svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

27 ปี มรณกาล "พุทธทาสภิกขุ"

07 กรกฎาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วันนี้เมื่อ 27 ปีก่อน คือวันมรณภาพของพระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปัญโญ) หรือรู้จักในนาม "พุทธทาสภิกขุ" ผู้ซึ่งยูเนสโก ยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก จากการที่ท่านได้อุทิศตนเพื่อการผสานส่งเสริมความเข้าใจระหว่างศาสนา เพื่อความสันติภาพของโลกมาอย่างยาวนาน

พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปัญโญ) หรือรู้จักในนาม "พุทธทาสภิกขุ" มีนามเดิมว่า เงื่อม พานิช เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2449 เป็นชาวอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี อุปสมบทขณะอายุได้ 20 ปี ณ วัดโพธาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ รับฉายาว่า "อินทปัญโญ" แปลว่าผู้มีปัญญาอันยิ่งใหญ่ก่อนอุปสมบท ท่านได้ตั้งใจไว้ว่าจะบวช เรียนเพียง 3 เดือนเท่านั้น แต่เมื่อได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมแล้ว ก็บังเกิดความซาบซึ้งในพระพุทธศาสนา จึงล้มเลิกความตั้งใจที่คิดจะลาสิกขาตามกำหนดเดิมเสียสิ้น และนี่คือเหตุแห่งการบวชตลอดชีวิตของท่าน
"พุทธทาสภิกขุ" เป็นผู้ก่อตั้งสวนโมกขพลาราม ซึ่งตั้งอยู่ ณ วัดธารน้ำไหล อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อปี 2475 สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในทางศาสนาระหว่างกัน มีผู้มาปฏิบัติธรรมทั้งที่เป็นชาวไทยและชาวต่างประเทศ เป็นจำนวนมาก เป็นแหล่งสำคัญในการศึกษา ค้นคว้าวิชาการทางพระพุทธศาสนา เป็นสถานที่ผลิตตำราและบุคลากรเพื่อใช้ในการเผยแพร่ธรรม
ผลงานทางธรรมที่ท่านพุทธทาสภิกขุสร้างสรรค์ไว้ เช่น การจัดตั้งสถานปฏิบัติธรรม สวนโมกขพลารามและสวนโมกข์นานาชาติ การออกหนังสือพิมพ์ พุทธสาสนา ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ทางพระพุทธศาสนาเล่มแรกของไทย การพิมพ์หนังสือชุดธรรมโฆษณ์ ซึ่งเป็นการรวบรวมปาฐกถาธรรมของท่าน ที่แสดงธรรมให้แก่ชาวต่างชาติที่มาฝึกปฏิบัติธรรมที่สวนโมกพลาราม

นอกจากนี้ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีการสอนวิชาศาสนาสากล ทั้งในทวีปยุโรป และอเมริกาเหนือ ล้วนศึกษางานของท่านพุทธทาสภิกขุ ซึ่งมีหนังสือคำสอนกว่ามากกว่า 150 เล่ม แปลเป็นภาษาต่าง ๆ หลายภาษา เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน จีน เกาหลี ลาว ฟิลิปปินส์ และอื่นๆ นับได้ว่าหนังสือของท่านพุทธทาสภิกขุ ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศมากที่สุดของประเทศไทยท่านก็ได้รับการยอมรับจากคณะสงฆ์ไทย รวมถึงวงการศึกษาธรรมะของโลก ถึงกับได้รับการยอมรับว่า เป็น "เสนาบดีแห่งกองทัพธรรม" ในยุคหลังกึ่งพุทธกาลท่านพุทธทาสภิกขุ มรณภาพที่สวนโมกขพลาราม เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2536 รวมอายุ 87 ปี นับได้ 67 พรรษา คงเหลือไว้แต่ผลงานที่ทรงคุณค่าแทนตัวท่านให้อนุชนคนรุ่นหลังได้สืบสานปณิธานของท่านรับมรดกความเป็น "พุทธทาส" เพื่อพุทธทาสจะได้ไม่ตายไปจากพระพุทธศาสนา
จากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2549 ในการประชุมสมัยสามัญขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก ณ สำนักงานใหญ่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่ประชุมมีมติประกาศยกย่องพระธรรมโกศาจารย์หรือ "พุทธทาสภิกขุ" เป็นบุคคลสำคัญของโลกเหตุผลที่ยูเนสโกได้ประกาศยกย่อง "พุทธทาสภิกขุ" เป็นบุคคลสำคัญของโลกก็คือ การที่ท่านได้อุทิศตนเพื่อการเผยแพร่แก่นพระธรรมที่มีความร่วมสมัยและประยุกต์ใช้ได้กับระดับสังคมและปัจเจกบุคคล รวมถึงการผสานส่งเสริมความเข้าใจระหว่างศาสนา เพื่อความสันติภาพ ความเป็นธรรมของสังคมและบุคคล ดังประกาศเป็นทางการว่า

"พุทธทาสภิกขุ เป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่เคารพทั่วโลก ท่านเป็นผู้บุกเบิกในการส่งเสริมความเข้าใจระหว่างศาสนา โดยใช้การสานเสวนาระหว่างเหล่าศาสนิกต่างศรัทธา
ท่านได้ละอารามที่เคยพำนัก และได้ค้นพบแนวทางในการผสานพุทธศาสนาในโลก ให้สอดคล้องกับแก่นธรรมคำสอนดั้งเดิมอีกครั้ง
ท่านยังเน้นย้ำถึงหลักการอิงอาศัยกันและกันของสรรพสิ่ง ทำให้ท่านเป็นผู้นำของความคิดเชิงนิเวศวิทยา และผู้ประกาศจุดยืนเพื่อสันติภาพระหว่างประชาชาติทั้งหลาย
งานเขียนของท่าน ซึ่งได้รับการแปลและตีพิมพ์ในหลายภาษา มีอิทธิพลอย่างมหาศาลต่อการฟื้นฟูวิธีคิดแนวพุทธขึ้นใหม่
ความคิดที่ท่านได้แสดงไว้ มิเพียงแต่จะสามารถชี้ทางให้กับประเทศไทยได้เท่านั้น หากยังรวมถึงสังคมทั้งปวง ที่กำลังพยายามสรรค์สร้างระเบียบทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ อันเที่ยงธรรมและเป็นธรรมอีกด้วย"
"A pioneer in the promotion of the inter-religious understanding through dialogue among people of different faiths, Buddhadasa Bhikkhu, a famous Buddhist monk, was highly respected worldwide.
 He left his monastery to rediscover the integration of Buddhism in the world and the spirit of its origins.
 His emphasis on the interdependence of all things made of him a precursor of ecological thought and a champion of peace among nations.
 His writings, which have been translated and published in many languages, have had a very considerable influence on the renewal of Buddhist thinking.
 The thoughts expressed have the potential to guide not only Thailand, but also all societies struggling to create a just and equitable social, political and economic order."

ขอบคุณข้อมูลจาก www.buddhadasa.org, www.bia.or.th

logoline