svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ลดวันทำงาน-ทำงานจากบ้าน "นิวนอร์มอล" ในยุคโควิด-19

23 พฤษภาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแทบทุกด้าน รวมถึงในโลกของการทำงานด้วย แล้วพฤติกรรมการทำงานแบบ "นิวนอร์มอล" ในอนาคตจะเป็นอย่างไร ต้องไปติดตามกับคุณกิตติดิษฐ์ ธนดิษฐ์สุวรรณ ในมิติโลกสเปเชียล

"นิวนอร์มอล" หรือ "ความปกติใหม่" กลายเป็นศัพท์ที่ถูกพูดถึงแทบตลอดเวลาในยุคโควิด-19 ซึ่งในแง่ของพฤติกรรมการทำงานแล้ว นิวนอร์มอลที่เราคงจะเห็นกันจนคุ้นเคยก็คือ การทำงานแบบยืดหยุ่น ไม่ว่าจะเป็นการลดเวลาทำงานลงเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ และการให้ทำงานจากที่บ้านแบบถาวร เห็นได้จากบริษัทไอทียักษ์ใหญ่จำนวนมากที่เริ่มปรับตัวให้เห็นกันแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับการทำงานในอนาคต

นายกรัฐมนตรีจาซินดา อาร์เดิร์นของนิวซีแลนด์กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เสนอให้ลดจำนวนวันทำงานลงจากปกติ 5 วันเหลือ 4 วัน ทำให้ประชาชนมีจำนวนวันหยุดนานขึ้นเป็น 3 วัน จะได้เพิ่มความสมดุลในการใช้ชีวิต หรือ work-life balance และยังเพิ่มโอกาสให้ครอบครัวได้เดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญด้วย

อาร์เดิร์นกล่าวว่า ข้อเสนอนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายจ้างและลูกจ้าง แต่การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า การทำงานจากที่บ้านนั้นสามารถดึงผลิตภาพ หรือ productivity ในการทำงานออกมาได้ขนาดไหน

การทำงานสัปดาห์ละ 4 วันเป็นแนวทางที่บริษัทไมโครซอฟต์เริ่มทดลองใช้ในประเทศญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งไมโครซอฟต์ระบุว่าเมื่อวัดจากความพึงพอใจของพนักงานและผลงานที่ออกมาแล้วถือว่าประสบความสำเร็จ ขณะที่ในปีนี้ทางไมโครซอฟต์จะให้พนักงานส่วนใหญ่เลือกทำงานจากที่บ้านได้จนถึงเดือนตุลาคมนี้

พูดถึงการทำงานที่บ้านแล้ว ตอนนี้บริษัทไอทียักษ์ใหญ่หลายแห่งก็เริ่มให้พนักงานสามารถทำงานจากบ้านได้ยาวนานขึ้น อย่างเจ้าล่าสุดก็คือ "เฟซบุ๊ก" ที่ให้พนักงานทำงานจากบ้านได้จนถึงสิ้นปีนี้ โดยมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและซีอีโอกล่าวว่า และในเดือนกรกฎาคมนี้บริษัทจะเปิดให้มีการทำงานทางไกลอย่างจริงจัง โดยคาดว่าภายใน 5-10 ปีข้างหน้า ราวครึ่งหนึ่งของพนักงานเฟซบุ๊กทั้งหมดที่ปัจจุบันมีเกือบ 5 หมื่นคนจะไม่ได้ทำงานอยู่ภายในสำนักงานอีกต่อไป

สอดคล้องกับทวิตเตอร์ที่ก่อนหน้านี้ก็ประกาศอนุญาตให้พนักงานสามารถทำงานที่บ้านได้อย่างถาวรหากต้องการ, แอมะซอนให้พนักงานเลือกทำงานจากบ้านได้ถึงเดือนตุลาคมนี้เป็นอย่างน้อย, ขณะที่กูเกิ้ลให้ทำงานจากบ้านได้ถึงสิ้นปี

ข้อดีของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ก็คือ ช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัด มีเวลาอยู่กับสมาชิกในครอบครัวมากขึ้น ช่วยรักษาระยะห่างทางสังคมได้ในช่วงที่มีโรคระบาด และช่วยประหยัดค่าเช่าสำนักงาน แต่ในขณะเดียวกันบางสิ่งบางอย่างก็อาจค่อยๆ เลือนหายไป อย่างเช่น วัฒนธรรมในที่ทำงาน การมีปฏิสัมพันธ์กันแบบตัวต่อตัว รวมถึงความรู้สึกผูกพันกับบริษัท นิวนอร์มอลในโลกของการทำงานไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในต่างประเทศเท่านั้น อีกไม่นานความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ก็คงกลายเป็น "ความปกติใหม่" ในบ้านเราเช่นกัน

logoline