svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

สงครามหั่นราคาข้าว 'ทุบ' ส่งออกไทยเหลือ 7 ล้านตัน

29 พฤษภาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ตลาดส่งออกข้าวแข่งขันราคาเดือด หลังอินเดียสต็อกล้นทำหั่นราคาข้าวต่ำกว่าคู่แข่ง คาดคว้าประมูลข้าวฟิลิปปินส์ 3 แสนตัน ส่วนไทยกับเวียดนามไม่น่าจะคว้าประมูลรอบนี้ พร้อมหั่นเป้าส่งออกข้าวทั้งปี 63 เหลือ 7 ล้านตัน ส่วนราคาข้าวเปลือกแนวโน้มลด จากผลผลิตเพิ่ม

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า สถานการณ์ตลาดข้าวไทยในช่วงครึ่งปีหลังไม่ค่อยสดใส ล่าสุดได้มีการหารือกับกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ แล้ว โดยจะขอปรับลดเป้าหมายการส่งออกเหลือ 7 ล้านตัน จากเดิมที่มีการประเมินช่วงต้นปีคาดว่าไทยจะส่งออกได้ 7.5 ล้านตัน เนื่องจากตลาดข้าวมีการแข่งขันทางด้านราคาดุเดือด ในขณะที่ราคาข้าวไทยห่างจากคู่แข่งที่เป็นประเทศผู้ส่งออกอยู่มาก เนื่องจากอินเดียมีสต็อกข้าวเหลือจำนวนมากทำให้มีการระบายออกต่างประเทศ
ทั้งนี้ การแข่งขันในตลาดข่าวล่าสุดทางรัฐบาลฟิลลิปปินส์ได้เปิดประมูลนำเข้าข้าวหัก 25% แบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ปริมาณ 3 แสนตัน โดยในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่หน่วยงานนำเข้าข้าวจากฟิลิปปินส์ได้เชิญอินเดียเข้าร่วมเสนอราคาขายข้าวในการประมูลครั้งนี้ นอกเหนือจากไทยและเวียดนาม ซึ่งจะเปิดให้เสนอราคาในวันที่ 8 มิ.ย. 2563 นี้ โดยคาดว่าอินเดียน่าจะคว้าประมูลขายข้าว 3 แสนตันให้กับรัฐบาลฟิลิปปินส์ได้หมด เนื่องจากราคาข้าวอินเดียต่ำกว่าไทยและเวียดนามมาก
ทั้งนี้ หากคำนวนเงื่อนไขการประมูลราคารับซื้อข้าวของฟิลิปปินส์จะอยู่ที่ประมาณ 480 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (ซีไอเอฟ:รวมค่าขนส่งถึงหน้าโกดัง) ขณะที่ราคาข้าวชนิดดังกล่าวของไทยอยู่ที่ตันละ 487 ดอลลาร์สหรัฐ (เอฟโอบี:ส่งมอบ ณ ท่าเรือ) ดังนั้นหากจะรวมค่าขนส่งตามเงื่อนไข จะต้องเพิ่มอีกประมาณ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน หากไทยจะเสนอราคาจะเฉลี่ยที่ตันละเกือบ 550 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน อาจเสียเปรียบคู่แข่ง เช่น อินเดีย ที่ราคาข้าวอยู่ที่340 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน หากบวกค่าขนส่งแล้ว อินเดียก็จะเสนอราคาที่ใกล้เคียงกับเงื่อนไขที่ทางการฟิลิปปินส์กำหนด ขณะที่ผู้ส่งออกหลักอย่างเวียดนาม ก็อาจไม่สามารถชนะประมูลครั้งนี้ได้ เนื่องจากราคาข้าวเวียดนามเฉลี่ยที่ตันละ 440 ดอลลาร์สหรัฐ (เอฟโอบี) ใกล้เคียงกับไทย
"เราคงส่งราคาไปร่วมประมูลเพื่อรักษาความสัมพันธ์ทางการค้าไว้ เพราะเขาเชิญเรามาแล้ว แต่พิจารณาดูคงไม่น่าจะได้รับคำสั่งซื้อนี้เพราะราคาที่ฟิลิปปินส์กำหนดค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับราคาข้าวของไทยที่สูงกว่าคู่แข่งมาก และยังมีปัจจัยเรื่องกำหนดเวลาส่งมอบที่พบว่าค่อนข้างเร็ว แต่ไทยต้องรอผลผลิตใหม่ในเดือนส.ค. จึงเป็นข้อจำกัดอีกด้านหนึ่ง และหากเปรียบเทียบเมื่อช่วงต้นปีที่ฟิลิปินส์มีการนำเข้าข้าวไปแล้ว 7 แสนตัน พบว่าเวียดนามส่งออกข้าวให้ฟิลิปปินส์ได้ถึง 6 แสนตัน ส่วนไทยได้ไม่ถึง 1 แสนตัน เพราะราคาข้าวไทยสูงกว่า"
นายชูเกียรติ กล่าวว่า การส่งออกข้าวไทยในปีนี้ถือว่าค่อนข้างลำบาก จากเดิมที่ได้อานิสงส์ช่วงโควิด-19 เมื่อต้นปีทำให้หลายประเทศเก็บสต็อกข้าวเพื่อสำรองการบริโภค แต่ล่าสุดเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ทำให้มีการระบายข้าวออกมาจำนวนมาก ส่งผลให้ราคาตกต่ำ อีกทั้งผลผลิตข้าวไทยจากเดิมที่ได้รับผลกระทบภัยแล้งต้นปี แต่ขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนมีการเพาะปลูกข้าวเพิ่มขึ้น เพราะแรงงานที่ว่างงานจากผลกระทบโควิด-19 ก็กลับภูมิลำเนาหันมาปลูกข้าว ทำให้คาดว่าผลผลิตข้าวเปลือกนาปรัง รอง 2 ปี 2563 และผลผลิตข้าวนาปี 2563/64 จะมีผลผลิตเพิ่มมากขึ้น 10% ส่งผลกดดันต่อราคาข้าวเปลือกให้ปรับลดลง
สำหรับภาพรวมการส่งออกข้าวของไทย ตลาดข้าวนึ่งขณะนี้ก็ถูกอินเดียแย่งตลาดแอฟริกาไปเกือบหมด เนื่องจากราคาข้าวนึ่งอินเดียต่ำกว่าไทยเช่นกัน ส่วนราคาข้าวเปลือกในปัจจุบันอยู่ที่ 9,000 บาทต่อตัน ซึ่งลดลงต่ำกว่า 1 หมื่นบาทต่อตัน แต่ก็ยังถือว่าไม่ต่ำเกินไป
สำหรับการส่งออกตั้งแต่ ม.ค. -เม.ย. ไทยส่งออกลดลงไปแล้ว 32% โดย เม.ย.จะมีปริมาณส่งออกแล้ว 6.4 แสนตัน แม้ก่อนหน้านี้จะมีกระแสการเร่งนำเข้าข้าวจากประเทศต่างๆเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 แต่ขณะนี้สถานการณ์เริ่มคลี่คลายทำให้ความต้องการนำเข้าชะลอลงโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ทำให้สมาคมฯเตรียมหารือกับกรมการค้าต่างประเทศเพื่อปรับเป้าหมายการส่งออกข้าวปีนี้ใหม่ จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 7 ล้านตัน

logoline