svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เปลี่ยนตัวหัวหน้า-เลขาฯ พปชร.สอดรับปรับ ครม. หรือไม่?

05 มิถุนายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"วิโรจน์" ก้าวไกล เอะใจ เปลี่ยนตัวหัวหน้า-เลขาฯ พปชร.สอดรับปรับ ครม.-เคาะงบฟื้นฟู 4 แสนล้าน -- หวั่นสารพัดโครงการ "สู้ภัยโควิด"ผุดกินหัวคิวทั่วแผ่นดิน

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกระแสการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคและผู้บริหารของพรรคพลังประชารัฐ จากการลาออกของกรรมการบริหารพรรค 18 คน โดยระบุว่าดูผิวเผิน นั้นอาจจะเป็นแค่เรื่องภายในของพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง แต่ถ้าพิจารณาเทียบเคียงกับเหตุการณ์ 3 เหตุการณ์ ดังต่อไปนี้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องช่วยกันจับตาอย่างใกล้ชิด คือ1) การปรับ ครม. ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นรัฐมนตรีที่มีบทบาทอย่างมากใน พ.ร.ก 3 ฉบับ ซึ่งมีวงเงินรวมกันสูงถึง 1.9 ล้านล้านบาท ในการกลั่นกรอง วินิจฉัย กำหนดระเบียบหลักเกณฑ์ต่างๆในทางปฏิบัติ โดยวงเงินที่สูงถึง 1.9 ล้านล้านบาทเป็นเป้าหมายอันหอมหวน2) การพิจารณาโครงการกรอบวงเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท ที่จะเสนอเข้า ครม. ในวันที่ 7 ก.ค. นี้ เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า กรอบหลักเกณฑ์ของโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาทเป็นกรอบที่กว้างมากๆและเอื้อให้ฝ่ายต่างๆจากหลายมุ้งการเมือง พยายามที่จะวิ่งเอาโครงการสัพเพเหระทั่วไปมาปัดฝุ่น ยัดไส้ เติมคำว่า "สู้ภัยโควิด" ต่อท้ายที่ชื่อโครงการ แล้วเอามาของบประมาณเพื่อนำไปแบ่งกันปันหัวคิว"ช่วงนี้เป็นช่วงที่หลายมุ้งทางการเมือง วิ่งเต้นแย่งงบ วิ่งกันล็อคสเป๊คกันให้วุ่น ประกอบกับการที่มีข่าวที่ลือกันในสภาว่า มีการฮั้วกัน เพื่อปิดปาก ส.ส. โดยมีการกันงบประมาณไว้ให้กับ ส.ส. คนละ 80 ล้านบาท โดยจะฝากงบประมาณเอาไว้ที่งบจังหวัด แล้วให้ ส.ส. วิ่งเข้าไปชี้ เข้าไปล็อคสเป๊ค ว่าจะทำโครงการอะไร ให้ผู้รับเหมาคนไหนเป็นคนทำ ซึ่งสุดท้ายก็คงหนี้ไม่พ้นค่าหัวคิว และเงินทอนต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา" นายวิโรจน์ระบุ

นายวิโรจน์ตั้งข้อสังเกตต่อไป ว่าด้วยเงื่อนเวลาที่พอเหมาะพอเจาะและปรากฏการณ์ชุลมุนวิ่งแย่งงบ 4 แสนล้านบาท จึงเป็นข้อสังเกตที่ประชาชนต่างจับจ้อง และสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการวิ่งเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และคณะผู้บริหาร ของพรรคพลังประชารัฐหรือไม่และสิ่งที่ประชาชนทุกๆ คน ต้องร่วมกันติดตามต่อไปจากนี้ก็คือ โครงการเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท ที่กำลังจะเกิดขึ้นเต็มไปหมดนั้นมีโครงการอะไรบ้าง เป็นโครงการที่ตรงกับความต้องการของท้องถิ่นหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่โครงการละลายงบ ที่เอาคำว่า "สู้ภัยโควิด" มาต่อท้าย"เช่น เปลี่ยนหลอดไฟสู้ภัยโควิด ขุดบ่อน้ำบาดาลสู้ภัยโควิด ศาลาพักใจสู้ภัยโควิด ขุดลอกคูคลองสู้ภัยโควิด เดินท่อประปาใหม่สู้ภัยโควิด ฯลฯ หรือเปล่า มีการกำหนดสเป๊คที่เกินจำเป็น เพื่อล็อคสเป๊คให้กับผู้รับเหมา หรือผู้ประกอบการรายใดหรือไม่ ราคาในการจัดซื้อจัดจ้าง และเงื่อนไขในการบริการหลังการขาย เมื่อเทียบกับราคาตลาด แล้วเป็นอย่างไร และผู้ที่ชนะการประมูล นั้นมีความสัมพันธ์กับนักการเมืองคนใด" นายวิโรจน์ระบุ

นายวิโรจน์ทิ้งท้ายว่าเงิน 4 แสนล้านบาทนี้ มีบางคนเคยเถียงกับผมว่า ที่ผ่านๆมา ไม่เห็นต้องมีประชาชนควักสตางค์ไปจ่ายหนี้ให้กับรัฐบาลเลย แต่การใช้หนี้ของรัฐบาลจะต้องเบียดบังเอาเงินงบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชนไปจ่ายชำระหนี้และดอกเบี้ยที่เคยกู้มา ซึ่งถ้ารัฐบาลไม่ต้องนำเอาเงินไปชำระหนี้ รัฐบาลก็จะมีงบประมาณที่มากขึ้น ในการพัฒนาประเทศ เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประชาชนคนไทย มีงบประมาณมากขึ้นที่จะนำมาอุดหนุนเพื่อปรับปรุงสวัสดิการ และคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกคนให้ดีขึ้น ดังนั้นภาระของการใช้หนี้ก้อนหนี้ของประชาชนคนไทย ก็คือ การต้องยอมให้ประเทศชาติล้าหลัง ต้องพัฒนาได้ล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น ต้องยอมให้ลูกหลานของพวกเราต้องทนกับสภาพความเป็นอยู่ที่มันควรจะดีกว่านี้ได้ไปอีกนับสิบๆปี นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ประชาชนคนไทยทุกคน ต้องร่วมกันตั้งข้อสังเกต และติดตาม กำกับเรื่องราวทุกเรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับเงินกู้ก้อนมหาศาลในครั้งนี้

logoline