคระดับ 3 ไปจนถึงสิ้นปีแล้ว นั่นคือ ห้ามล่าและรับประทานสัตว์ที่อาจเป็นพาหะ และหากพบผู้ต้องสงสัยติดเชื้อหรือพบสัตว์ประเภทฟันแทะป่วยหรือตายต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที
ด้านโฆษกขององค์การอนามัยโลกระบุว่า กำลังจับตาสถานการณ์ในประเทศจีนและมองโกเลียอย่างใกล้ชิด พร้อมชื่นชมทางการจีนว่าสามารถรับมือได้เป็นอย่างดี จึงไม่ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูง ขณะเดียวกันโฆษกขององค์การอนามัยโลกก็ย้ำด้วยว่า กาฬโรคต่อมน้ำเหลืองอยู่กับมนุษย์มานานหลายศตวรรษแล้ว และจะยังคงอยู่กับมนุษย์เช่นนี้ต่อไป

"กาฬโรค" กับ "โควิด-19" โรคไหนน่ากลัวกว่ากัน?

logoline