svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

กางผล 3 อนุฯกมธ. ชี้ข้อกังวล CPTPP

08 กรกฎาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดผลศึกษา 3 อนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาไทยเข้าร่วม CPTPP พบผลกระทบทั้งเกษตร การค้า และยาทุกด้าน เหตุผลศึกษาที่พาณิชย์จัดทำไม่ชัดเจน โดยมีข้อกังวลเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืชมากสุด ชงกรรมาธิการวิสามัญชุดใหญ่ก่อนขอสภาฯขยายเวลาอีก 60 วัน

รายงานข่าวแจ้งว่า คณะอนุกรรมาธิการ 3 ชุด ประกอบด้วยด้านเกษตร ด้านการแพทย์และสาธารณสุข และด้านเศรษฐกิจ ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้สำหรับหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (CPTPP) ตั้งขึ้นมา ได้รายงานผลการหารือเบื้องต้นต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เพื่อนำไปเป็นข้อมูลประกอบการขอขยายระยะเวลา 60 วัน ในการพิจารณาผลกระทบการเข้าร่วม CPTPP ที่นายวีระกร คำประกอบ ปรานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จะเสนอประธานสภาฯในวันนี้
ส่วนรายละเอียดที่คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญฯทั้ง 3 คณะ เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญ โดยประเด็นที่มีข้อกังวลมากสุด คือ คณะอนุกรรมาธิการการเกษตร ที่มีนายวรภพ วิริยะโรจน์ เป็นเลขานุการ ได้รายงานว่า ประเด็นอนุสัญญาคุ้มครองนักปรับปรุงพันธุ์ที่เรียกว่า UPOV1991 มีข้อห่วงกังวลมากที่สุด ประเทศไทยยังสามารถกำหนดให้แจ้งแหล่งที่มาของสารพันธุกรรมได้หรือไม่ เพื่อให้เกิดการแบ่งปันผลประโยชน์และป้องกันการผูกขาดพันธุ์ดั้งเดิม/พันธุ์พื้นเมือง ซึ่งเป็นหนึ่งในคำถามที่คณะกรรมาธิการขอให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศส่งคำถามนี้ไปยังสำนักงาน UPOV เพื่อขอคำอธิบาย
สำหรับการเก็บเมล็ดพันธุ์ปลูกต่อเพื่อขายผลผลิตนั้น ซึ่งตามกฎหมายไทยปัจจุบัน เกษตรกรสามารถทำได้ หากเข้า UPOV 1991 เกษตรกรจะเก็บเมล็ดพันธุ์ขึ้นทะเบียนไม่ได้ หากกฎหมายไม่ได้อนุญาตไว้ จึงเป็นประเด็นคำถามที่จะส่งไปขอคำอธิบายและยืนยันจากทาง UPOV ว่า ประเทศไทยสามารถเขียนกฎหมายคุ้มครองเกษตรกรรายย่อยให้เก็บเมล็ดพันธุ์ผัก ผลไม้ ไม้ดอก ไม้ประดับซึ่งวิธีชีวิตดั้งเดิมเก็บอยู่แล้วได้ต่อไปหรือไม่, ประเทศไทยสามารถนิยามเกษตกรรายย่อยตามพื้นที่ถือครอง 50% ของสถิติจริงตามพันธุ์พืชได้หรือไม่ เช่น 50%ของเกษตกรผู้ปลูกข้าวโพด ถือครองพื้นที่น้อยกว่า 25 ไร่นั่นหมายความว่าในกฎหมายจะอนุญาตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดที่มีพื้นที่น้อยกว่า 25 ไร่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ขึ้นทะเบียนนั้นไปปลูกต่อเพื่อขายผลผลิตได้หรือไม่ และคำถามต่อเนื่อง ประเทศไทยสามารถนิยามพื้นที่ที่เกษตรกรถือครองและเก็บเมล็ดพันธุ์ขึ้นทะเบียนมาปลูกต่อเป็นที่ดินทุกกรรมสิทธิ พื้นที่เช่า พื้นที่ สปก.ประเด็นลักษณะสำคัญของพันธุ์พืชที่ได้รับความคุ้มครอง (EDVs) เป็นประเด็นที่ยาก ซับซ้อน และจะส่งผลกระทบทางลบมากที่สุด UPOV กำหนดขึ้นมาเพื่อคุ้มครองนักปรับปรุงพันธุ์ แต่เป็นข้อห่วงกังวลของเกษตรกร เพราะพืชมีโอกาสผสมพันธุ์ข้ามแปลง เป็นความเสี่ยงต่อการถูกฟ้องเป็นคดีความ กรณีนี้จะเกี่ยวเนื่องกับ 2 หน่วยงานคือ กรมวิชาการเกษตร ผู้ใช้ดุลพินิจในการจดทะเบียนคุ้มครอง และศาลทรัพย์สินทางปัญญา ที่ใช้อำนาจชี้ขาด ทำให้ต้องตั้งคำถามว่า การเข้า UPOV1991 จะทำให้มีความเป็นไปได้จะมีคำวินิจฉัยต่างประเทศมาบังคับใช้เหนือคดีในประเทศหรือไม่ ไทยสามารถกำหนดคุ้มครองเกษตรกรจาก EDVs ที่ผสมพันธุ์หรือปนเปื้อนทางธรรมชาติได้เลยหรือไม่ เพื่อคลายกังวลของเกษตรกร
นอกจากการส่งคำถามไปยัง UPOV แล้ว ประเทศไทยยังต้องเตรียมการเรื่องฐานข้อมูลพันธุ์พืชพื้นเมือง พันธุ์พืชดั้งเดิม เพิ่มงบวิจัยการพัฒนาพันธุ์พืช หากจะเข้าร่วม CPTPP ให้ใช้การเจรจาต่อรองแบบนิวซีแลนด์ที่ไม่เข้าร่วมเป็นภาค UPOV1991 แต่ปรับปรุงกฎหมายเพื่อคุ้มครองนักปรับปรุงพันธุ์เท่านั้น และควรเปิดเผยร่างกฎหมายที่เข้ากับบริบทสังคมไทย คุ้มครองเกษตรกร อย่างไรก็ตามก็ยังมีประเด็นข้อห่วงใยเรื่องข้อจำกัดในการเก็บเมล็ดพันธุ์ปลูกต่อและการคุ้มครอง EDVs อยู่ดีด้านคณะอนุกรรมาธิการเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ที่มีนายเกียรติ สิทธิอมร ประธาน รายงานว่า ได้นำผลการศึกษา CPTPP ของบริษัทโบลลิงเกอร์ที่ว่าจ้างโดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ มาพิจารณาพบว่า ในภาพรวม ผลการศึกษาชี้ถ้าไทยเข้าร่วม CPTPP แล้วจะเพิ่ม GDP ประมาณ0.12% นั้น เป็นผลประโยชน์ที่มาจากการค้าสินค้าที่จะได้เพิ่มขึ้นโดยสมมุติฐานที่ว่า การค้านั้นจะเกิดขึ้นทันที 100%ทั้งนี้ ในความเป็นจริงควรใส่สมมติฐานเข้าไปว่า กว่าการค้าจะเต็ม 100% ต้องใช้เวลากี่ปีจะทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ส่วนประโยชน์ที่ได้ที่เป็นตัวเลขจากการค้าภาคบริการและการลงทุนไม่ได้มีการใส่เป็นตัวเลขเข้ามา การศึกษานี้ ไม่ได้มีการปรับฐานเพื่อให้เห็นการกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่มีสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ได้ประเมินเบื้องต้นไว้ พบว่า น้ำหนักการค้าและการลงทุนมาจากสงครามการค้าและโควิด-19 โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนทำให้ต้องมีการย้ายฐานการลงทุนจากจีนมายังประเทศในภูมิภาครวมทั้งประเทศไทยด้วย ถ้าอุตสาหกรรมเอื้อ เวียดนามอาจเป็นคู่แข่งในการดึงดูดแต่ไม่ใช่ทุกอุตสาหกรรมในส่วนการค้าสินค้า สิ่งที่สำคัญเรื่องของการเตรียมความพร้อมก่อนรับความตกลงใดๆภาคอุตสาหกรรมที่ผลิตในประเทศแข่งสินค้านำเข้าจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการลดกำแพงภาษีในผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเป็นหลัก คำถามคือ ในการศึกษานี้ได้ลงลึกไปดูผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าเอสเอ็มอีเหล่านี้หรือไม่ พบว่าผู้ศึกษาและกระทรวงต่างๆยังไม่ได้ไปคุยกับสมาคมเอสเอ็มอี กลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ฉะนั้นผลกระทบใส่ส่วนนี้ ทางคณะอนุกรรมาธิการขอให้ไปศึกษาเพิ่มเติม ไปคุย และหาคำตอบมาให้ได้
ประเด็นการคำนวนถิ่นกำเนิดสินค้า แต่ละเอฟทีเอไม่เหมือนกัน คำถามคือภาคการผลิตจะใช้ถิ่นกำเนิดสินค้าใด ดังนั้นนี่จึงเป็นคำตอบว่า เหตุใดการใช้ประโยชน์จากถิ่นกำเนิดสินค้าในบางเอฟทีเอจึงไม่มาก แล้วแต่สะดวกของผู้ผลิต และขึ้นอยู่กับคู่ค้าหลัก กรณี CPTPP ได้ประโยชน์จากถิ่นกำเนิดสินค้าสะสมของประเทศสมาชิก ไทยมีถิ่นกำเนิดสินค้าสะสมจาก ASEAN และ ASEAN+6 ถามว่าพอเป็น CPTPP จะได้อะไรเพิ่ม ก็คาดว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการผลิตที่คาดกว่าจะส่งไปแคนาดากับเม็กซิโกเพิ่ม คำตอบค่อนข้างง่อนแง่นพอสมควร ยิ่งเมื่อซักถามเกี่ยวกับค่าขนส่งกว่าไทยจะไปถึงแคนาดา ถึงเม็กซิโก หรือ จากแคนาดาวิ่งมาแข่งกับไทย จึงให้ไปศึกษาเพิ่มเติมเรื่องสิทธิแรงงานที่มีข้อกังวลให้แรงงานต่างชาติตั้งสหภาพนั้น กำลังให้หน่วยงานทำหนังสือไปถามที่องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ว่าเป็นการตั้งสหภาพ หรือ แค่ให้แรงงานต่างชาติสามารถเป็นกรรมการ เป็นสมาชิก ร่วมก่อตั้งสหภาพ ตัวอย่างอุตสาหกรรมประมงที่มีแรงงานต่างชาติมากกว่าแรงงานไทย จะถูกมองว่าเป็นสหภาพแรงงานข้ามชาติหรือไม่ ต้องรอคำตอบจาก ILO ส่วนE-Commerce มีข้อกังวลสูงมาก ทั้งเรื่องการกำกับดูแล การตั้งแพลทฟอร์มในต่างประเทศ การโอนเงิน การไม่บังคับตั้งบริษัทในประเทศไทย ฯลฯ ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษามาอย่างละเอียดขณะที่คณะอนุกรรมาธิการการแพทย์และสาธารณสุข ที่มี นายแพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง เลขานุการ รายงานว่า ได้มีการพิจารณารายประเด็น โดยขั้นตอนเป็นการรับทราบข้อห่วงกังวล คำชี้แจงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และข้อเสนอหรือหนทางแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้น และต่อไปจะพิจารณาผลกระทบกับห่วงโซ่อุตสาหกรรมทั้งหมด เช่น การประกาศบังคับใช้สิทธิเพื่อผลิตหรือนำเข้ายา (CL) แม้ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาและกรมสนธิสัญญาระหว่างประเทศจะยืนยันว่าสามารถทำได้ แต่ทางภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาคสาธารณสุขมองว่า มีความสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องต่างจากเดิม ฉะนั้นรัฐบาลควรมีข้อกังวลไปเจรจา พิจารณาให้มีการทำ side letter หรือพิจารณาทำเป็นข้อสงวนหรือได้รับคำตอบเป็นลายลักษณ์อักษาจากรัฐภาคี CPTPP ว่าไทยจะยังสามารถทำ CL เหมือนเดิมที่ผ่านมาและไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องจากภาคเอกชน
ประเด็นการเชื่อมโยงข้อมูลสิทธิบัตรของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ กับการขึ้นทะเบียนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่เรียกว่าPatent Linkage ซึ่งอาจจะทำให้ยาชื่อสามัญเข้าสู่ตลาดล่าช้า ดังนั้นรัฐบาลต้องจัดการประชุมทวิองค์กร และจัดเตรียมป้องกันการใช้สิทธิมิชอบของบริษัทยาต้นแบบเพื่อชะลอการเข้าถึงตลาดของยาชื่อสามัญ หรือที่เรียกว่า แกล้งฟ้อง และอาจตรากฎหมายระดับรองเพื่อเยียวยาบริษัทยาชื่อสามัญ และมีช่องทางให้ผู้บริโภคที่ได้รับผลเสียหายจากการแกล้งฟ้องเพื่อถ่วงเวลาการเข้าสู่ตลาดของยาชื่อสามัญที่มีราคาถูกกว่ายาต้นแบบหลายสิบเท่า ร้องเอาผิดกับบริษัทยาต้นแบบได้
นอกจากนี้ ผลที่จะเกิดกับองค์การเภสัชกรรมที่จะสูญเสียสิทธิประโยชน์ ทางกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ยกตัวอย่างเวียดนามที่กันภาคส่วนนี้ไว้ 50% ในระยะเวลา 20 ปี มีลำดับขั้นของการเปิด จำนวนหนึ่งเห็นว่า ควรเจรจาต่อรองให้กันได้เท่ากับเวียดนาม แต่อุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศมองต่างว่าอาจสร้างความเติบโตได้ ถ้ายกเลิกสิทธิพิเศษขององค์การเภสัชกรรมไป และการขึ้นทะเบียนหรือรับฝากจุลชีพ ประเทศไทยต้องเร่งให้มีกฎหมายในการสำแดงแหล่งที่มาของยาที่มีจุลชีพเป็นส่วนประกอบ หรือการรับฝากจุลชีพก่อนอย่างไรก็ตาม เลขานุการของคณะอนุกรรมาธิการการแพทย์และสาธารณสุขกล่าวสรุปว่า การประชุม 5 ครั้งที่ผ่านมายังมีข้อจำกัดที่พิจารณารายประเด็นอย่างแยกส่วน ยังไม่ได้นำรายประเด็นมาประกอบเป็นภาพรวมของห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดว่า จะเกิดผลกระทบต่อเนื่องอย่างไรหรือไม่ แม้รายประเด็นดูเหมือนอาจจะแก้ปัญหาได้ เนื่องจาก CPTPP ที่เน้นประโยชน์ทางธุรกิจเชิงพาณิชย์เป็นหลัก ทำอย่างไรให้ภาคสาธารณสุขได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และยังต้องพิจารณาถึงภาระที่จะเกิดกับประชาชน ค่ารักษาพยาบาลจะเพิ่มขึ้นเท่าไร และจะเป็นภาระกับภาครัฐเพิ่มขึ้นเท่าไร ใครได้ใครเสีย คนเสียจะเยียวยาอย่างไร การปรับตัวของหน่วยงานต่างๆทำได้หรือไม่ ต้องใช้เวลาเท่าไร ไม่ว่าจะเป็นการทำงานร่วมกันของกรมทรัพย์สินทางปัญญาและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา องค์การเภสัชกรรม จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางยาหรือไม่อย่างไร ต้องศึกษาต่อไป

logoline