svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

TDRI เตือนธุรกิจรับมือกำลังซื้อฟุบ 2-3 ปี

04 มิถุนายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การเสวนาออนไลน์ New Normal เมื่อโลก (โรค) ขยับ ธุรกิจต้องปรับและรับมือ ที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งมีภาคเอกชนที่เป็นสมาชิกหอการค้าไทยร่วมรับฟังต่อทัศนของนักวิชาการในการปรับตัวของภาคธุรกิจในครั้งนี้

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ผลกระทบโควิด-19 ที่มีผลต่อเศรษฐกิจทั่วโลกและเศรษฐกิจไทยขณะนี้ คือกำลังซื้อของคนลดลง ซึ่งคาดว่ากำลังซื้อจะกลับมาเป็นปกติต้องใช้ระยะเวลา 2-3 ปี เพราะแม้ว่าจะมีการคลายล็อกกิจการจากการปลดล็อกดาวน์ แต่หลายธุรกิจไม่สามารถกลับมาฟื้นปกติได้ เพราถ้าทุกอย่างจะกลับมาปกติ คือต้องมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งมองว่าวัคซีนคงเกิดขึ้นแต่อาจใช้ระยะเวลา 1-2 ปี กว่าจะทดสอบ กว่าจะใช้ได้จริง 
"ทีดีอาร์ไอคงไม่คาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจว่าจะติดลบเท่าไหร่ เพราะมีหลายหน่วยงานคาดการณ์ไว้แล้วว่าจะติดลบมากถึง 9-10% และมองว่าปีหน้าเศรษฐกิจจะโตแบบวีเชฟ คือฟื้นตัว ซึ่งถ้าปีนี้ติดลบมาก ปีหน้าก็เป็นบวก แต่กำลังซื้อของคนไม่ได้มองแค่ตัวเลข เพราะมีหลายปัจจัย เพราะถ้าโควิด-19ยังระบาด 2-3 ปี เศรษฐกิจโลกฟื้นยาก ไทยจะเปิดท่องเที่ยววงใหญ่ทำได้ยาก ตัวผมมองค่อนข้างวิตกกังวล จะมีวัคซีนจริงหรือไม่ แต่น่าจะมีได้ และหากมีไทยจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีได้เร็วหรือไม่ โรงงานไทยผลิตได้ไหม ถ้าไม่มีต้องต่อคิวซื้อเป็นปี ตัวผมมองภาพเชิงวิตกกังวล"  
สำหรับ ภาคเอกชนจะวางแผนธุรกิจในยุคหลังโควิด-19 โดยใช้ตัวเลข สถิติไม่ได้ แต่ละเหตุการณ์ไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนโยนหัวโยนก้อย  ดังนั้นธุรกิจจะต้องตั้งสมมุติฐานขึ้นมาและมีแผนเอ แผนบี ซึ่งไม่ได้หมายความว่าให้ตั้งสมมุติฐานกรณีเลวร้าย เพราะถ้ามองแบบนั้นจะมองทางรอดของธุรกิจไม่ออก แต่วางแผนจากสถานการณ์ที่เป็นไปได้มากสุด ให้ยึดพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลง เพราะ New normal มีทั้งเป็นตัวเร่ง และเป็นตัวถ่วง โดยตัวเร่งคือ เวิร์ค ฟอร์ม โฮม ช้อปปิ้นออนไลน์ จะมา ส่วนตัวถ่วง คือกำลังซื้อที่ชะลอตัวลง  
"การวางแผนธุรกิจจะต้องวางแผนสถานการณ์ที่เป็นไปได้มากสุด และผมคิดว่ามีอะไรแพลนเอ แพลนบี ถ้าคิดว่าร้ายหมดจะมองไม่เห็นโอกาส คนจะอยู่รอดคือคนมีสายป่าน มีเงินสูง มีเงินเลี้ยงพนักงานสำคัญ ต้องรักษาธุรกิจ  รักษาความสัมพันธ์  พอเกิดการเปลี่ยนแปลงจะมีธุรกิจล้มหายตายจาก คนมีเงินเอาเงินไปซื้อธุรกิจในตลาด เช่น การบินไทยรอดยากก่อนเกิดโควิดยากลำบาก ส่วน แอร์เอเชีย ก็ยังเหนื่อย ต้องขึ้นค่าตั๋วโดยสาร ไม่มีทางเลือกต้นทุนสูงขึ้น ผู้โดยสารจะลดลง แต่ตั๋วราคาจะแพงขึ้น  จึงมีการปรับแผนไปขนสินค้ามากขึ้น ดังนั้น คนจะรอดได้ต้องเรื่องบริหารเงินสดดีๆ ฝากซีอีโอที่ต้องบริหารสภาพคล่องตอนนี้ให้อยู่ได้ รักษาพนักงานที่เป็นแกน  และลดต้นทุน"  
ด้าน ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า มาตรการภาครัฐที่รัฐบาลดำเนินการฟื้นฟูเศรษฐกิจขณะนี้ ยังไม่เพียงพอ เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นที่หายไปโควิด 2-2.5 ล้านล้านบาท โดยเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ของรัฐบาล มีการใช้เยียวยา 6 แสนล้านบาท แต่อีก 4 แสนล้านบาท ยังไม่มีความชัดเจนของแผน รวมทั้งการออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ที่รัฐบาลให้ธนาคารต่างๆผลักดันไปก่อนหน้านี้มีการใช้จริงแค่  5 หมื่นล้านบาท  ดังนั้นเม็ดเงินขณะนี้จึงยังไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เศรษฐกิจเสียหาย

logoline