svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

แจงตั้ง"สุพจน์"นั่งที่ปรึกษาเรือนจำอุตสาหกรรมหวังใช้พัฒนาโครงการ

17 มิถุนายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"รมว.ยุติธรรม"แจงตั้ง"สุพจน์ ทรัพย์ล้อม"นั่งที่ปรึกษาโครงการเรือนจำอุตสาหกรรม หวังใช้ประสบการณ์เพื่อบริหารราชทัณฑ์ให้เป็นประโยชน์ ยันไม่รู้รัฐบาลเตรียมดันกฎหมายนิรโทษกรรม ปัดมีสายตรงจากนายกฯ

(17 มิถุนายน 2563) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม แถลงข่าวถึงการแต่งตั้ง นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการกำหนดแนวทางออกแบบโครงสร้างและการบริหารจัดการเรือนจำอุตสาหกรรม เพื่อการแก้ไขและพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง ว่า 1-2 วันนี้ จะมีคำสั่งแต่งตั้งนายสุพจน์ เข้ามาเป็นที่ปรึกษา ให้แก่คณะอนุกรรมการชุดดังกล่าว





แจงตั้ง"สุพจน์"นั่งที่ปรึกษาเรือนจำอุตสาหกรรมหวังใช้พัฒนาโครงการ




ทั้งนี้ ขอยืนยันว่า ไม่ได้ให้นายสุพจน์ เป็นอนุกรรมการกำหนดโครงการฯ ตามที่ปรากฎเป็นข่าว แต่จะให้มาเป็นที่ปรึกษา เพราะเชื่อมั่นในความสามารถด้านการบริหาร และประสบการณ์ที่เคยอยู่ในเรือนจำมา ซึ่งตรงตามหลักการ "คืนคนดีสู่สังคม" รวมถึงการแต่งตั้งนายสุพจน์ มาเป็นที่ปรึกษาและการทำโครงการฯ นั้น ก็เพื่อฝึกและจัดหาอาชีพให้ผู้ต้องขัง ที่จะทำให้กลับเข้าสู่สังคมได้อย่างปกติสุข ป้องกันและแก้ปัญหาการกระทำผิดซ้ำได้อีกทางหนึ่ง




นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามีกว่า 35 % ผู้พ้นโทษออกมาแล้ว ต้องกลับเข้าสู่เรือนจำ ดังนั้น จึงถือว่าเป็นการให้โอกาส โดยเฉพาะกลุ่มนักโทษชั้นดี ที่ตนเรียกว่า "กลุ่มเทวดาตกสวรรค์" และระดับปานกลาง ที่เรียกว่า "กลุ่มขุนแผนนอนคุก" ส่วนนักโทษชั้นเลว หรือ "เดรัจฉาน" นั้น จะพยายามขังให้นานที่สุด และค่อยๆให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นนักโทษชั้นดี



นอกจากนี้ ยืนยันว่าส่วนตัวมีความตั้งใจและพยายามติดต่อผู้มีความสามารถในด้านต่างๆมาให้คำปรึกษาเกี่ยวกับโครงการพัฒนาเรือนจำนี้ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญการท่องเที่ยวและปราชญ์ชาวบ้าน ที่เชี่ยวชาญเรื่องการเกษตรด้วย โดยมั่นใจว่าจะไม่เป็นการทำให้กระทรวงยุติธรรมเสียภาพลักษณ์

ส่วนกระแสข่าวว่ารัฐบาลเตรียมดำเนินการออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวข้องทางการเมือง เพื่อต้องการนำประเทศสู่การปรองดองนั้น ส่วนตัวยังไม่ทราบ อาจจะเป็นแนวทางของผู้ใหญ่ ซึ่งถ้าหากมีจริงคงจะต้องมีการหารือกัน แต่ตอนนี้ยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว




สำหรับกระแสข่าวเรื่องการสั่งยุบชุดสืบสวนกองคดีการเงินฯ ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ จากการเข้าไปร่วมจับกุมบ่อนการพนันขนาดใหญ่ในจ.ระยอง โดยมีสายตรงจากนายกรัฐมนตรีนั้น นายสมศักดิ์ ยืนยันว่า ไม่ได้รับการติดต่อสายตรงใดๆ จากนายกฯ และไม่ได้เป็นผู้สั่งการให้ดีเอสไอ ออกคำสั่งดังกล่าว แต่ทราบว่าเป็นการดำเนินการภายในหลัง




อย่างไรก็ตาม จากที่ก่อนหน้านี้ได้ให้นโยบายกับนพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์รักษาราชการแทนอธิบดีดีเอสไอ พิจารณาร่วมกับพ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากรว่าที่อธิบดีดีเอสไอ ในการดำเนินการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการสืบสวนสอบสวนให้สอดคล้องกับกฎหมายคดีพิเศษ รวมถึงการทำงานของศูนย์ยุติธรรมสร้างสุข ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เช่น ให้มุ่งเน้นเรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมายฟอกเงิน คดีที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ทรัพยากรทางธรรมชาติ

นายสมศักดิ์ กล่าวยืนยันว่า การมอบนโยบายนี้ ไม่ใช่คำสั่งบังคับว่าต้องยุบชุดสืบสวนใด เพราะเป็นอำนาจการตัดสินใจของทางดีเอสไอ ส่วนเรื่องการจับกุมบ่อนพนัน เห็นว่าสามารถทำได้ หากเป็นเรื่องซึ่งหน้า แต่ต้องไม่ใช่ภารกิจหลักในการทำหน้าที่




ส่วนกรณีเด็กหญิงอายุ 12 ปี ถูกเครือญาติข่มขืนนานกว่า 2 ปี ซึ่งกระทรวงยุติธรรม ได้ให้ความช่วยเหลือเหยื่อรวมถึงพยานเรียบร้อยแล้ว โดยขณะนี้เด็กอยู่ในความดูแลภายใต้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ขณะที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้มีการใช้กฎหมาย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเด็กและเยาวชน ในการดูแลค่าใช้จ่าย ทั้งการคุ้มครองพยาน ที่มีทั้งหมด 5 คน และหากมีค่าใช่จ่ายในส่วนใดเพิ่มเติมที่นอกเหนือจากนี้ ทางกระทรวงก็จะดำเนินการดูแลให้




ส่วนในเรื่องของคดี ก็ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งหากต้องการให้ทางกระทรวงเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือในเรื่องใด ก็จะเข้าไปสนับสนุนอย่างเต็มที่ พร้อมยืนยันการคุ้มครองพยาน จะดำเนินการจนกว่าคดีสิ้นสุด และนอกจากเงินสนับสนุนดังกล่าวแล้ว ยังมีเงินเยียวยา ตามพ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาอีกด้วย

logoline