svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"เศรษฐพงค์" แนะ กสทช. วางนโยบายเพื่อรองรับกิจการในอนาคต

08 กรกฎาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"เศรษฐพงค์" แนะ กสทช. วางนโยบายเพื่อรองรับกิจการในอนาคต ชี้อย่ามองแค่รายได้จากการประมูลคลื่นความถี่แต่ต้องดูภาพรวมประชาชนได้รับ ห่วงประมูลความถี่ 3.5 GHz แนะ เตรียมแผนให้พร้อม ด้าน "ไตรรัตน์" แจง กสทช. เตรียมเปิดประมูลปีหน้า พร้อมหาแนวทางเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

(8 กรกฎาคม 2563) พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย อภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณารับทราบรายงานผลปฏิบัติงาน กสทช. ประจำปี 2562 ว่า การดำเนินงานของ กสทช. มีผลต่อเนื่องไปยังอนาคต ในบทสรุปที่ตนจะขอเน้น คือ การกำหนดนโยบายการบริหารคลื่นความถี่ให้เพียงพอต่อการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ และการดำเนินการกิจการดาวเทียมเพื่อให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีความเกี่ยวข้องกับกิจการอวกาศ 
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า วันนี้ (8ก.ค.) กสทช.มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารดาวเทียมสื่อสาร ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านสำคัญที่จะเข้าสู่กิจการอวกาศ ทาง กสทช.ได้ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการพัฒนากิจการอวกาศ โดยสนับสนุนการสร้างดาวเทียมขนาดเล็ก ซึ่งคิดว่าเป็นแนวทางถูกต้อง และควรดำเนินการต่อไป เนื่องจากกิจการอวกาศเป็นสิ่งใหม่ของโลก ในประเทศไทยยังไม่ได้เตรียมการเรื่องนี้อย่างชัดเจน ซึ่งคนรุ่นใหม่จะต้องเตรียมบุคคลากร รองรับอาชีพใหม่ๆ ดังนั้น คิดว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่กิจการอวกาศนั้น 
"กสทช.ควรจะต้องมีการเตรียมงบประมาณ สนับสนุนการพัฒนา การวิจัย การสร้างสิ่งใหม่ๆในด้านอุตสาหกรรมใหม่นี้ ผมขอฝากทาง กสทช.ให้ช่วยดำเนินการในเรื่องนี้ในปีต่อไปด้วย"พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ ระบุ

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า ในประเด็นการขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5G การประมูลคลื่นความถี่ 5G ได้สำเร็จไปแล้ว ซึ่งคงได้เห็นการประมูลสำเร็จแล้วก็จริง แต่การประมูลคลื่นความถี่ มีรายได้มหาศาลเข้ารัฐ แต่ไม่ได้เป็นการบ่งบอกถึงความสำเร็จในการบริหารคลื่นความถี่ของ กสทช. เพราะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น แต่ความสำเร็จของการบริหารที่แท้จริงนั้น คือ การสร้างโครงข่ายไปสู่ธุรกิจ ไปสู่ประชาชน ให้ประชาชนได้รับประโยชน์ที่แท้จริง ดังนั้น กสทช.ยังต้องติดตามผลการประมูลคลื่นความถี่ ว่ามีการวางโครงข่ายในทุกคลื่นความถี่ 
ทั้งนี้ ตนมีความห่วงใยเนื่องจากการประมูลที่ผ่านมานั้นมีผู้ประกอบการที่เป็นรัฐวิสาหกิจถึง 2 บริษัท ทั้ง CAT และ TOT ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ทั้งสองบริษัทได้ใบอนุญาตจาก กสทช.ด้วยการประมูล ดังนั้น กสทช.ควรติดตามอย่างใกล้ชิด ในการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะงานของรัฐวิสาหกิจอาจจะไม่มีความคล่องตัวเหมือนบริษัทเอกชน ที่กสทช. เคยปฏิสัมพันธ์มาก่อน อย่างคลื่น 700 MHz ที่ CAT ได้ไป ก็ยังไม่เห็นแผนงานที่ชัดเจน ตนจึงของฝากทาง กสทช. ช่วยทำให้ระบบนิเวศของคลื่นมีความเชื่อมโยงกันอย่างสมบูรณ์
"ในเรื่องการประมูลคลื่นความถี่ รัฐบาลมองถึงความสำคัญของรายได้จากการประมูล แต่ตามที่ผมได้พูดไปแล้วว่า ความสำเร็จนั้น จะต้องเป็นเรื่องของมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวม คุณภาพชีวิตของประชาชน ดังนั้น กสทช.จะต้องมุ่งเน้นในเรื่องการบริหารคลื่นความถี่ และอยากให้เตรียมการ ศึกษาในภาพจริงเพราะระบบ C Band หรือย่านความถี่ 3.5 GHz กำลังจะหมดสัญญาในปี 2564 อยากให้ กสทช.เตรียมพร้อมว่าจะมีการประมูลอย่างไร และจะเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างไร นี่คือภาระกิจของ กสทช. ที่สำคัญในการดำเนินการในปีต่อๆไป" พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว

ด้านนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. สายงานยุทธศาสตร์และกิจการองค์กร รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. ชี้แจงว่า ขอขอบคุณในคำแนะนำต่อ กสทช. เรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่ที่เกี่ยวกับดาวเทียมคลื่น 3500 MHz ขณะนี้ ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อติดตามกิจการโทรคมนาคม โดยเฉพาะ 5G ซึ่งมี 3 ข้อ ที่จะทำ คือ 1.ในด้านเทคนิคคือการศึกษาคลื่น 3500 MHz จะเป็นการรบกวนกันระหว่างกิจการดาวเทียมกับกิจการโทรคมนาคมหรือไม่ ต้องใช้การ์ดแบนด์เท่าไหร่ตรงนี้กำลังศึกษากันอยู่ 2.การเตรียมสำรวจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับจานดำที่มีผลต่อประชาชนจะมีทั้งหมดกี่ครัวเรือน และจะต้องมีการเยียวยาอย่างไร และ 3.การเตรียมการเรื่องการประมูลคลื่น 3500 MHz กำลังร่างหลักเกณฑ์และประกาศต่างๆให้ครบถ้วนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของการใช้คลื่นความถี่ คณะทำงานคาดว่าแผนดังกล่าวและผลการดำเนินงานจะเสนอ กสทช.ได้ภายในสิ้นปี และจะเริ่มประมูลได้ในปีหน้า

logoline