svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ข่าว

'BIOTHAI' โต้ 'อ.เจษฎ์' ประเด็น CPTPP ชี้ภาครัฐบิดเบือน

16 มิถุนายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

'BIOTHAI' โต้ 'อ.เจษฎ์' ประเด็น CPTPP ระบุมีงานวิจัยมากมายที่เปิดเผยให้เห็นว่าไทยจะเสียหายแค่ไหนหากเข้าร่วม ชี้ เอกสารต่างๆที่หน่วยงานภาครัฐพยายามอธิบายนั้น มีหลายสิ่งบิดเบือนไปจากความจริง

จากกรณีที่ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กเพจ "อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์" อธิบายประเด็นความเข้าใจผิดๆเกี่ยวกับ CPTPP โดยเฉพาะในประเด็นด้านการเกษตร ชี้หลายอย่างก็ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่ฝ่ายรณรงค์คัดค้านบอกไว้
อ่านต่อได้ที่ : 'อ.เจษฎ์'แจงยิบ ปมความเข้าใจผิดๆเกี่ยวกับ CPTPP
หลังจากที่บทความดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ทางด้าน มูลนิธิชีววิถี หรือ ไบโอไทย (BIOTHAI) ซึ่งเป็นองค์กรที่คัดค้านประเด็น CPTPP มาตลอด ก็ออกมาตอบโต้ทันที โดยโพสต์ข้อความชี้แจงมีรายละเอียดดังนี้...
.....................

'BIOTHAI' โต้ 'อ.เจษฎ์' ประเด็น CPTPP ชี้ภาครัฐบิดเบือน


เมื่อวานนี้ (15/6/2563) เพจของ อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ โพสต์เรื่อง "ความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับ CPTPP โดยเฉพาะในประเด็นด้านการเกษตร" โดยเนื้อหาระบุว่า "พวก NGO กลุ่มเดิมๆ กลุ่มนั้นออกมาสร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชนคนไทย" แม้ไม่ระบุชื่อของไบโอไทย แต่เห็นว่าข้อเขียนนั้นสะท้อนว่าแกไม่ได้เข้าใจประเด็นเกี่ยวกับ UPOV1991 และ CPTPP เพียงพอ
จึงขอแสดงความเห็นแย้งในประเด็นต่างๆ ดังนี้ครับ
1. "ถ้ามีผลกระทบจริงทำไมสมาชิกหลายประเทศของ CPTPP ซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรม ทำไมเขาถึงไม่มีปัญหาเรื่องพวกนี้ ?"

ใครบอกว่าไม่มีปัญหาเรื่องนี้ ? แม้แต่ญี่ปุ่นซึ่งที่จริงมีบริษัทยักษ์ใหญ่ 2 บริษัท ติดอันดับท็อปเท็นของบริษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่โลก อย่างซาคาตะซีดส์ และทาคิอี้ แต่อดีตรัฐมนตรีเกษตร Masahiko Yamada ยังออกมาประท้วงกรณีเรื่องเมล็ดพันธุ์นี่แหละว่า แม้สหรัฐถอนตัวออกไปจาก TPP จนกลายมาเป็น CPTPP แต่ความตกลงนี้ยังกระทบกับเกษตรกรรายย่อยและการพัฒนาสายพันธุ์พืชในท้องถิ่นของญี่ปุ่นอยู่ดี
ดารานักร้องชื่อดังอย่าง Kou Shibasaki ถึงกับออกมาทวีตเรื่องเกษตรกรญี่ปุ่นจะเก็บพันธุ์ไปปลูกต่อไม่ได้ จนรัฐบาลต้องเลื่อนการแก้กฎหมายพันธุ์พืชออกไป
เวลาวิเคราะห์เรื่องแบบนี้ อย่ามองแค่เรื่องผลประโยชน์ของรัฐ แต่ต้องมองให้เห็นหัวประชาชนในแต่ละประเทศนั้นด้วย บริษัทเมล็ดพันธุ์ใหญ่ๆ หรือบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเกษตรและอาหารพวกนี้ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว เวลานึกถึงภาคเกษตรกรรมคุณต้องนึกถึงเกษตรกรรายย่อยด้วย นี่ขนาดญี่ปุ่นมีเกษตรกรเพียงแค่ 3-4% ของประชากรเท่านั้นนะ ยังมีคนมีชื่อเสียงของเขาออกมาแสดงความห่วงใจประชาชนเลย ในขณะที่เกษตรกรในประเทศไทยมีมากถึง 7-8 ล้านครัวเรือน จะไม่ได้รับผลกระทบจริงหรือ ?
แคนาดาไม่มีปัญหา เพราะฐานเกษตรกรรมของเขาเป็นเกษตร-อุตสาหกรรมขนาดใหญ่เช่นเดียวกับสหรัฐ ไม่ได้มีเกษตรกรรายย่อยเป็นหลักแบบเรา นอกจากไม่มีปัญหาแล้ว แคนาดาจะได้ประโยชน์จากการส่งออกเนื้อหมูได้มากขึ้นอีก คุณประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติถึงกับอัดคลิปออกมาเตือนว่าไม่เฉพาะเรื่องเมล็ดพันธุ์เท่านั้น เกษตรกรที่เลี้ยงหมูเจ๊งแน่ๆ และยังจะส่งผลกระทบกับเกษตรกรที่ปลูกอาหารสัตว์หรือชาวนาที่ปลูกข้าวซึ่งรำและปลายข้าวถูกนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ด้วย

ควรทราบว่า แม้ CPTPP จะมีสมาชิกลงนาม 11 ประเทศ แต่ตอนนี้ 4 ประเทศก็ยังรีรอไม่ให้สัตยาบันอยู่ ประเด็นเรื่อง UPOV1991 ก็เป็นประเด็นที่เกษตรกรรายย่อยในบางประเทศเหล่านั้นไม่เห็นด้วย
ส่วนเวียดนามไม่มีปัญหาที่จะเข้า UPOV1991 เพราะถูกบีบโดยสหรัฐให้ยอมรับแลกกับการเข้าเป็นสมาชิกใน WTO เมื่อปี 2006 โน่นแล้ว
2. "จริงๆแล้ว เกษตรกรก็สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อได้ "
อันนี้คือความเข้าใจผิดของแกที่บอกว่าภายใต้ UPOV1991 เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชใหม่ (ที่ขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชตาม UPOV1991) ไปปลูกต่อได้ ถ้าจะเข้าใจเรื่องนี้ต้องเปิดตัวบท UPOV1991 และ ไกด์ไลน์ของเขามาอ่าน อย่าอ่านแค่เพียงเอกสารไม่กี่บรรทัดของหน่วยงานรัฐแล้วกล่าวหาว่าผู้อื่นเข้าใจผิด
เรื่องนี้ไบโอไทยอธิบายไว้อย่างละเอียดแล้วว่า สิ่งที่กรมเจรจาฯและสำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร อ้างนั้นไม่เป็นความจริง
เพราะข้อยกเว้นเรื่องเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อตาม Article 15(2) นั้น ล่าสุดเมื่อปี 2017 UPOV ได้เผยแพร่เอกสารอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับแนวทางข้อยกเว้นกรณีการอนุญาตให้เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ประเภทใดปลูกต่อหรือไม่ตาม GUIDANCE FOR THE PREPARATION OF LAWS BASED ON THE 1991 ACT OF THE UPOV CONVENTION โดยระบุว่าอาจสามารถทำได้ในส่วนของธัญพืชเมล็ดเล็กแต่ต้องไม่ใช่ไม้ผล ไม้ดอก ไม้ประดับ และผักต่างๆ"
โดยในส่วนของธัญพืชเมล็ดเล็ก เช่น ข้าว นั้น หากซื้อมาจากบริษัทที่เขาขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ไว้ ยังมีเงื่อนไขกำหนดตามข้อบท Article 15(1)(i) ว่า การยกเว้นนั้นต้องเป็นการผลิตโดยตัวเกษตรกรเองโดยลำพัง และต้องไม่ใช่เป็นการผลิตเพื่อขาย เท่านั้น สรุปว่าในพืชบางชนิด เช่น ข้าวนั้น รัฐอาจยกเว้นให้มีการเก็บพันธุ์ไปปลูกต่อได้ แต่ต้องเป็นการผลิตเพื่อยังชีพเท่านั้น ซึ่งไม่ทราบว่ามีชาวนาคนใดกี่คนในประเทศไทยที่อาจจะอยู่ในข่ายได้รับการยกเว้น
เรื่องข้อยกเว้นการเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อนี้ อาจารย์สมชาย รัตนชื่อสกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ซึ่งเป็นนักกฎหมายที่เชี่ยวชาญเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและทรัพยากรชีวภาพของประเทศไทยอธิบายไว้ด้วยภาษาง่ายๆเอาไว้แล้ว ท่านสามารถไปอ่านได้ที่ลิงค์ด้านล่าง
ส่วนเรื่องเอาเมล็ดพันธุ์พืชใหม่ที่เขาขึ้นทะเบียนคุ้มครองไว้นั้นไปปลูกเพื่อขายเป็นเมล็ดพันธุ์ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช 2542 ของไทยให้การคุ้มครองบริษัทและนักปรับปรุงพันธุ์ไว้แล้ว ไม่ว่าจะเกษตรกรหรือบริษัทคู่แข่งจะเอาไปผลิตเพื่อขายเป็นเมล็ดพันธุ์ไม่ได้ ดังนั้นคนที่เข้าใจผิดว่ากฎหมายไทยไม่ให้การคุ้มครองนักปรับปรุงพันธุ์และบริษัทเมล็ดพันธุ์นั้นไม่เป็นความจริง
พวกที่ผลักดันให้ใช้ UPOV1991 นั้น คือต้องการขยายสิทธิผูกขาดให้แก่บริษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ ห้ามเกษตรกรเก็บพันธุ์ไปปลูกต่อ ขยายระยะเวลาการผูกขาดออกไปจาก 12-15 ปี เป็น 20 ปี ห้ามคัดเลือกพันธุ์ที่กลายพันธุ์ในแปลงซึ่งเป็นวิถีการพัฒนาสายพันธุ์ของเกษตรกรรายย่อย และขยายการผูกขาดจากส่วนขยายพันธุ์ไปสู่ผลผลิตและผลิตภัณฑ์ในกรณีที่เกษตรเก็บพันธุ์ไปปลูกต่อหรือคัดเลือกพันธุ์ที่กลายพันธุ์จากแปลงปลูก เป็นต้น ทั้งหลายทั้งปวงนั้นก็เพื่อผลกำไรของบริษัทเมล็ดพันธุ์
3. "ข้อกังวลว่าจะลดทอนกลไกการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพนั้นไม่เป็นความจริง"
อันนี้หลายคนสับสน เพราะจริงๆแล้ว UPOV1991 ไม่ได้มีข้อห้ามเรื่องเกี่ยวกับการกำหนดกลไกการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ และใน CPTPP ก็ไม่มีข้อห้ามนี้จริง
แต่พวกเขาบิดบังความจริงเรื่องหนึ่งว่า เพื่อเตรียมการเข้าร่วมความตกลงเจรจาการค้าระหว่างประเทศนี่แหละ ที่กรมวิชาการเกษตร รวมทั้งบรรดาบรรษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ที่ผลักดันให้ประเทศไทยเข้าร่วม CPTPP ได้เตรียมฉีกทิ้ง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 และยกร่างกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชตามแนวทาง UPOV1991 เมื่อปี 2560 เอาไว้แล้ว
โดยร่างกฎหมายฉบับใหม่ ได้ตัดทอนกลไกสำคัญที่สุดของการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ระบุว่า "ผู้ประสงค์จะขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ต้องแสดงที่มาของสารพันธุกรรม" ตามมาตรา 9 (3) โดยตัดวรรคดังกล่าวออกและร่างขึ้นใหม่ให้บริษัทเมล็ดพันธุ์แสดง "ข้อมูลหรือเอกสารหรือวัสดุที่จำเป็นแก่การตรวจสอบพันธุ์พืชใหม่ตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด" ตามร่าง พ.ร.บ.มาตรา 18 (3)
การแก้ไขดังดังกล่าวมีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงการขออนุญาตและแบ่งปันผลประโยชน์ในกรณีที่มีการนำเอาสารพันธุกรรมและพันธุ์พืชพื้นเมืองไปใช้ประโยชน์นั่นเอง ทั้งๆที่กฎหมายในหลายประเทศของโลกทั้งในสวิตเซอร์แลนด์ นอรเวย์ จีน อินเดีย จะระบุให้ต้องแสดงที่มาของทรัพยากรชีวภาพเอาไว้ ประเทศไทยที่เป็นประเทศเจ้าของทรัพยากรชีวภาพกลับตัดข้อความดังกล่าวออก
รศ.สุรวิช วรรณไกรโรจน์ นักวิชาการด้านการปรับปรุงพันธุ์ และกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช หนึ่งในผู้ยกร่างกฎหมายฉบับนี้ของไทย ยังสรุปสั้นๆว่า การแก้กฎหมายตาม UPOV 1991 นั้น "ทำลายกลไกการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างร้ายแรง และสนับสนุนให้เกิดโจรสลัดชีวภาพทางอ้อม"
ผลกระทบของ UPOV 1991 นั้น ไม่ได้มีเพียงไบโอไทย และเอฟทีเอว็อทช์เท่านั้นที่เผยแพร่เรื่องนี้ แต่นักวิชาการด้านกฎหมายที่เขาเชี่ยวชาญเรื่องนี้หลายท่าน รวมทั้งสถาบันวิจัยอิสระต่างๆ ก็ตั้งคำถามเช่นเดียวกันกับเรา
ประเด็นหลักๆ ที่อาจารย์เจษฎ์โพสต์มาก็ประมาณนี้ ส่วนที่แกคัดลอกเนื้อหาคำชี้แจงของกรมเจรจาการค้ามาต่อท้ายโพสต์นั้น เอฟทีเอว็อทช์ได้ตอบไว้ครบถ้วนแล้ว สามารถอ่านได้ตามลิงค์ข้างล่างครับ

'BIOTHAI' โต้ 'อ.เจษฎ์' ประเด็น CPTPP ชี้ภาครัฐบิดเบือน


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ประเด็นสิทธิเกษตรกรและการเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อ ของผศ.ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล https://web.facebook.com/kukkikkabAjSomchai/posts/3277897362260980?__tn__=K-R
ดาราญี่ปุ่นทวีตเรื่องเกษตรกรญี่ปุ่น https://web.facebook.com/biothai.net/photos/a.467826533255873/3093067784065055/?type=3&theater
บทความของ The People เรื่อง Kou Shibasaki https://thepeople.co/ko-shibasaki-with-cptpp-politics/
อดีตรัฐมนตรีเกษตรญี่ปุ่นกลายเป็นแกนนำคัดค้าน TPP https://web.facebook.com/biothai.net/posts/3091744877530679?__tn__=K-R
ความเห็นของรศ.ดร.สุรวิช วรรณไกรโรจน์ กรณีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เป็นไปตาม UPOV1991 https://web.facebook.com/biothai.net/photos/a.467826533255873/3080091155362718/?type=3&theater
บทความของรศ.ดร.จักรกฤษณ์ ควรพจน์ ในเว็บไซท์ TDRI https://tdri.or.th/2017/11/plant-varieties-act/
โพสต์ของไบโอไทยเปิดเผยการแก้กฎหมายเมื่อปี 2560 https://web.facebook.com/biothai.net/photos/a.467826533255873/1566767403361775/?type=3&theater
สมุดปกดำ 14 ประเด็นโต้แย้งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ http://www.ftawatch.org/sites/default/files/FTAWatch_BlackPaper_CPTPP.pdf

logoline