svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ย้อนไทม์ไลน์ "ศึกใน" พปชร. - จับตาสายบิ๊กป้อมขยับ

03 มิถุนายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ย้อนไทม์ไลน์ปัญหาภายในพรรคแกนนำรัฐบาล "พลังประชารัฐ" ก่อนเปิดฉากซัดกันนัว ต้นเหตุมาจากอะไร จริงหรือที่ว่า "พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์" จะยึดพรรคเพื่อต่อท่ออำนาจ หรือจำเป็นต้องสยบความขัดแย้งของกลุ่มก๊วนการเมือง

ปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ ตกเป็นข่าวครึกโครมมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายน ต้นสายปลายเหตุจากการสอบถามแกนนำพรรคหลายๆ คน พูดตรงกันว่า ภายในพรรคมีปัญหาขัดแย้ง และ ส.ส.ไม่ค่อยพอใจการทำงานของหัวหน้าและเลขาธิการพรรค เนื่องจากไม่ได้เป็น ส.ส. จึงอาจไม่เข้าใจการทำงานของผู้แทนราษฎร ทำให้ ส.ส.รู้สึกโดดเดี่ยว ทั้งๆ ที่ในช่วงวิกฤติโควิด-19 พรรคต้องใช้ ส.ส.ในการทำงานในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือประชาชน
ช่วงนั้นเป็นเวลาใกล้เคียงกับการย้ายอาคารที่ทำการพรรคใหม่ จากย่านรัชโยธิน มาเป็นตึกตรงข้ามศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ซึ่งเป็นตึกของ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง โดยที่ชั้นบนมีห้องทำงานของนายกฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และของ "บิ๊กป้อม" พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานยุทธศาสตร์พรรค แต่ไม่มีห้องพิเศษสำหรับหัวหน้ากับเลขาธิการพรรคคนปัจจุบัน ทำให้เกิดข่าวลือว่าอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้บริหารพรรค
ในวันทำบุญเปิดอาคาร มีข่าวว่า พลเอกประวิตร ได้เชิญนายอุตตมไปพูดคุย และขอให้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค เพราะภายในพรรคมีปัญหาแบ่งแยกเป็นหลายกลุ่มก๊วน ไม่มีเอกภาพ และเสี่ยงมีความขัดแย้งกัน ซึ่งเบื้องต้นนายอุตตมก็รับปาก และเปรยว่าที่ผ่านมางานที่กระทรวงการคลังล้นมือ ทำให้ไม่มีเวลาทำงานให้พรรคและดูแล ส.ส. แต่หลังจากนั้นไม่กี่วัน ก็มีข่าวใหญ่ทางสื่อบางแขนงว่า "บิ๊กป้อม" เตรียมยึดพรรค จากนั้นก็มีข่าวตามมาว่า ทั้งนายอุตตม และนายสนธิรัตน์ ไม่ยอมลาออก

ตลอดเดือนพฤษภาคมมีข่าววุ่นๆ จากภายในพรรคพลังประชารัฐออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข่าวการให้กรรมการบริหารพรรคในสาย "บิ๊กป้อม" ส่งใบลาออกเอาไว้ก่อน และมีการเช็คเสียงวัดพลัง ปรากฏว่ายังก้ำกึ่งกัน ฝ่ายละ 14 เสียง โดยมีกลุ่มกลางๆ คือ "กลุ่มผู้กอง" อีก 6 เสียงเป็นตัวแปร โดยในช่วงแรก กลุ่มสามมิตรที่นำโดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อยู่ฝั่งสนับสนุนนายอุตตม เนื่องจากเป็นทีมทำงานของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หนึ่งในสามแกนนำผู้ก่อตั้งกลุ่มสามมิตร
ช่วงนั้นมีการปล่อยข่าวลือประเด็นต่างๆ มาตลอด แต่ส่วนใหญ่เป็นข่าวแง่ลบกับฝั่ง "บิ๊กป้อม" ส่วนกลุ่มที่สนับสนุนให้เปลี่ยนหัวหน้าพรรคอย่าง นายสุชาติ ชมกลิ่น ประธาน ส.ส. ก็ออกมาระบายความอัดอั้น และมีไลน์หลุดจากกลุ่มของตัวเองที่ตำหนิการทำงานของหัวหน้าพรรค แต่ก็ยืนยันว่าทุกอย่างจบแล้ว
แต่หลังจากนั้นก็ยังมีข่าวลือออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยนำไปเชื่อมโยงกับการปรับคณะรัฐมนตรี และมีการปล่อยรายชื่อในโผ ครม.ใหม่ออกมา เน้นไปที่บุคคลที่ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ทำให้ฝ่ายที่สนับสนุน "บิ๊กป้อม" ยิ่งถูกด่าวิจารณ์อย่างหนัก

กระทั่งช่วงปลายเดือนพฤษภาคม มีข่าวว่าแกนนำกลุ่มสามมิตร ทั้งนายสมศักดิ์ และนายสุริยะ ได้แสดงจุดยืนพร้อมสนับสนุนฝ่าย "บิ๊กป้อม" ทำให้ฝั่งที่ต้องการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคมีเสียงมากกว่าทันที แต่การรวบรวมใบลาออกก็ยังดำเนินอยู่อย่างเงียบๆ ต่อไป ซึ่งสุดท้ายกรรมการในสายของ "ผู้กองธรรมนัส" ก็ยอมส่งใบลาออกด้วย กระทั่งมีการเปิดเผยรายชื่อกรรมการบริหารพรรคที่ยื่นใบลาออกเกินครึ่ง เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ทำให้หัวหน้าพรรคและผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ภายในพรรค ต้องพ้นสภาพไปโดยปริยาย และต้องจัดประชุมใหญ่พรรคเพื่อคัดเลือกกรรมการบริหารชุดใหม่ภายใน 45 วัน
แต่ปัญหายังไม่จบ ยังคงเกิดประเด็นคาใจจากกลุ่มผู้กองธรรมนัส ว่าเหตุใดจึงมีชื่อพวกเขายื่นใบลาออก แต่กลับไม่มีชื่อของกลุ่มที่เคลื่อนไหวให้เปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคเลยแม้แต่คนเดียว ทำให้ ร้อยเอกธรรมนัส รู้สึกว่าถูกหักหลัง และบอกว่ามีบางกลุ่มพยายามเสี้ยมทำให้พรรคแตกแยก

logoline