svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

จลาจลสหรัฐ ซ้ำเติมโควิด-ฉุดเรทติ้งเลือกตั้ง "ทรัมป์"

02 มิถุนายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เหตุจลาจลที่กระจายไปในหลายสิบเมืองในอเมริกา ถูกมองจากนักวิเคราะห์ทางการเมืองว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เกิดขึ้น แต่เป็นความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาเก่าพื้นฐานของสหรัฐ กับสถานการณ์ความยากลำบากในปัจจุบันจากพิษโควิด-19 เจือด้วยประเด็นทางการเมืองกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในช่วงปลายปี




อาจารย์กฤษฎา บุญเรือง อาจารย์อิสระภาควิชารัฐศาสตร์ และที่ปรึกษาการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นคนไทยที่อาศัยในแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย บอกกับเนชั่นทีวีว่า จอร์เจียเปรียบเสมือนศูนย์กลางด้านสิทธิมนุษยชนของสหรัฐ และเป็นสัญลักษณ์แห่งการประท้วงที่สำคัญ โดยผู้ประท้วงหลายพันคนใน 20 กว่ารัฐทั่วอเมริกา มีบางส่วนที่แสดงพฤติกรรมเผารถตำรวจ ทุบกระจกของอาคารต่างๆ และปล้นสะดมสินค้า แต่นั่นเป็นกลุ่มคนบางกลุ่มเท่านั้น เพราะต้องยอมรับว่ามีพวกฉวยโอกาสก่อเหตุอาชญากรรมรวมอยู่ด้วยส่วนคนที่ประท้วงจริงๆ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้ จอร์จ ฟลอยด์ ไม่มีใครอยู่เบื้องหลัง เป็นการออกมารวมตัวกันเองของผู้คนเอง และเป็นคนหลากหลายสีผิว ไม่เว้นแม้แต่ลูกสาวของตนก็ออกไปร่วมประท้วงเช่นกัน โดยลูกสาวเล่าว่าแม้กลุ่มผู้ประท้วงจะพยายามรักษามารยาทและความสงบในการประท้วง พร้อมทั้งรักษาระยะห่างทางสังคม เพื่อป้องกันโรคระบาดโควิด-19 แต่ก็จะมีคนบางกลุ่มแสดงออกด้านความรุนแรงอาจารย์กฤษฎา บอกต่อว่า อีกหนึ่งสาเหตุที่เป็นชนวนก่อให้เกิดการประท้วง ก็คือพิษจากไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้คนอดยาก ตกงาน และคนกลัวว่าชีวิตต่อจากนี้จะเป็นไปอย่างไร ทำให้เกิดความตรึงเครียด และปะทุขึ้นมาเมื่อเกิดการเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ จนทำให้น้ำมันเดือด ซึ่งตนมองว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และการถูกรังแกของคนผิวสีจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นอีกหนึ่งไวรัสที่แพร่ระบาดมานานแล้ว แต่ถูกพิษเศรษฐกิจยุคโควิดมากระหน่ำเข้าไปอีก




"ปัญหาความเหลื่อมล้ำต่ำสูง หรือปัญหาการใช้อำนาจเกินกว่าเหตุของผู้บังคับใช้กฎหมายในสหรัฐ โดยเฉพาะกับกลุ่มคนผิวนีนั้น เป็นโรคระบาดที่มีพื้นฐานมาก่อนแล้วในอเมริกา เมื่อมาเกิดขึ้นในช่วงนี้ซึ่งมีปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตของผู้คนจำนวนมาก และกระทบกับเศรษฐกิจสหรัฐอย่างแรง จึงเหมือนเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์"


"ฉะนั้นหากจะสรุปเบื้องต้นว่าสถานการณ์โควิดและปัญหาเศรษฐกิจมาซ้ำซ้อนกับปัญหาสังคมที่เป็นพื้นฐานอยู่แล้วก็คงไม่ผิด นอกจากนั้นยังมีการเมืองในอเมริกาที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ เป็นอีกเหตุปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เหตุการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นรุนแรงและแตกต่างจากครั้งอื่นๆ ที่ผ่านมา" นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกา กล่าวอาจารย์กฤษฎา บอกต่ออีกว่า มีข้อน่าสังเกตที่น่าสนใจ คือขณะนี้นักการเมืองจากพรรครีพับลิกันเริ่มกล้าแสดงออกในการตำหนิประธานาธิบดีมากขึ้น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ใหม่ ขณะที่ โดนัลด์ ทรัมป์ เองก็ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้รับการเลือกตั้งอีกสมัยหนึ่ง เพราะหากหลุดจากตำแหน่ง ก็จะมีปัญหาต่างๆ รุมเร้าทันที แต่โอกาสของทรัมป์มีน้อยลง เนื่องจากการรับมือกับโรคระบาดสะท้อนถึงความบกพร่องในการทำงาน ส่งผลให้คะแนนนิยมก่อนหน้านี้มีราวๆ 40%

ต่อมาเมื่อมีเหตุประท้วงเรื่องสิทธิมนุษยชนจากการเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ การรับมือกับเรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นอีกว่าทรัมป์ใช้ความเกรี้ยวกราดแทนการประนีประนอมเพื่อสามัคคี เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้นจึงแทบเป็นไปไม่ได้ เวลาอีก 154 วันจนถึงวันเลือกตั้ง 3 พฤศจิกายน หากไม่มีอะไรพลิกล็อกมากนัก สหรัฐคงได้เปลี่ยนประธานาธิบดี


ส่วนจุดจบของสถานการณ์นี้นั้น อาจารย์กฤษฎา บอกว่า ไม่เคยคิดเลยว่าจะเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น เมื่อเกิดแล้วก็เห็นว่าบานปลายจนกลายเป็นความน่ากลัว เพราะการประท้วงมีการขยายตัวออกเป็นวงกว้าง ซึ่งทั้งหมดมาจากความอึดอัดจนกลั้นไม่ไหวของประชาชน


แนวทางการแก้ไขปัญหานี้ต้องอาศัยตัวผู้นำที่มีความหนักแน่นและน่าเชื่อถือ ออกมาพูดให้ประชาชนประสานความสามัคคี แต่ประธานาธิบดีคนปัจจุบันไม่ได้เป็นแบบนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่จะจบปัญหา และหลังจากนี้หากมีคลิปที่เจ้าหน้าที่กระทำรุนแรงต่อประชาชน หรือการเผยแพร่คำสั่งของประธานาธิบดีที่ตีความได้ว่าอนุมัติให้ใช้ความรุนแรง การประท้วงจะกลายเป็นไฟลามทุ่งจนรับไม่ไหว ยิ่งมีการประกาศให้กลุ่มประท้วงกลายเป็นกลุ่มก่อการร้าย ยิ่งทำให้หลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์ความดื้อดึงของทรัมป์ และแน่นอนว่าสถานการณ์นี้จะลุกลามไปถึงศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในช่วงปลายปีนี้อย่างแน่นอน


อาจารย์กฤษฎา บอกด้วยว่า สถานการณ์เลวร้ายในสหรัฐทำให้ความพยายามเปิดประเด็นใหม่นอกประเทศในเรื่องจีนและฮ่องกงเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนชาวอเมริกันไม่ประสบความสำเร็จ เพราะตอนนี้ไม่มีใครพูดถึงเรื่องฮ่องกงหรือสงครามการค้าเลย


PLAYLIST : จลาจล "สหรัฐ" ทรัมป์จะทำอย่างไร ?

logoline