svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ภราดร" ส.ส.อ่างทอง ซัด รบ.ออกร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณล่าช้า

04 มิถุนายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ภราดร" ส.ส.ภูมิใจไทย ซัด รัฐบาลออกร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณล่าช้า โวยไม่ควรโอนงบการลงทุน เนื่องจากส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ พร้อมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ยืนยันต่อสภาว่าจะนำงบประมาณที่โอนนี้ไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาโควิดเป็นหลัก

นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย อภิปรายร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย ว่า มีประชาชนถามว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีความสำคัญมากน้อยแค่ไหนกับสถานการณ์ของประเทศในขณะนี้ ซึ่งหากย้อนกลับไปเมื่อ 2-3 เดือนที่แล้ว ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประชาชน เพราะขณะนั้นสถานการณ์โควิดกำลังอยู่ในช่วงที่มีความรุนแรงมาก และรัฐบาลจำเป็นที่จะต้องนำเงินส่วนนี้ไปเยียวยาแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะเห็นหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานยอมตัดเงินงบประมาณที่ผ่านสภาแห่งนี้ไปแล้วมากองไว้ให้กับงบกลาง เพื่อนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์หลักที่ตั้งใจแก้ไขปัญหาและเยียวยาโควิด แต่วันนี้เดือนมิถุนายน

"ภราดร" ส.ส.อ่างทอง ซัด รบ.ออกร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณล่าช้า


คำถามคือล่าช้าไปหรือไม่กับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะเมื่อลงมติรับหลักการในวาระที่ 1 ไปแล้ว จะต้องไปตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณา จากนั้นนำกลับเข้ามาสู่วาระที่ 2และ 3 กว่าจะเสร็จก็กลางเดือนมิถุนายนแล้ว และยังต้องส่งไปให้วุฒิสภาพิจารณา กว่าจะแล้วเสร็จจนตราออกมาเป็นกฎหมายสิ้นเดือนก็ไม่ทราบว่าจะเสร็จหรือไม่ ตนจึงบอกว่าเกิดความล่าช้ามาก และมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนที่ต้องจัดทำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ในเวลานี้ เพราะขณะนี้จะเหลือเวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้น ที่จะนำเงินก้อนนี้ไปใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน 

ทั้งนี้ นายภราดร บอกว่า ตนไม่ได้ไม่เห็นด้วย แต่บนหลักการของการโอนเงิน โดยเฉพาะงบลงทุนที่หน่วยงานของรัฐแต่ละหน่วยงานได้เสนอและผ่านการพิจารณาของสภาไปแล้ว และกำลังเตรียมที่จะลงมือทำ เตรียมนำเงินไปใช้ทำประโยชน์ให้กับประชาชน แต่กลับต้องไปดึงเงินส่วนนั้นกลับมา ซึ่งหากเป็นงบประมาณในส่วนของการอบรมสัมมนา งบเดินทางไปต่างประเทศ งบส่วนนี้หากโอนคืนไปก็ไม่มีปัญหา แต่นี่ต้องโอนงบลงทุนซึ่งกำลังจะก่อให้เกิดรายได้ ก่อให้เกิดการลงทุนไปหมุนเศรษฐกิจ ประเด็นแบบนี้ตนยังไม่ชัดเจนว่าจะทำแบบนี้เพื่ออะไร เพราะหลังจากนั้นมีการกู้เงินมาอีก 1 ล้านล้านบาท โดยในส่วนของเงินกู้ 400,000 ล้านบาท ก็จะเอาไปให้กระทรวง ทบวงต่างๆไปลงทุน แทนที่เมื่อ 3-4 เดือนที่ผ่านมาเขาจะได้นำเงินนี้ไปลงทุนเพื่อก่อใหเกิดรายได้ถึงวันนี้โครงการก็คงจะเสร็จแล้ว กลับต้องมารอเงินกู้ แล้วต้องไปทำในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า จะเห็นว่าทำให้โครงการล่าช้าไปถึงเกือบจะครึ่งปี ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจที่จะหมุนเร็วกลับต้องรอไปอีก 2-3 เดือน เลยสงสัยว่าจะทำขั้นตอนแบบนี้เพื่ออะไรนอกจากนี้ เมื่อดูในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้มีการเขียนหลักการไว้ชัดเจนว่าให้โอนงบประมาณรายจ่ายปี 63 ไปไว้ที่งบกลาง นั่นหมายความว่าเมื่อผ่านวาระที่ 1 เงิน 88,000 ล้านบาท ไม่สามารถไปแก้ไขในชั้นกรรมาธิการได้ จึงไม่มีประโยชน์ที่จะตั้งกรรมาธิการ เพราะจะไม่เหมือนงบประมาณปกติทั่วไปที่กรรมาธิการจะตัดลดงบประมาณได้ เท่ากับว่านำเงินนี้ไปกองไว้ที่งบกลาง ด้วยการดึงเงินจากกระทรวง ทบวง กรมต่างๆที่มีแผนงาน ที่มีโครงการชัดเจนอยู่แล้วเพื่อเอาไปไว้ที่งบกลาง ซึ่งไม่มีแผนการ ไม่มีโครงการอะไร เพียงแต่ว่ารอถึงสถานการณ์ฉุกเฉินจึงจะนำเงินนี้มาใช้ ซึ่งอาจจะมีภาวะฉุกเฉินหรือไม่ก็ได้ และที่สำคัญภายใน 3 เดือนหากใช้เงินไม่หมดนั่นหมายความว่าเงินก้อนนี้ก็จะต้องคืนคลังไป ทำให้รอบการหมุนวนของเศรษฐกิจที่มีแผนอยู่แล้วต้องหยุดชะงักไป จึงต้องถามว่ามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน

นายภราดร ยังบอกว่า เมื่อดูในตัวเหตุผลของ ร่าง พ.ร.บ.นี้ทั้งหมดล้วนแล้วแต่พูดไปถึงเหตุผลของการโอนงบประมาณ คือ การแก้ไขปัญหาและเยียวยาเรื่องโควิด แต่มีติ่งท้ายนิดเดียวคือเรื่องของกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือจำเป็นอื่น ซึ่งจำเป็นอื่นนั้นคืออะไร มันไม่ใช่แต่เฉพาะโควิดเท่านั้น ผิดเจตนารมณ์ที่หน่วยงานภาครัฐทั้งหมดเขาตั้งใจที่จะโอนให้งบกลางเพื่อเอาไปใช้แก้ไขปัญหาโควิดนอกจากนี้ นายภราดร ได้เรียกร้องว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่นายกรัฐมนตรีจะลุกขึ้นยืนยันกับสภาแห่งนี้ ว่าเงิน 88,000 ล้านบาทนี้ จะนำไปใช้แก้ไขปัญหาโควิดเป็นหลัก เพราะเท่ากับว่าเป็นการยืนยันต่อประชาชน ส่วนจะไปใช้ในเหตุฉุกเฉินก็จะต้องพูดให้ชัดว่าฉุกเฉินนั้นเป็นเพียงประเด็นรองเท่านั้น ประเด็นหลักต้องแก้ไขปัญหาเรื่องสาธารณสุข สร้างความเข้มแข็งให้ระบบสาธารณสุขเป็นหลัก ไม่เช่นนั้นงบประมาณที่หน่วยงานต่างๆได้ตัดมาให้งบกลางจะสูญเปล่า

logoline