svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

จบศึกพปชร.-แง้มสูตรปรับครม."เก่าไป...ใครจะมา"

27 มิถุนายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การประชุมใหญ่สามัญของพรรคพลังประชารัฐช่วงบ่ายที่ผ่านมา ไม่มีอะไรพลิกผัน ทุกอย่างเรียบร้อยโรงเรียนพี่ใหญ่ "บิ๊กป้อม" แห่งค่ายบูรพาพยัคฆ์ โดยเจ้าตัวผงาดนั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค ส่วนทีมกรรมการบริหารก็เป็นกลุ่มที่แสดงจุดยืนสนับสนุนฝั่งตัวเองมาตลอด

การลดจำนวนกรรมการบริหารพรรคลงจาก 34 เป็น 30 คน ชัดเจนว่ากลุ่ม "สี่กุมาร" ถูกเขี่ยออกไป และน่าจะส่งผลถึงการปรับคณะรัฐมนตรีหลังจากนี้
แน่นอนว่าเมื่อ "บิ๊กป้อม" ผงาดคุมพรรคสำเร็จ จากแรงหนุนของบรรดา "ทหารเอก" และแม่ทัพนายกองทั้งหลาย ก็ต้องมีรายการ "ตบรางวัล" เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ โดยตำแหน่งที่คาดว่าจะว่างลงจนนำมาสู่การปรับ ครม. น่าจะเป็นซีก "4 กุมาร" เป็นหลัก
กล่าว คือ1.รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ ของ "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" ที่ถูกมองว่าเป็นหัวหน้าทีมสี่กุมาร2.รมว.คลัง ของ "อุตตม สาวนายน" อดีตหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ คนแรก
3.รมว.พลังงาน ของ "สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์" อดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ คนแรกและ 4. รมว.อุดมศึกษา ของ "สุวิทย์ เมษินทรีย์"ทั้งหมดนี้ ไม่นับรวมเก้าอี้รมว.แรงงาน ที่พรรครวมพลังประชาชาติไทย ส่งสัญญาณให้ปรับ "หม่อมเต่า" ม.ร.ว.จัตมุงคล โสณกุล ออกจากตำแหน่งมาแล้ว เพราะเก้าอี้ "จับกัง 1" น่าจะยังเป็นโควต้าของพรรครวมพลังประชาชาติไทย ยกเว้นมีการแลกกระทรวง
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าขบคิด เพราะหลังจากนี้ หากเข้าสู่ฤดูโยกย้ายจริง "นายกฯลุงตู่" มี 2 ทางเลือกในการปรับ ครม. คือ1. ปรับเล็ก หมายถึง ออกเท่าไหร่ ใส่เข้าไปเท่านั้น เท่าที่จำเป็นจริงๆหรือ 2. ปรับใหญ่ รื้อใหม่ยกกระบิ ครม. ทั้งหมด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน


หากวิเคราะห์แนวทางปรับเล็ก มีแนวโน้มที่ สี่กุมารจะหลุดเก้าอี้ทั้งหมด หรือหลุดบางส่วน สมมติหลุดไม่หมด ไปเพียงแค่ 3 ตำแหน่ง ก็จะใส่คนใหม่เข้าไป 3 คน โดยมีแกนนำกลุ่มก๊วนต่างๆ ในพรรคพลังประชารัฐจองคิวอยู่ ได้แก่ อนุชา นาคาศัย หรือ "เสี่ยแฮงก์" ว่าที่เลขาธิการพรรค แกนนำกลุ่มสามมิตร
นายสุชาติ ชมกลิ่น หรือ "เสี่ยเฮ้ง" แกนนำกลุ่มชลบุรี และ "อ.แหม่ม" ศ.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกรัฐบาล สายตรง "บิ๊กป้อม" ที่เพิ่งมองเก้าอี้ รมว.อุดมศึกษาฯ ในฐานะที่ตัวเองเป็น "สายวิชาการ"
แต่การปรับคน ปรับตำแหน่งอาจจะขยายวงไปอีกเล็กน้อย เช่น ถ้า สนธิรัตน์หลุดเก้าอี้พลังงาน ก็ต้องดูว่า "สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" จะโยกจากกระทรวงอุตสาหกรรมมานั่งแทนหรือไม่ ถ้าโยกมา ตำแหน่งรัฐมนตรีอุตสาหกรรมก็จะว่างลง หากไม่ก็ต้องดูว่าใครจะมาแทนสนธิรัตน์
หากเป็นคนนอกอย่างชื่อ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตรมช.คมนาคม และอดีตบอร์ดการบินไทย ก็จะกลายเป็น "กินโควต้า ส.ส." ทำให้คนที่รอเสียบอยู่บางคนอาจพลาดหวัง
ส่วนอีกตำแหน่งที่สำคัญ คือ รัฐมนตรีคลัง ซึ่งมีข่าวการทาบทาม "มือเศรษฐกิจ" ระดับ "บิ๊กเนม" หลายคน แต่ได้รับการปฏิเสธ อย่างชื่อที่เคยปรากฏเป็นข่าว เช่น ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน ที่ไม่ยอมต่อวาระ ปรีดี ดาวฉาย ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกสิกรไทย แต่ทุกชื่อต้องถือว่า "ฟาวล์" ทั้งหมด
นอกจากนั้น ยังมีข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มอบหมายให้รัฐมนตรีมือทำงานใกล้ชิด ไปทาบทามนักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจรุ่นใหม่ๆ มาร่วมงาน เช่น เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ นักเศรษฐศาสตร์ ที่ผ่านงานบริหารองค์กรขนาดใหญ่ทั้งในภาครัฐและเอกชนมากมาย เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร สันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ บุตรชายของ สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีต รมว.ต่างประเทศ
แต่ทั้งหมดยังคือความไม่ชัดเจนว่าเก้าอี้ขุนคลัง กับรองนายกฯคุมเศรษฐกิจ อาจส่งผลให้การปรับ ครม.ยืดเยื้อออกไป เพราะหาคนรับไม้ต่อได้ยาก ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มดิ่งเหว สวนทางกับแรงกดดันทางการเมือง โดยเฉพาะภายในพรรคพลังประชารัฐที่พุ่งสูงขึ้นทุกวัน

จากความยากในการหาขุนพลเศรษฐกิจ จึงมีการคาดการณ์ว่า นายกฯอาจใช้แผน "นิ่งไปเรื่อยๆ" แต่กูรูการเมืองมองว่า คงนิ่งไม่ได้นาน เพราะกลุ่มก๊วนในพรรคพลังประชารัฐ คงเริ่มขย่มกันหนัก โดยเฉพาะบรรดา "ทหารเอกของบิ๊กป้อม" ที่เตรียมวางบิลกันหลายกลุ่ม หลายก๊วน
เหตุนี้อาจทำให้เกิดแนวทาง "ปรับใหญ่" เพื่อสร้างภาพใหม่ ครม. และเฉลี่ยเป้าวิจารณ์ให้ขยายกว้างออกไป โดยตำแหน่งที่อยู่ในลิสต์ นำมาเฉลี่ยใหม่ในโควต้าของพรรคพลังประชารัฐ นอกจากกลุ่มสี่กุมารแล้ว ยังมีโควต้ากลางของนายกฯอีก 2 เก้าอี้ คือ รัฐมนตรีต่างประเทศ ที่ "ดอน ปรมัตถ์วินัย" เคยออกปากไม่อยากไปต่อก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยกลาโหม ที่อาจใช้วิธีตั้งผู้ช่วยรัฐมนตรีมาทำงาน เป็นมือไม้ให้นายกฯในฐานะเจ้ากระทรวงกลาโหมแทน ซึ่งหากยอมสละ 2 เก้าอี้นี้ ก็จะมีตำแหน่งมาให้สลับและเฉลี่ยกันมากขึ้น อาจพอลดแรงกดดันภายในพรรคลงได้ แม้จะไม่ถูกใจสังคมมากนักก็ตาม
ส่วนตำแหน่งในโควต้าของพรรคร่วมรัฐบาล ที่อาจจะถึงคราวต้องเปลี่ยนแปลง เช่น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ "เทวัญ ลิปตพัลลภ" หัวหน้าพรรคชาติพัฒนานั่งอยู่ อาจต้องยอมสละเก้าอี้ให้กลุ่มพรรคเล็กที่ฮึ่มๆ ขอมีส่่วนแชร์เก้าอี้เสนาบดี นอกจากนั้นยังอาจมีการปรับในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์เพื่อแก้ปัญหาภายในด้วย
แต่ทั้งหมดนี้ "นายกฯลุงตู่" ต้องฝ่าแรงกดดันของคนไทยทั้งประเทศที่คาดว่าโฉมหน้า ครม.ที่ไม่มียี้ เพื่อเรียกศรัทธา และต้องการคนดี คนเก่ง เข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งกำลังเสี่ยงหายนะ จากผลกระทบของโควิด-19 และแน่นอนว่าวิกฤติหนนี้ คือโจทย์ใหญ่ที่ท้าทาย และชี้เป็นชี้ตายอนาคตของรัฐบาลว่าจะอยู่หรือไป

logoline