svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

จาก"นิพัทธ์"ถึง"สุชาติ" มาตรฐานตั้งกก.องค์กรอิสระอยู่ที่ไหน?

03 มิถุนายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ประเด็นการตีความผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ในยุค คสช.ที่เสนอตัวเข้ารับการคัดเลือกเป็นกรรมการองค์กรอิสระต่างๆ ว่าสามารถดำรงตำแหน่งกรรมการองค์กรอิสระได้หรือไม่นั้น กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในแวดวงกฎหมาย รวมถึงวุฒิสภา เพราะคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. กับคณะกรรมการสรรหา กสม. หรือกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตีความเรื่องนี้ไม่เหมือนกัน ทั้งๆ ทีเป็นคุณสมบัติสำคัญที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ในการดำรงตำแหน่งกรรมการองค์กรอิสระทั้งสององค์กร

เนื่องจากคณะกรรมการสรรหา กรรมการ ป.ป.ช. เห็นชอบให้ นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งมีนบุรี ซึ่งเคยเป็น สนช. เมื่อปี 59-62 ผ่านคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. อีกทั้งวุฒิสภาก็โหวตผ่านให้แล้วด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น
แต่อีกด้านหนึ่ง คณะกรรมการสรรหา กสม. หรือกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ประชุมนัดแรกไปเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา กลับมีมติเสียงข้างมากว่า พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งเคยเป็น สนช.ระหว่างปี 57-62 มีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญํติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฯ ทำให้ขาดคุณสมบัติ
ประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการสรรหา กสม. ตีตกชื่อของ พลเอกนิพัทธ์ ก็คือ ตีความว่าเคยดำรงตำแหน่ง สนช. และพ้นจากตำแหน่งมายังไม่ถึง 10 ปี เนื่องจาก สนช.คือตำแหน่งเดียวกับ ส.ส. และ ส.ว.

ประเด็นที่น่าสังเกตก็คือ เนื้อความในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ เหมือนกันทุกประการ กล่าวคือ
กฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 11 กรรมการ ป.ป.ช. ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม "เป็นหรือเคยเป็น ส.ส. ส.ว. ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะ 10 ปี ก่อนเข้ารับการสรรหา"
ส่วน กฎหมาย กสม. มาตรา 10 กรรมการ กสม. ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม "เป็นหรือเคยเป็น ส.ส. ส.ว. ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะ 10 ปี ก่อนเข้ารับการสรรหา"
ปรากฏว่าคณะกรรมการสรรหา กสม. มองว่า ตำแหน่ง สนช. ก็คือ ส.ส.หรือ ส.ว.นั่นเอง จึงต้องพ้นจากตำแหน่ง 10 ปีก่อน ถึงจะรับตำแหน่งในองค์กรอิสระได้ / แต่คณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. กลับมองไปอีกแบบ
คำถามคือ มาตรฐานอยู่ตรงไหน หรือเรื่องนี้น่าจะต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครอง

ความเห็นตอนนี้แตกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายแรกเห็นว่า สนช.ก็คือ ส.ส. และ ส.ว.นั่นเอง จึงไม่น่าจะมีคุณสมบัติเป็นกรรมการองค์กรอิสระ หากยังพ้นตำแหน่งไม่ถึง 10 ปี
หัวขบวนของการตีความแบบนี้ คือ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เหตุผลของนายศรีสุวรรณก็คือ
- ป.ป.ช.เคยมีความเห็นว่า สนช.ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ที่บัญญัติให้ สนช.ทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา จึงมีหน้าที่ยื่นแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินพร้อมเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.
- รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 263 ได้บัญญัติว่า ในระหว่างที่ยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ยังคงทำหน้าที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาต่อไป โดยให้การทำหน้าที่สิ้นสุดลงในวันก่อนวันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นตามรัฐธรรมนูญนี้
- แนวทางที่นายศรีสุวรรณจะเดินหน้าต่อไป คือยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองชี้ขาด

logoline