svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"แอคติวิสท์" ลั่น ! เดือนเดียวถูกจับสองครั้ง ชี้เลือกปฏิบัติ

28 พฤษภาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"แอคติวิสท์" ชี้ การจับกุมผู้จัดกิจกรรมการเมือง 2 ครั้งในเดือนพฤษภาคมเป็นการเลือกปฏิบัติ ขาดการพิจารณาองค์ประกอบความผิด ลั่น เป็นการจำกัดสิทธิโดยใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นเครื่องมือ

(28 พฤษภาคม 2563) นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ นักกิจกรรมทางการเมือง ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนถึง นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร โดยนายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตามที่ปรากฎข่าวได้มีการจับกุม นายอนุรักษ์ เนื่องจากมีการจัดกิจกรรมทางเมืองในเดือนพ.ค. 2 ครั้ง คือ วันที่ 13 พ.ค. 2563 กับกิจกรรมจุดเทียนรำลึกการเสียชีวิตของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก บริวณจุดขึ้นลงรถไฟฟ้า MRT สีลม และวันที่ 2 พ.ค. 2563 คือ กิจกรรมดนตรีเปิดหมวกเพื่อหางินช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เนื่องในโอกาสครอบรอบ 6 ปีรัฐประหารที่บริเวณหน้าหอศิลป์นั้น ส่วนตัวซึ่งเป็นผู้ต้องหาทั้ง 2 คดี ขอเรียกร้องการปฏิบัติหน้าที่ของผู้มีส่วนร่วมในการจับกุมทั้งหมด ทั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการจับกุมที่เลือกปฏิบัติ โดยไม่พิจารณาถึงองค์ประกอบการกระทำผิด และเห็นว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกอย่างสงบในโอกาสสำคัญทางการมือง ซึ่งอาศัยพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นข้ออ้างของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดังนั้น จึงขอให้ข้อมูลต่อกมธ. พร้อมทั้งหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1.การจัดกิจกรรมลำลึกครบรอบ10ปี การเสียชีวิตของพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ในวันที่ 13 พ.ค. 2563 คดีนี้ตนได้เป็นผู้จัดกิจกรรม พร้อมจัดทำภาพกราฟฟิคเชิญชวนประชาชนมาร่วมอย่างสงบด้วยการจุดเทียน วางดอกไม้ยังจุดที่ พล.ต.ขัตติยะ เสียชีวิต บริเวณทางขึ้นลงรถไฟฟ้า MRT สถานีสลม 
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า พร้อมกับให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวไม่ให้ขัดต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯที่ออกโดยรัฐบาล เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขด้วยการสวมใส่หน้ากาก และนำเจลล้างมือไปให้ผู้ร่วมกิจกรรมล้างมือเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ เดินแถวเรียงหนึ่งเข้าไปทำกิจกรรมและใช้เวลาคนละไม่เกิน 3 นาที จากนั้นแยกย้ายกันกลับ และเมื่อก่อนเริ่มกิจกรรมก็ได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล จ.สมุทรปราการ และรองผู้กำกับสืบสวน สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ล่วงหน้า และเมื่อถึงวันทำกิจกรรมก็ได้เข้าไปประสานงานกับรองผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาล และนายตำรวจท่านอื่นที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่บริเวณนั้น เพื่อให้กิจกรรมดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย

ทั้งนี้ โดยมีเจ้าหน้าที่พยาบาลจากกระทรวงสาธารณสุข 2 ท่าน มาอำนวยความสะดวกในการคัดกรอง วัดไข้ ให้คำแนะนำ ตรวจผู้ร่วมกิจกรรมทุกคนให้สวมหน้ากาก ล้างมือก่อนและหลังร่วมกิจกรรม ตลอดเวลาทำกิจกรรมตั้งแต่เวลา 17.00-18.0 0 น. ส่วนตัวได้เป็นผู้จัดระเบียบการทำกิจกรม โดยขอความร่วมมือผู้ร่วมกิจกรรมเข้าแถวเรียงหนึ่ง ยืนเว้นระยะห่างกัน 1 เมตร และให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการวัดอุณหภูมิ คัดกรอง ล้างมือด้วยเจล เดินเข้าแถวเรียงหนึ่งไปวางดอกไม้และจุดเทียนอย่างสงบทีละคนตั้งแต่ต้นจนจบ ใช้เวลาคนละไม่เกิน 3 นาที "ตลอดเวลาที่ทำกิจกรรมไม่มีการชูป้ายการมือง ปราศรัยหาเสียงหรือมีกิจกรรมทางการเมืองแฝงอย่างใด โดยมีหลักฐานเป็นภาพถ่ายและคลิปวีดีโอที่ถ่ายไว้ขณะทำกิจกรรมเป็นหลักฐาน เมื่อเสร็จสิ้น กิจกรรมในเวลาประมาณ 19:30 น. ตำรวจจากสำนักงานตำรวจนครบาลลุมพินี กลับควบคุมตัวผมไปที่โรงพักและตั้งข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อันอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ได้โดยง่าย ซึ่งผมได้ประกันตัวออกมาในชั้นพนักงานสอบสวน วงเงิน 30,000 บาท"นายรังสิมันต์ กล่าวส่วนการจัดกิจกรรมเล่นดนตรีเปิดหมวกเพื่อหาเงินช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนจากโควิด-19 ในวันที่ 22 พ.ค. 2563 โดยกิจกรรมนี้ตนได้รับการร้องขอจาก นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในการแจ้งข่าวประชาสัมพันธ์กิจกรรมส่วนตัวของนพ.ทศพร ที่มีจุดประสงค์เพื่อหาเงินช่วยประชาชนที่เดือดร้อนและฆ่าตัวตาย เพราะมาตรการโควิด-19 ของรัฐบาล โดยตนได้จัดทำภาพกราฟฟิคประชาสัมพันธ์ทางหน้าเฟซบุ๊ค ซึ่งได้ระบุไว้ในภาพกราฟฟิคว่า กิจกรรมนี้เป็นของนพ.ทศพร เป็นผู้จัด มีกำหนดการทำกิจกรรมเวลา 17.00 น. ของวันที่ 22 พ.ค. 2563 บริเวณหน้าหอศิลป์ และเมื่อถึงวัน ตนได้เดินทางไปบริเวณหน้าหอศิลป์ เวลา 16.50 น. และได้เห็นนพ.ทศพร กำลังยืนให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนราว 20 คน โดยไม่มีผู้ร่วมกิจกรรมอื่นอยู่ในรัศมี 5 เมตร นอกจากสื่อมวลชนและตำรวจนอกเครื่องแบบ

อย่างไรก็ตาม ต่อมาได้มีตำรวจนอกเครื่องแบบเข้ามาแนะนำตัว พร้อมระบุตำแหน่งเป็นรองผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน และขอความร่วมมืองดจัดกิจกรรมเนื่องจากอาจเป็นการฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขณะที่ตนเดินไปแจ้งกับนพ.ทศพร ซึ่งกำลังพูดคุยกับสื่อมวลชน ขอให้ยุติกิจกรรม ก็ถูกตำรวจควบคุมตัวไปที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวันทันที โดยยังไม่ได้เริ่มกิจกรรม และตลอดเวลาถูกควบคุมตัว ตนได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกอย่าง แต่เมื่อมีสื่อมวลชนและองค์กรสิทธิมนุษยชน อาทิ ไอลอร์ แอมนาสตี้สากล เข้ามาขอสัมภาษณ์กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเชิญตัวออกนอกสถานที่ "ผมและนพ.ทศพร ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อันอาจทำให้เกิดการแพร่บาดของเชื้อโรคโควิด-19 ได้โดยง่าย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตีวงเงินประกันตัวจำนวน 30,000 บาท ผมไม่สามารถจะหาเงินประกันตัวได้ทัน จึงต้องถูกคุมตัวเข้าห้องขังเป็นเวลา1คืน และได้รับการประกันตัวออกในเวลา 09.00 น.ของวันรุ่งขึ้น ผมในฐานะนักกิจกรรมที่แสดงออกอย่างสันติ ภายใต้กฎหมายมาตลอด 10 ปี เห็นว่าการจับกุมและดำเนินคดีทั้ง 2 คดี เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ให้ประชาชนได้แสดงออกถึงกิจกรรมเพื่อมนุษยธรรม จึงใคร่ขอร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องทั้งหมดทั้ง 2 คดี และขอให้กมธ.เชิญผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ,ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล1,ผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี,ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ลงนามในบันทึกการจับกุมทั้ง 2 คดี มาให้ปากคำกับกมธ. เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชน และเพื่อเป็นบรรทัดฐานในการดำเนินคดีต่อประชาชนอย่างเป็นธรรมต่อไป"นายรังสิมันต์ ระบุ

logoline