svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

"น้ำลายยุง" ความหวังโลกรับมือโรคระบาดครั้งต่อไป

14 มิถุนายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

โรคระบาดอื่นๆที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ส่วนใหญ่ ล้วนเกิดขึ้นจากสัตว์ที่เป็นพาหะนำเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นมาลาเรีย ไข้เลือดออก หรือแม้แต่โควิด-19 เองก็มีความเป็นไปได้ว่าจะมีสัตว์ที่เป็นพาหะ แต่ล่าสุดนักวิยสหรัฐได้ออกมาเผยแนวคิดที่จะพลิกบทบาทสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค อย่างเช่นยุง ให้กลายเป็นต้นกำเนิดวัคซีนสำหรับรักษาโรคระบาดในอนาคต

ที่ผ่านมาสัตว์อย่างยุงเคยถูกมองเป็นผู้ร้ายที่เป็นพาหะนำโรคระบาดหลายโรคมาสู่มนุษย์ จนนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต้องคิดค้นหาวิธีทำหมันยุงเพื่อลดจำนวนประชากรของสัตว์ชนิดนี้ แต่ตอนนี้ยุงกำลังจะเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์มหาศาลต่อมนุษย์ หลังล่าสุดมีนักวิทยาศาสตร์ออกมาเปิดเผยทฤษฎีใหม่ ว่าน้ำลายยุงอาจเป็นปัจจัยสำคัญในการคิดค้นวัคซีนรักษาสารพัดโรคระบาดได้ในอนาคต
การหยุดชะงักของทั่วโลกจากการระบาดของโควิด-19 ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ได้ทำให้หลายฝ่ายหันมาให้ความสนใจในการวิจัยโรคติดเชื้อและวัคซีนเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดอย่างจริงจังมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในวิธีคิดค้นวัคซีนที่นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจก็คือวัคซีนที่มาจากสัตว์ที่เป็นพาหะนำเชื้อโรคมาสู่มนุษย์โดยเฉพาะยุง แมลงเขตร้อนที่ถูกนักวิทยาศาสตร์ให้นิยามว่า "สัตว์ที่อันตรายต่อมนุษย์ที่สุดในโลก"
จากรายงานขององค์การอนามัยโลกระบุว่า เฉพาะโรคมาลาเรียที่เกิดจากยุงเพียงโรคเดียว ก็คร่าชีวิตคนมากกว่า 400,000 คนในแต่ละปี ซึ่งมักจะเกิดในประเทศยากจนที่มีวัคซีนไม่เพียงพอ และปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกกังวลคือการขยายพันธุ์ของยุงที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลายเท่าตัวเนื่องมากจากภาวะโลกร้อน


แต่จากการวิจัยล่าสุดของนักวิทยาศาสตร์ในทีมวิจัยทางคลินิกของสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติสหรัฐ ได้นำไปสู่ทฤษฎีใหม่ที่เชื่อว่า ชิ้นส่วนของโปรตีนจารกน้ำลายของยุง สามารถนำไปใช้สร้างวัคซีนรักษาได้สารพัดโรค โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากยุงเป็นพาหะ เช่น มาลาเรีย ไข้เลือดออก โรคชิคุนกุนยา ไข้ซิกา ไข้เหลือง ไข้เวสต์ไนล์ โรคมาจาโร และอีกหลายโรคที่มีความเป็นไปได้
โดยแนวทางของทฤษฎีดังกล่าว คือการทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์เรียนรู้และจดจำลักษณะของโปรตีนจากน้ำลายยุง เพื่อที่ร่างกายจะมีปฏิกิริยาการตอบสนองในการต่อต้านหรือป้องกันการติดเชื้อทุกชนิดจากยุงได้หลังจากนั้น
วารสารการแพทย์ระดับโลกอย่าง Lancet ก็เพิ่งตีพิมพ์บทความการทดลองทางคลินิกครั้งแรกของวัคซีนจากน้ำลายยุงกับมนุษย์ ซึ่งผลการทดลองดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าวัคซีนที่มาจากยุงก้นปล่องมีความปลอดภัย และสามารถกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองต่อระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ได้จริง
แม้จะยังไม่มีความชัดเจนเต็มร้อย แต่นักวิทยาศาตร์ก็คาดหวังว่าแนวคิดในการสร้างวัคซีนจากน้ำลายยุงนี้จะเป็นจอกศักดิ์ศิทธิ์ หรือความหวังใหม่ในการรับมือกับวิกฤตโรคระบาดอื่นๆที่กำลังจะเกิดขึ้นกับมนุษย์ในอนาคต

logoline