svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

กมธ.ดีอีเอส ชี้ ถึงเวลายกเครื่องเทคโนโลยีของสภา

25 พฤษภาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"กัลยา" ชี้ ถึงเวลายกเครื่องเทคโนโลยีของสภาให้ทันสมัยรองรับสถานการณ์ในอนาคต ทั้งระบบการประชุม Teleconference-เก็บข้อมูลและ Data Recovery เผย เตรียมหารือ "กมธ.อีดีเอส" หลังเปิดสภา "เศรษฐพงค์" ลั่น รัฐสภาต้องทันสมัยและปลอดภัย นักวิชาการ ชี้ สภาต้องปรับตัวรับเทคโนโลยีอนาคต

เมื่อวันที่ 25 พ.ค. น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า สถานการณ์วิกฤตไวรัสโควิด-19 ช่วงที่ผ่านมาทำให้เราเห็นว่า การทำงานหลายๆ อย่างของสมาชิกรัฐสภา และเจ้าหน้าที่สภาต้องมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง สภาต้องนำวิธีการทำงานใหม่ๆ เข้ามาเพื่ออนาคต เพราะที่ผ่านมาเราต้องยอมรับความจริงว่าการประชุมต่างๆ เช่น คณะกมธ. หลายคณะ ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการประชุมและติดต่อสื่อสาร เช่น วีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ รวมถึงการบันทึกการประชุมที่เข้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิค


ดังนั้นเรื่องต่างๆ เหล่านี้ควรต้องเสนอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องศึกษาพิจารณาต่อไป เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าสถานการณ์ต่างๆ หรือภัยคุกคามจะเปลี่ยนไปในวันไหน ส.ส.หลายคนต้องลงพื้นที่ อยู่ในต่างจังหวัด การจะเดินทางเข้ามาเพื่อประชุมอาจเดินทางไม่ได้ ไม่สะดวกหรือเกิดความล่าช้า ส่งผลกระทบต่อการประชุม การปรับปรุงเทคโนโลยีให้ทันสมัยจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพื่อเป็นการรองรับเทคโนโลยีและอุปกรณ์ต่างๆในอนาคตด้วย นอกจากนี้สภาควรมีระบบแบ็คอัพข้อมูลสำรองไว้ในกรณีภาวะฉุกเฉินหรือระบบล่ม ทำเป็นศูนย์ข้อมูลแบ็คอัพ สามารถกู้ข้อมูลได้ในกรณีที่ข้อมูลหาย หรือที่เรียกกันว่า Data Recovery แต่วันนี้ทางสภายังไม่มีความพร้อม ดังนั้นทางกมธ.ดีอีเอส จะประชุมเพื่อพูดคุยในเรื่องนี้ เพื่อเสนอแนวทางการพัฒนาระบบต่อสภา

กมธ.ดีอีเอส ชี้ ถึงเวลายกเครื่องเทคโนโลยีของสภา

ขณะที่พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และรองประธานกมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า วันนี้ระบบการทำงานต่างๆ ของรัฐสภา ต้องมีการอัพเกรดและอัพเดทให้เท่าทันโลกอนาคต เพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ การทำงานภายในสภาโดยเฉพาะการประชุม คณะกมธ.ชุดต่างๆ ต้องมีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาในช่วงวิกฤตไวรัสโควิด เราต้องรักษาระยะห่าง และไม่มีการรวมคนจำนวนมากไว้ในห้อง ระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์จึงเข้ามามีบาทบาทเป็นอย่างมากในการทำงานของกมธ. 

ดังนั้นสภาควรต้องพัฒนาระบบต่างๆ เช่น ระบบอินเตอร์เน็ต ระบบโทรคมนาคม ระบบไอทีต่างๆของสภาให้รองรับการทำงานในระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่ๆด้วย ที่สำคัญคือจะต้องมีระบบการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber security)ด้วย ซึ่งหากเราลงมือทำตั้งแต่ตอนนี้จะช่วยให้การทำงานของทั้ง ส.ส. ส.ว. จะง่ายขึ้น ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้รวดเร็วขึ้น วันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มีหลายอย่างที่เกิดขึ้นแบบที่เราไม่ทันตั้งตัว ดังนั้นเราต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับมือปัญหาต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นอีกได้ในอนาคต

กมธ.ดีอีเอส ชี้ ถึงเวลายกเครื่องเทคโนโลยีของสภา

ด้านผศ.ดร.จิรศิลป์ จยาวรรณ จากภาควิชาวิศวกรรมอิเล็คทรอนิกส์และโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า การพัฒนาระบบไอทีของสภาเป็นสิ่งที่เราต้องเตรียมพร้อม ทั้งระบบกาประชุม Teleconference ระบบการเก็บข้อมูล Data Recovery แต่สิ่งที่มองข้ามไม่ได้ระบบการรักษาความปลอดภัยของสภาในภาพรวมคือทั้งที่เป็นกายภาพ (Physical security) และ ข้อมูล (Information) โดยการรักษาความปลอดภัยในด้านข้อมูล เช่น การรักษาความลับ ความสมบูรณ์ของข้อมูล ความง่ายในการเรียกใช้ข้อมูล และความเป็นเอกภาพของข้อมูล แต่ความสำคัญและความท้าทายที่การทำงานของระบบความปลอดภัยของข้อมูลในรัฐสภาที่กำลังดำเนินการอยู่คือ BCP (Business Continuity Plan) หรือ DRP (Disaster Recovery Plan) เนื่องจากมีการย้ายที่ตั้งใหม่แต่ระบบการทำงานต้องมีความต่อเนื่อง BCP จึงเป็นแผนสำคัญที่ขาดไม่ได้ และระบบข้อมูลของรัฐสภามีความสำคัญระดับประเทศจึงจำเป็นต้องมีแผนจัดเก็บข้อมูลสำรองในมาตรฐานที่ดีและปลอดภัยพร้อมดำเนินการได้ทันทีที่ระบบหลักล่มหรือเกิดปัญหา นอกจากนี้ยังมีประเด็น ที่น่าสนใจ คือ ในระยะอันใกล้ควรมีการประยุกต์ใช้ IOT และ AI  เข้ามาช่วยในการดำเนินงาน รวมถึงเทคโนโลยี 5G ก็เป็นสิ่งที่รัฐสภาควรให้ความสนใจและให้ความสำคัญในการนำมาประยุกต์ หรือปรับปรุงทั้งในเรื่องของ การติดต่อสื่อสาร การสร้างโครงข่ายเฉพาะ (Local 5G) เพื่อการบริหารความปลอดภัย และเป็นช่องทางในการติดต่อเฉพาะกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยสูง

logoline