svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ไชยา"ส.ส.เพื่อไทยซัดรบ.ไม่จริงใจเยียวยา SMEs

30 พฤษภาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ไชยา" ส.ส.หนองบังลำภู พรรคเพื่อไทย ชี้วิกฤติโรคโควิด-19 รุนแรงกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง ซัด พ.ร.ก.Soft Loan รัฐบาลไม่จริงใจเยียวยาช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย

(30 พฤษภาคม 2563) นายไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นับว่ามีความรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบให้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกสูงถึง 5 ล้านคน และมีผู้ที่เสียชีวิต 3 แสนคน และมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของโลกในปี 2563 มีแนวโน้มที่จะหดตัวและชะลอตัวอย่างรุนแรง โดยเฉพาะประเทศที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 รุนแรงในระดับสูง เช่น สหรัฐอเมริกา ทวีปยุโรป ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นประเทศคู่ค้ากับประเทศไทย โดยวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยและโลกเท่านั้น ยังกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลก สำหรับประเทศไทยเกิดผลกระทบเกิดขึ้นแทบทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต ภาคการบริการ ตลอดจนภาคประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ต้องขาดรายได้ ซึ่งเกิดจากการหยุดของกิจการ ตัวเลขมีการคาดการณ์ว่าจะมีคนตกงานเกือบ 10 ล้านคน ขณะเดียวกัน รวมถึงการท่องเที่ยว ภาคบริการ การส่งออก ตลอดจนภาคการเกษตรทรุดตัวอย่างหนัก สิ่งเหล่านี้ คือ ความจริงที่ปรากฎและไม่อาจที่จะหลีกเลี่ยงได้ ความเสียหายทางเศรษฐกิจครั้งนี้มีการคาดการณ์จากศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จะก่อหนี้ที่ไม่ก่อรายได้สูงเพิ่มขึ้นเกิน 1 ล้านล้านบาท เนื่องจากความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ของลูกหนี้นั้นลดลง ซึ่งเกิดจากสาเหตุของการหยุดกิจการ การขาดรายได้ หนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มสูงขึ้น 

"ไชยา"ส.ส.เพื่อไทยซัดรบ.ไม่จริงใจเยียวยา SMEs

"มีการวิเคราะห์และเทียบเทียมว่าเศรษฐกิจของไทยจากสถานการณ์โควิด-19มีความรุนแรงมากกว่าวิกฤติการต้มยำกุ้ง ครั้งนี้นับว่ารุนแรงและส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไปอีกยาวนาน ซึ่งเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ การส่งออก การท่องเที่ยว การบริโภคภายในประเทศ การใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุนใหม่ จะเห็นได้ว่าทุกตัวดับสนิท มาตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์วิกฤติโควิด-19 ภายใต้การบริหารอันล้มเหลวของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี" นายไชยา กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อเกิดการแพร่ระบาดสถานการณ์ยิ่งซ้ำเติมให้เลวร้ายยิ่งขึ้น เศรษฐกิจของไทยนอกจากได้รับผลกระทบจากรายได้ของภาคการส่งออกและท่องเที่ยวแล้ว อีกทั้งยังได้รับผลกระทบที่เกิดจากมาตรการต่างๆในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19จากภาครัฐ โดยเฉพาะมาตรการล็อคดาวน์ แม้ว่าจะได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จนสามารถทำให้การควบคุมเป็นผลอย่างน่าพอใจก็ตาม แต่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือผลกระทบจากเศรษฐกิจ

ส่วนมาตรการของรัฐบาลที่ออกมาครั้งนี้ โดยเฉพาะ พ.ร.ก.ให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จะเกิดประโยชน์สูงสุดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลมองปัญหาการแก้ไขให้ครอบคลุมทุกมิติของผู้ประกอบการอย่างถูกต้องและตรงจุดหรือไม่ ซึ่งความสำคัญของบทบาทเอสเอ็มอีไทยเปรียบเสมือนสายเลือดหล่อเลี้ยงร่างกายให้มีความเจริญเติมโต เพราะเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ สาระสำคัญของ พ.ร.ก.ฉบับนี้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดสภาพคล่องต่อเอสเอ็มอี สามารถดำเนินกิจการได้อีกต่อไป เพื่อให้เกิดภาคการผลิตและการจ้างงานหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจของประเทศภายใต้สถานการณ์โควิด-19
"มาตรการดังกล่าวนี้ดูเหมือนว่ารัฐมีความจริงใจในการแก้ปัญหา แต่เมื่อดูในรายละเอียดแล้วจะเห็นว่าเงื่อนไขต่างๆที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดนั้น จะทำให้ลูกค้ารายใหญ่ของภาคธุรกิจเอสเอ็มอี สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ ดังนั้น ด้วยเหตุผลเงื่อนไขนี้ แสดงว่าคนได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้ส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้ารายเดิม ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ และ พ.ร.ก.ฉบับนี้ยังมีข้อบกพร่องที่อาจจะเป็นการเปิดช่องให้มาตรการนี้ไปตกอยู่ในมือของผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นส่วนมาก ทำให้ไม่สามารถกระจายเม็ดเงินไปยังผู้ประกอบการรายย่อยได้ เพราะรัฐบาลไม่รอบคอบ เนื่องจากไม่ได้กำหนดคำนิยามของเอ็สเอ็มอี ให้ถูกต้องตามความเป็นจริงตั้งแต่ต้น แสดงให้เห็นว่ารัฐฐาล ไม่มีความจริงใจจะเยียวยาผู้ประกอบการรายย่อยอย่างแท้จริง เพราะมาตรการนี้ให้เงื่อนไขพิเศษกับรายใหญ่ ทำให้ขนาดเล็กไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้"นายไชยา ระบุ

logoline