svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

โพลล์พระปกเกล้า "ลุงตู่" สอบผ่าน ยุคโควิดคนไทยแบ่งปัน - เมินนักการเมือง

14 พฤษภาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดโพลล์ล่าสุดสถาบันพระปกเกล้า ให้คะแนน "ลุงตู่" สอบผ่านแก้โควิด คนไทยมองเห็นโอกาสในวิกฤติ ทำให้เอื้อเฟื้อแบ่งปัน ช่วยเหลือและเชื่อใจกันมากขึ้น พร้อมหนุนใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ วางใจให้ผู้เชี่ยวชาญมีบทบาทแก้ไขปัญหา เมินนักการเมือง

ในช่วงนี้ยังมีความเห็นที่แตกต่างและถกเถียงกันของผู้คนในสังคมว่าควรจะคงมาตรการเข้มในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดต่อไป หรือจะเปิดเมือง เปิดกิจการห้างร้าน เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้า กลายเป็นทางสองแพร่งที่ต้องหาจุดสมดุลระหว่าง "สุขภาพ กับ เศรษฐกิจ"
สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า ได้ทำสำรวจความคิดเห็นประชาชนกลุ่มต่างๆ ผ่านระบบสื่อสารทางสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นการสำรวจที่ทำให้ได้ทราบความเห็นของประชาชนอย่างรวดเร็ว วัตถุประสงค์ก็เพื่อทำความเข้าใจเรื่องสถานการณ์ด้านความเป็นอยู่ของประชาชน การปรับตัว แนวคิดในการบริหารจัดการ ตนเอง ความสามารถในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในภาวะวิกฤติ การยอมรับกันและกัน ความพอใจในการทำงานของรัฐบาล และข้อเสนอที่มีต่อรัฐบาล
คณะวิจัยนำโดย ดร.ถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา ได้ส่งแบบสำรวจไปตามกลุ่มสื่อสารทางสังคม ทั้งไลน์ และเฟซบุ๊ก มีจำนวนผู้ตอบ 1,338 คน เป็นชายร้อยละ 41.9 เป็นหญิง ร้อยละ 57.1 ที่เหลือเป็นกลุ่มเพศทางเลือก โดยกลุ่มที่สำรวจมีอายุ 18 ปีขึ้นไป ประกอบด้วย กลุ่มอายุ 18-25 ปี ร้อยละ 4.1 อายุระหว่าง 26-45 ปี ร้อยละ 37.8 อายุระหว่าง 46-60 ปี ร้อยละ 44.5 และอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 13.6

โพลล์พระปกเกล้า "ลุงตู่" สอบผ่าน ยุคโควิดคนไทยแบ่งปัน - เมินนักการเมือง

ผลสำรวจที่น่าสนใจ พบว่า ประชาชนรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 จากโทรทศัน์มากที่ สุดคิดเป็นร้อยละ 33.6 รองลงมาคือทางเฟซบุ๊ก ร้อยละ 23.9 จากบุคลากรสาธารณสุขร้อยละ 15.7ในเรื่องการทำงาน ประชาชนที่ตอบแบบสอบถามร้อยละ 44.1 ยังคงไปทำงานที่ทำงาน มีร้อยละ 32.2 ทำงานทั้งที่บ้านและที่ทำงาน และร้อยละ 23.7 ทำงานที่บ้านอย่างเดียว หรือ work from home
ในแง่ของรายได้ ประชาชนผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 64.7 ทำงานเดิม รับเงินเดือนเท่าเดิม ขณะที่ร้อยละ 17.6 ทำงานเดิมแต่รายได้ลดลง และร้อยละ 7.8 ไม่มีงาน ไม่มีอาชีพ นอกจากนั้น ร้อยละ 8.2 ยังบอกว่าไม่มีเงินออม แถมยังต้องกู้ยืมอีกด้วย แต่ถึงกระนั้น ประชาชนร้อยละ 62.2 ก็ยังคาดหวังว่าสถานภาพทางด้าน เศรษฐกิจของครอบครัวก็จะกลับสู่สภาพเดิม โดยมีร้อยละ 31.8 เห็นว่าแย่ลงกว่าเดิมแน่ และมีเพียงร้อยละ 6 ที่คิดว่าน่าจะดีขึ้น
กับคำถามในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ประชาชนไว้วางใจผู้ใดมากที่สุดให้เข้ามาเป็นผู้นำในการแก้ปัญหา ปรากฏว่าร้อยละ 86.4 ตอบว่าต้องให้ผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นเข้ามาเป็นผู้นำในการแก้ปัญหา มีเพียงร้อยละ 4.3 ที่ตอบว่านักการเมือง และร้อยละ 2.6 ตอบว่านักวิชาการ ส่วนร้อยละ 2.7 ตอบว่าใครก็ได้ เพราะไม่สนใจ

โพลล์พระปกเกล้า "ลุงตู่" สอบผ่าน ยุคโควิดคนไทยแบ่งปัน - เมินนักการเมือง

ในประเด็นความช่วยเหลือช่วงเกิดวิกฤติ ประชาชนร้อยละ 46 เห็นว่าแม้จะประสบปัญหาความยุ่งยากเดือดร้อน ก็ยังมีความช่วยเหลือจากรัฐมาทันท่วงที ขณะที่ร้อยละ 92.6 เห็นด้วยกับความคิดที่ว่าเมื่อประสบปัญหา คนไทยก็ยังช่วยเหลือเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน โดยร้อยละ 66.1 บอกว่าแม้ในภาวะวิกฤติ ก็ยังสามารถไว้วางใจคนในชุมชนได้ว่ายังมีความเอื้ออาทรกันและกัน รวมถึงดูแลกันเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ประชาชนกว่าครึ่งยังตอบว่าตนได้บริจาคเงินและสิ่งของให้กับโรงพยาบาล องค์กรการกุศล และบริจาคโดยตรงไปยังคนเดือดร้อน ในจำนวนนี้มี 1 ใน 3 ที่บอกว่าพวกตนไปเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ที่ทุกข์ยากลำบาก
ผลสำรวจยังพบว่า ในยามวิกฤติ สังคมไทยมีการยอมรับกันทางสังคมมากขึ้น เพราะผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 64.5 ยอมรับได้ที่จะเป็นเพื่อนบ้านกับผู้ป่วยโควิด ขณะที่ร้อยละ 71.8 ยอมรับผู้ที่มาจากพื้นที่เสี่ยง และอยู่ระหว่างการกักตัวดูอาการ ร้อยละ 92.2 ยอมรับผู้ที่หายป่วยจากโควิดแล้ว และร้อยละ 66.7 กับร้อยละ 58.1 ยอมรับผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศและชาวต่างชาติตามลำดับ
ในประเด็นการดำรงชีวิตกับสิทธิและเสรีภาพ เมื่อถามว่าในภาวะวิกฤติ การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นสิ่งที่ต้องทำใช่หรือไม่ ประชาชนร้อยละ 80.8 ตอบว่าเห็นด้วย โดยแบ่งเป็นร้อยละ 43 เห็นด้วยอย่างยิ่ง ขณะที่ร้อยละ 37.8 ตอบว่าเห็นด้วย
เมื่อให้เลือกระหว่างปากท้องกับปัญหาสุขภาพ ในภาวะวิกฤตินี้คนไทยเลือกอะไร ปรากฏว่าผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 9.5 เห็นด้วยอย่างยิ่งว่าปากท้องสำคัญมากกว่าสุขภาพ ขณะที่ร้อยละ 26.2 เห็นด้วย ร้อยละ 47 ไม่ค่อยเห็นด้วย และร้อยละ 14.1 ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ส่วนที่เหลือไม่ตอบ
ผลสำรวจในส่วนนี้แสดงว่าคนไทยโดยภาพรวม ร้อยละ 61.1 ไม่เห็นด้วยว่าปากท้องสำคัญมากกว่าสุขภาพ หรือในทางกลับกันคือคนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับสุขภาพมากกว่าปากท้อง

logoline