svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

วิถีใหม่ร้านเหล้ายุคโควิด...คือการปิดกิจการ?

30 พฤษภาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ตามกันต่อกับประเด็นเกาะติดของ "เนชั่นทีวี" เกี่ยวกับวิถีใหม่ new normal ที่ภาครัฐกำลังระดมสมองกำหนดรูปแบบการจัดสถานที่และมาตรการป้องกันโควิด-19 ให้กับกิจการต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มสถานบันเทิง / ผับ / บาร์ / คาราโอเกะ ก่อนหน้านี้ เราพูดคุยกับฝั่งรัฐและสาธารณสุขไปแล้ว แต่เราไปฟังเสียงฝั่งผู้ประกอบการกันบ้าง โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า...คุ้มค่าไหม หากจะต้องกลับมาให้บริการอีกครั้งภายใต้ข้อจำกัดมากมาย ติดตามได้จากรายงานพิเศษของ คุณอนุรักษ์ เพ็ญสวัสดิ์

"ถ้ามันมีข้อแม้เยอะขนาดนั้น ร้านเล็กๆ แบบผม เปิดร้านไปก็คงไม่คุ้ม""ถ้าเปิดร้านแล้วไม่คุ้มก็คงไม่เปิด เพราะปัญหาเยอะขึ้น ที่ผ่านมาเราต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ทั้งพนักงาน ค่าเช่าที่อยู่เหมือนเดิม"

เสียงสะท้อนจากปากเจ้าของร้านเหล้าขนาดกลางและเล็กย่านชานเมือง ที่บอกเล่าถึงความลำบากกับมาตรการผ่อนปรนที่รัฐบาลเตรียมกำหนดให้แต่ละสถานบันทิงต้องปฏิบัติตาม เพื่อจะนำไปพิจารณาให้มีการผ่อนปรนเปิดสถานบันเทิงอีกครั้งในระยะต่อไป

หากมองย้อนกลับไป ภาพที่เราคุ้นตาตามร้านเหล้า ผับ บาร์ คือการรวมตัวสังสรรค์ ดื่มกินกันเป็นกลุ่มก้อน แต่ในยุคโควิดทำให้แนวคิดเรื่องสุขภาพและอนามัยต้องมาก่อน วิถีใหม่ที่จะเกิดกับร้านเหล้า ทำให้ผู้ประกอบการคิดหนักว่าจะสามารถควบคุมระเบียบวินัยของนักดื่มได้ขนาดไหน และค่าใช้จ่ายในการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค จะเพิ่มต้นทุนไปอีกเท่าไหร่ เพราะภาระทั้งหมดตกอยู่กับผู้ประกอบการ หากเปิดให้บริการแล้วอาจไม่คุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ลงทุนไป จึงเริ่มมีกระแสเรียกร้องให้รัฐบาลยื่นมือเข้ามาช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในส่วนนี้

น.ส.หนึ่งฤทัย บัวงาม เจ้าของร้าน Tropicalla บอกว่า รายรับที่ได้คงไม่เพียงพอกับรายจ่าย เพราะต้องจ้างทั้งพ่อครัว เด็กเสิร์ฟ หรือแม้แต่คนทำความสะอาด โดยเฉพาะห้องน้ำที่ต้องให้ความสำคัญที่อาจจะต้องจ้างคนมาเพิ่ม ค่าใช้จ่ายเท่าเดิม แต่รายรับน้อยลง เพราะลูกค้าน้อยลงแน่ๆ
ตนมองว่า รายได้หายไปเกินครึ่งหนึ่ง และก่อนที่จะเปิดร้านได้จะต้องมีค่าใช้จ่ายกับอุปกรณ์ป้องกันต่างๆ ตนอยากจะขอให้รัฐบาลเข้ามาช่วยดูแลค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ด้วย ถ้าถามว่าเปิดร้านจะคุ้มค่าหรือไม่ ขอยืนยันว่าไม่คุ้มแน่นอน ซึ่งเจ้าของกิจการต้องมาแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งหมด และตัวผู้ประกอบการยังไม่ได้รับการเยียวยาอะไรทั้งสิ้น


ไม่ต่างจากเจ้าของร้านเหล้าขนาดเล็กย่านแจ้งวัฒนะ ที่มองว่า หากภาครัฐมีรายละเอียดข้อบังคับจำนวนมาก ร้านของเขาก็คงไปไม่รอด โดยเจ้าของร้าน "เบรคแตก คาเฟ่" ระบายความในใจว่า ร้านเหล้ามันบังคับไม่ได้หรอก การมาดื่มกัน เป็นการมาหาความสุข หากรัฐบาลมีข้อบังคับเกี่ยวกับการจัดอุปกรณ์ ติดตั้งเครื่องระบายอากาศ หรือแม้แต่จำกัดจำนวนลูกค้า สถานประกอบการขนาดเล็กแบบตน ไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่า หลังเปิดให้บริการแล้วจะมีลูกค้ามากน้อยแค่ไหน หากเราลงทุนไป มันจะคุ้มหรือไม่ นี่ยังไม่รวมค่าจ้างพนักงานเพิ่ม แต่หากรัฐบาลยื่นมือเข้ามาช่วยในบางเรื่อง เช่น ค่าใช้จ่ายอุปกรณ์ป้องกันต่างๆ ถ้ามันมีข้อแม้เยอะขนาดนั้น ร้านเล็กๆแบบผม เปิดร้านไปก็คงไม่คุ้ม


ขนาดเจ้าของร้านในฐานะผู้ประกอบการยังคิดหนักว่าจะกลับมาเปิดบริการได้หรือไม่ จึงไม่แปลกที่กลุ่มพนักงานเด็กเสิร์ฟจะต้องเครียดยิ่งกว่า เพราะต้องตกงาน ไม่มีรายได้มานานหลายเดือน...เสียงสะท้อนจากคนกลางคืนที่เปรียบเสมือนฟันเฟืองตัวเล็กๆ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคบริการของประเทศ ช่างแผ่วเบาและสิ้นหวังเสียจริงๆ


logoline