svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

คำขอร้องจาก ICUโรคโควิด-19 ในมะนิลา โตเกียว และนิวยอร์ก

23 พฤษภาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เมื่อวันที่ 6 พ.ค. ที่ผ่านมาสภาพยาบาลระหว่างประเทศหรือ ICN ออกผลสำรวจอัตราการติดเชื้อและการเสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ในกลุ่มประเทศสมาชิกทั้ง 135 ประเทศ ผลสำรวจพบว่ามีบุคลลากรทางการแพทย์ป่วยด้วยโควิด-19 กว่า 90,000 คน โดยมีพยาบาลเสียชีวิตแล้วกว่า 270 คน สาเหตุหลักมาจากการขาดแคลนเครื่องป้องกันย่างชุด PPE และระบบสาธารณสุขของประเทศไม่พร้อมที่จะรับมือการระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตามการรับมือกับโรคโควิด-19 ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงเผชิญหน้ากับความเสี่ยงต่อสุขภาพกายเท่านั้น แต่จิตใจของพวกเขาถูกคุกคามอย่างหนักและนำทางบางรายไปสู่ความตาย

"พระผู้เป็นเจ้าลูกขอขอบคุณที่ควบคุมทุกสิ่งในชีวิตลูกนับแต่ลมหายใจแรกจนลมหายใจสุดท้ายอาเมน"
นี่เป็นประโยคสุดท้ายที่บุคลากรของห้องฉุกเฉินโรงพยาบาล The Medical City กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์กล่าวในการภาวณา เมื่อการภาวณาสิ้นสุด ทุกคนจึงต่างแยกย้ายไปทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่ซึ่งคือการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่ทะลักโรงพยาบาลมาตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
การทำงานของทุกคนในห้องฉุกเฉินแห่งนี้หนักขึ้นทุกวันไม่ใช่แค่โรงพยาบาล The Medical City รองรับผู้ป่วยโรคโควิด-19ในกรุงมะนิลาซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนต้องปิดรับผู้ป่วย แต่โรงพยาบาลกำลังวิกฤตเพราะบุคลากรทางการแพทย์ติดโรคโควิด-19 และเข้าข่ายต้องถูกกักตัวเพื่อเฝ้าระวังโรคเป็นจำนวนมากถึง 150 คนเมื่อเดือนมีนาคม
วิกฤตด้านบุคลากรทางการแพทย์ที่เกิดขึ้นกับโรงพยาบาล The Medical City ทำให้ เลสลี่ บาบาซา พยาบาลวัย45ปี ตัดสินใจกลับมาทำงานทั้งที่เพิ่งหายป่วยจากโควิด-19 เลสลี่มีจุดประสงค์เพื่อส่งต่อความหวังให้แก่ผู้ป่วยโควิด-19 และครอบครัวของพวกเขา ตลอดจนเพื่อนร่วมงาน เพราะเลสลี่รู้ดีว่านอกจากอาการป่วย สิ่งที่ต้องเผชิญเลวร้ายเพียงใด
เลสลี่เล่าว่า หลังจากได้รับการยืนยันว่าเป็นโรคโควิด-19 ภาพของเธอและสามีรวมถึงภาพบ้านของเธอถูกกระจายลงในโซเชียลมีเดีย มีการเตือนว่าควรหลีกเลี่ยงที่จะพบเพราะว่าเธอและสามีป่วยเป็นโควิด-19 และไม่ควรผ่านแม้นแต่ถนนหน้าบ้านหากไม่อยากติดโรค แต่สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือ มีFake News หรือ ข่าวเท็จกระจายออกไปว่าเลสลี่เสียชีวิตและมีการประกอบพิธีศพแล้ว ข่าวเท็จนี้สร้างความเครียดให้เธอยิ่งกว่าการป่วยเป็นโควิด-19 เสียอีก เลสลี่จึงทุ่มเทรักษาตัวเองให้หายป่วยเมื่อเลสลี่ชนะโรคโควิด-19 เธอจึงหวังให้ทุกคนชนะด้วย เลสลี่จึงกลับมาหาผู้ป่วยและเพื่อนร่วมงาน
ในฐานะพยาบาล เลสลี่รู้ดีว่าขณะที่ต้องดูแลชีวิตผู้ป่วยโควิด-19 ต่อเนื่องหลายๆชั่วโมง บุคลากรทางการแพทย์ต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างหนักท่ามกลางความสับสนรอบด้านจากปัจจัยต่างๆ เช่น มาตรการจากภาครัฐฟิลิปปินส์ที่มีการเปลี่ยนแปลง การขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันซึ่งรวมถึงชุด PPE ซึ่งไม่เพียงทำให้บุคคลากรทางการแพทย์ต้องเสี่ยงชีวิต แต่ทำให้คนที่เขารักรอบข้างต้องเสี่ยงไปด้วย
เลสลี่ บาบาซา กลับเข้าทำงานที่ โรงพยาบาล The Medical City กรุงมะนิลาเมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา และต่อมาเลสลี่ได้ให้สัมภาษณ์กับรายการโทรทัศน์ DZMM Saturday night ในฟิลิปปินส์ นอกจากเล่าถึงประสบการณ์ในวันที่ป่วยเป็นโรคโควิด-19 เลสลี่ได้ร้องขอต่อสาธารณะชนให้ช่วยกันยับยั้งไม่ให้ใครสื่อสารในแง่ลบถึงผู้ป่วยและผู้ที่เคยป่วยเป็นโควิด19 และเลสลี่เน้นย้ำในรายการว่า จิตใจของบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากนั้นเจ็บปวดและใกล้จะรับไม่ไหว ไม่ใช่เพียงเพราะต้องเห็นผู้ป่วยเสียชีวิต แต่พวกเขาต้องทำงานเพื่อที่จะรักษาชีวิตไว้ให้ได้มากที่สุดอีกด้วย

แม้แต่ในญี่ปุ่นเอง แพทย์และพยาบาลผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยโควิด-19 ในบางพื้นที่ก็กำลังประสบปัญหาแม้ว่าพวกเขาต้องเสี่ยงชีวิตดูแลผู้ป่วย ในประเด็นนี้ พยาบาลท่านหนึ่งในโตเกียวเล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า ขณะที่เธอนำลูกๆ ไปเที่ยวสวนสาธารณะ ผู้ปกครองของเด็กๆ บางคนขอให้เธอออกจากสวนนั้นไป ร้านอาหารบางร้านไม่ต้อนรับพยาบาล และนอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นต้องมีการจัดตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็กให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานกับคนไข้โรคโควิด-19โดยเฉพาะ หลังจากบางแห่งไม่ต้อนรับลูกของหมอและพยาบาล

ในอีกฟากฝั่งแปซิฟิก เมื่อวันที่ 28 เมษายน ที่ผ่านมาบลูแองเจิล ฝูงบินสาธิตแห่งกองทัพเรือสหรัฐ และ ธันเดอร์เบิร์ด ฝูงบินสาธิตแห่งกองทัพอากาศสหรัฐ ได้แสดงการบินเพื่อเชิดชูเกียรติและขอบคุณต่อความเสียสละของบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเสี่ยงชีวิตต่อสู้กับโควิด-19 เหนือน่านฟ้าของนิวยอร์กซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ชาวนิวยอร์คเป็นจำนวนมากออกมาชมการบินนี้ซึ่งรวมถึงบุคลากรทางการแพทย์การแสดงครั้งนี้เสริมสร้างกำลังใจแก่บุคลากรของโรงพยาบาลนิวยอร์ก-เพลสไบ เทเรียนได้ไม่น้อย แม้ว่าไม่กี่วันก่อน ด็อกเตอร์ลอร์นา บรีน ผู้อำนวยการศูนย์แพทย์ฉุกเฉินของโรงพยาบาลเลือกจบชีวิตตัวเองลงหลังจากกายและใจเหนื่อยล้ากับการต่อกับโรคโควิด-19เป็นอันมาก
ก่อนที่จะเสียชีวิต ด็อกเตอร์บรีนทำงานอย่างหนักเพื่อช่วยผู้ป่วยในนิวยอร์ก ต่อมาด็อกเตอร์บรีนล้มป่วยลงด้วยโรคโควิด-19 เมื่อหายป่วยเธอได้กลับไปทำงาน แต่ไม่แข็งแรงพอที่จะเข้าเวรซึ่งนานถึง 12 ชั่วโมงได้อีกต่อไป เพื่อนร่วมงานจึงโน้มน้าวให้เธอกลับไปพักกับครอบครัวที่รัฐเวอร์จิเนีย
ด็อกเตอร์บรีนเล่าให้พ่อของเธอฟังว่า เธอและเพื่อนร่วมงานทำงานถึง 18 ชั่วโมงต่อวัน ต้องนอนตามโถงทางเดินของโรงพยาบาล ในโรงพยาบาลยุ่งมากจนแม้แต่รถพยาบาลก็เข้ามาถึงภายในไม่ได้ และ ประโยคสุดท้ายที่ลูกสาวได้พูดกับพ่อคือคำอธิบายถึงสภาพการทำงานว่า ถูกจู่โจมโดยผู้ป่วยจำนวนมากซึ่งพวกเขากำลังตายก่อนที่จะลงจากรถพยาบาลเสียอีกโดยเมื่อวันที่ 26 เมษายน ด็อกเตอร์บรีนเสียชีวิตลง โดยตำรวจเปิดเผยสาเหตุการเสียชีวิตว่าเป็นเพราะได้รับบาดเจ็บจากการกระทำของตัวเอง
อย่างไรก็ตามสถาบันแพทยศาสตร์เออร์วิ่ง มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และ โรงพยาบาลนิวยอร์ก-เพลสไบเทเรียนได้ออกแถลงการณ์เพื่อแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของด็อกเตอร์ลอร์นา บรีน และยกย่องว่าเธอเป็นฮีโร่ผู้ช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 อย่างไม่ย่อท้อในยามวิกฤต
อย่างไรก็ตามเมื่อโควิด-19 ยังระบาดไม่หยุด บุคลากรทางการแพทย์ก็ไม่อาจยอมแพ้ลิน วีเรย์ พยาบาลจากโรงพยาบาลเม้าท์ซีไนน์ เวส ในนิวยอร์กเล่าว่า แม้ว่าจะต้องห่างจากลูกมาหลายสัปดาห์แล้วนับแต่ป่วยเป็นโรคโควิด-19แต่เธอก็กลับมาทำงานเพื่อผู้ป่วย
"ผู้ป่วยที่ฉันดูแลยังพูดคุยได้ปกติ ดังนั้นเราจะช่วยผู้ป่วยให้ผ่านโรคร้ายไปด้วยกัน ด้วยการให้กำลังใจเขาและคอยผลักดันให้เขาก้าวไปด้วยกัน ฉันคิดว่าเราทำดีที่สุดเท่าที่เราทำได้แล้ว แต่สิ่งที่ยากที่สุด ฉันคิดว่าเป็นตอนที่พบว่าผู้ป่วยขมขื่นที่พวกเขาต้องกลับมาที่ ไอซียูอีก แต่เราทุกคนก็พยายามมีความหวังว่าเขาจะหาย" ลิน วีเรย์กล่าว
บุคคลากรทางการแพทย์ทุกประเทศยังคงทำงานหนักอย่างไม่ย่อท้อ แม้จะต้องเผชิญหน้ากับข่าวร้ายและการสูญเสีย ดูเหมือนว่าความหวังจะยังคงมีอยู่เสมอในโรงพยาบาลที่กลายเป็นสนามรบเพื่อแย่งยื้อชีวิตผู้ป่วยจากมัจจุราชที่ชื่อโควิด-19 นี้
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานว่าศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ สหรัฐฯ ได้สรุปผลสำรวจ ระหว่าง 10 กุมภาพันธ์ -9 เมษายน พบว่ามีบุคลากรทางการแพทย์สหรัฐฯ ติดเชื้อกว่า 9,282 คน และเสียชีวิตไม่น้อยกว่า 27 ราย ขณะเดียวกันที่ฟิลิปปินส์ สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ฟิลิปปินส์รายงานเมื่อวันที่ 29 เมษายนว่า มีผู้ป่วยสะสมโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ มากถึง 1,245คน และเสียชีวิตแล้ว 27 ราย

logoline