svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

'บรรยง'เสนอแผนฟื้นฟู'การบินไทย'

03 มิถุนายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

บรรยง พงษ์พานิช เสนอวิธีการในการฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ชี้มี 4 เรื่องใหญ่ที่ต้องเร่งดำเนินการหากต้องการกลับมาเป็นองค์กรที่เข้มแข็งอย่างยั่งยืนอีกครั้ง

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich นำเสนอแนวคิดและวิธีการในการฟื้นฟูกิจการของการบินไทย โดยมีรายละเอียดดังนี้
เราจะทำให้เธออยู่คู่ฟ้าหลักการและวิธีการในการฟื้นฟูการบินไทย
3 มิย.2563
ถ้าบังเอิญผมต้องมีส่วนร่วม ในการฟื้นฟูการบินไทย ผมจะทำอะไร อย่างไรบ้าง (อย่าเพิ่งมีใครต้องตกใจนะครับ เขาไม่เชิญผมแน่นอน และถึงเชิญก็ไม่เข้าร่วมแน่นอน เพราะใจไม่ถึงพอ ไม่เสียสละพอ และเก่งไม่พอ) แต่ที่เอาความคิดมาขยายก็เผื่อจะเป็นประโยชน์บ้าง
ผมคิดว่ามี 4 เรื่องใหญ่ที่การบินไทยต้องดำเนินการถ้าต้องการกลับมาเป็นองค์กรที่เข้มแข็งอย่างยั่งยืน ซึ่งทั้งสี่เรื่องต้องทำควบคู่และต่อเนื่องกันไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย ซึ่งเป้าหมายของผมก็จะง่ายๆชัดเจน คือ ให้กลับมามีกำไรปีละมากกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปีในปีปกติให้ได้ และต้องเป็นกำไรที่ยั่งยืน อาจผันผวนตามภาวะได้บ้าง แต่ต้องไม่กลับมาสู่สภาวะ "ล้มละลาย" อย่างปัจจุบันอีก
ขอไล่เรียงทั้งสี่เรื่องนะครับ....
เรื่องที่หนึ่ง....ต้องทำให้มีสถานะการเงินพร้อมที่จะดำเนินการได้ นั่นก็คือ ต้องวางแผนซ่อมแซมงบการเงินให้พ้นความ"ยับเยิน"อย่างปัจจุบัน ผมขอตั้งต้นด้วยตัวอย่างเป้าหมายง่ายๆ ว่าต้องให้มีหนี้สินต่อทุนไม่เกินสองเท่า (ปีที่แล้ว 25 เท่า ปัจจุบันอินฟินิตี้เท่าเพราะทุนติดลบไปแล้ว) ต้องให้มีหนี้สินต่อกระแสเงินสด(Debt to EBITDAR)ไม่เกินเจ็ดเท่า (ปีที่แล้วเจ็ดสิบเท่า) ซึ่งอย่างเร็วๆก็คือ ถ้าไม่ Hair cut ลดหนี้เลยต้องเพิ่มทุนมากกว่าสองแสนล้าน ซึ่งไม่ควรเพิ่มแน่นอน เพราะถึงกลับมามีกำไรหมื่นล้านก็ยังไม่คุ้ม เพราะฉะนั้นการลดหนี้นั้นเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าเป็นผม ผมจะลดหนี้ที่ไม่มีประกัน 70% (ร้อยบาทเหลือสามสิบ) แล้วให้เปลี่ยนเป็นทุนสัก10% (ตัดทิ้งหกสิบ) อย่างนี้จะลดหนี้ได้เกือบแสนล้านบาท และได้ทุนเพิ่มสองหมื่น (แต่ทุนที่เพิ่มเป็นแค่คนที่จะมาหารมาแบ่งกำไรอนาคตเท่านั้น ไม่มีเงินสดเข้ามาแต่อย่างไร) ส่วนเจ้าหนี้มีประกัน (พวกบริษัท Lessors) ก็คงต้องขอเจรจาลดหนี้ (น่าจะได้ไม่เกิน 20%) เลื่อนหนี้ (ยืดระยะ) และคืนหนี้ (คืนเครื่องบิน) บางส่วน ซึ่งจะคืนลำไหนบ้างก็ขึ้นอยู่กับแผนในเรื่องที่สอง ปกติเจ้าหนี้ Lessor นี่เขาจะเจรจายาก ไม่ค่อยจะยอม Haircut ง่ายๆ แต่ในภาวะนี้ เรามีโอกาสต่อรองสูง เพราะเขาก็ไม่รู้จะเอาเครื่องบินไปทำอะไร มันล้นเหลือเบะทั้งโลก ยกตัวอย่าง ตอนนี้ เจ้ายักษ์ A380 ที่ปกติราคาลำละ $309 ล้าน ตอนนี้ราคามือสองเหลือ $60 ล้านยังหาคนซื้อไม่ได้ และเราดันซวยที่หกลำดันเป็นเจ้าของเองซะอีกเพราะมันเป็นรุ่นที่น่าโละทิ้งที่สุด
เรื่องที่สอง.... คือการบินไทยต้องวางแผนวางกลยุทธอย่างเร่งด่วนว่า ในระยะสั้น (หนึ่งปี) กับระยะกลาง (สามปี) ที่จะกลับมาเปิดดำเนินการบินใหม่นั้น จะเปิดอย่างไร เส้นทางไหนบ้าง อย่างไร (ผมคิดว่า แผนระยะยาวยี่สิบปีอย่าเพิ่งไปให้ความสำคัญมาก เพราะเราไม่มีทางคาดการณ์อะไรได้เลย คาดไม่ได้แม้ว่า ในหนึ่งปีข้างหน้าเราจะต้องเปิดปิดเมืองอีกกี่ครั้งกี่คราว) ในความคิดของผม เบื้องต้นเราอาจจะต้องหดตัวขนานใหญ่ เช่น อาจลดฝูงบินจากร้อยลำ (รวมไทยสมายล์) เหลือแค่หกสิบลำ ลดเส้นทางเอาที่ค่อนข้างแน่ใจว่ามีผู้โดยสาร มีกำไรพอ ซึ่งการวางแผนนี้ จริงๆต้องใช้ข้อมูลจำนวนมากทั้งของอุตสาหกรรม ทั้งของการบินไทยเอง (ซึ่งผมไม่แน่ใจว่ามีการเก็บข้อมูลไว้แค่ไหน) กับอาจต้องใช้เครื่องมือพวก AI พวก Optimization Model ต่างๆ ซึ่งตรงนี้ผมค่อนข้างแน่ใจว่าการบินไทยไม่มีความเชี่ยวชาญ ไม่มีคนที่มีความรู้เพียงพอ จึงอาจต้องใช้บริการของบริษัทที่ปรึกษาระดับโลกที่เก่งเรื่องอุตสาหกรรมการบิน ยอมมีค่าใช้จ่ายบ้าง หรือไม่ถ้าสามารถว่าจ้าง Strategist เก่งๆที่มีประสบการณ์เข้ามาทำงานประจำเลยด้วยได้ยิ่งดี (ซึ่งผมรู้ว่ามี Strategist เก่งๆที่อยากมาร่วมงานกับการบินไทยหลายคนเพราะเขารู้ว่าสามารถปรับปรุงพัฒนาได้มาก แต่โดนคนในเตะสกัดขัดขวางมาตลอดเพราะตัวเองอยากได้ตำแหน่งนึกว่าทำเองได้ เป็นเรื่องง่าย รวมทั้งบอร์ดบางคนด้วย) แผนที่ได้นี้จะต้องเป็นแผนที่มี Agility (ความคล่องตัว) และมี Resilient (ความยืดหยุ่น) สูง เพราะจะต้องปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลาสำหรับภาวะที่คาดการณ์ไม่ได้ ขอยกตัวอย่างความยืดหยุ่นสูง ตอนที่เกิดเหตุปากีสถานปิดน่านฟ้ากะทันหันเมื่อต้นปี 2019 การบินไทยต้องเรียกเครื่องบินที่อยู่บนฟ้ากลับต้นทางหลายลำ และยกเลิกเที่ยวบินอีกกว่ายี่สิบเที่ยวบิน ทำให้เสียหายหลายร้อยล้านบาท ในขณะที่ Singapore Airline (SQ) ที่ใช้เส้นทางเดียวกันไปยุโรปต้องยกเลิกเที่ยวบินแค่สองเที่ยว ที่เหลือ Divert ไปเส้นทางอิหร่านได้ทั้งหมด ประกาศความเสียหายแค่สี่ล้านบาท ซึ่งนอกจากวางแผนระยะสั้นให้ดีแล้ว ยังต้องมีความยืดหยุ่นสูง พิสูจน์ว่ามีความคล่องตัวปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ ไอ้ประเภทแผนตายตัวยี่สิบปีทุกคนต้องทำตามแบบแผนยุทธศาสตร์ชาติไม่มีทาง work
เรื่องที่สาม การระดมเงินสดเพื่อใช้เปิดดำเนินการใหม่ หลังจากมีแผนและเจรจากับเจ้าหนี้รวมทั้งให้ศาลอนุมัติแผนแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดซึ่งต้องอยู่ในแผนด้วย คือการระดมเงินสดให้เพียงพอที่จะใช้เปิดดำเนินการได้ไประยะหนึ่ง (ผมคิดว่าหกเดือน เพราะต้องรอประเมินผลว่าเป็นไปได้ตามแผนหรือไม่ เพื่อคนใส่เงินจะได้ควบคุมแผนและความเสี่ยงได้) ผมขอประมาณเบื้องต้นว่าต้องได้เงินทันทีห้าหมื่นล้านบาท เพราะการดำเนินงานต่อจากนี้ต้องใช้เงินสดแทบทั้งนั้น เพราะเครดิตไม่เหลือแล้ว ยกเว้นรัฐจะจัดคำ้ประกันหรือจัด Bridge Financeให้บ้าง ซึ่งก่อนที่รัฐจะใส่เงินก้อนใหม่นั้นสิ่งที่ควรทำก่อนคือการลดทุนเดิมลงทั้งหมดหรือเกือบหมด เพื่อล้างขาดทุนสะสมส่วนใหญ่เสีย เพื่อจูงใจตอบแทนผู้ใส่เงินใหม่ และจะเป็นการดีในการเริ่มชีวิตใหม่ วัดผลอนาคต ไม่ต้องนั่งแบกตราบาปแต่หนหลัง (การทำเช่นนี้เป็นไปตามมาตรฐานสากลด้วย เพราะรัฐที่ใส่เงินใหม่จะเป็นเจ้าของทั้งหมด) แต่ทั้งนี้ถ้าจะให้ยุติธรรมอาจให้สิทธิ์ผู้ถือหุ้นเดิมที่จะเลือกเพิ่มทุน ใส่เงินด้วยตามสัดส่วนก่อนลดทุน เช่นในกรณีนี้ ก็จะได้สิทธิ์ใส่เงิน 12,500 ล้านบาทในราคาและเงื่อนไขเดียวกับที่รัฐใส่ ซึ่งถ้ามีคนที่เลือกไม่ใส่รัฐก็จะใส่แทน ในกรณีนี้รัฐก็จะถือหุ้นอย่างน้อย 52% (รวมนอมินีวายุภักษ์) อย่างมาก 80%(ให้เจ้าหนี้ไป 20%) ทั้งนี้ นอกจากใส่เงินทันทีห้าหมื่นล้านแล้ว รัฐอาจจะต้องให้ความมั่นใจด้วยว่า ถ้าแผนเดินไปด้วยดี เมื่อครบหกเดือน หากเงินหมด รัฐพร้อมจะใส่เพิ่มอีกห้าหมื่นล้านในเงื่อนไขคล้ายของเดิม (หรืออาจเป็นวงเงินให้กู้หรือคำ้ประกัน) ถ้าทำดังนี้ได้ก็จะช่วยให้การบินไทยมีเงินสดและสถานะการเงินพอที่จะเริ่มเปิดดำเนินการใหม่ได้ (ข้อเสียก็คือ การที่รีบผลีผลามออกจากการเป็นรัฐวิสาหกิจอาจจะทำให้รัฐติดข้อกฎหมายบางประการที่จะให้กู้หรือลงทุนเพิ่ม)
เรื่องที่สี่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากและสำคัญที่สุด คือการดำเนินการตามแผน และผ่าตัดยกเครื่ององค์กรในทุกๆด้าน เพื่อให้มีการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีต้นทุนต่ำ และกลับมามีกำไรได้เหมือนคนอื่นเขา
สามารถอ่านรายละเอียดฉบับเต็มได้ที่นี่

logoline