svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"พลังประชารัฐ" ชิงเลขาฯกันวุ่น ณัฏฐพล-สุริยะ-สันติ"

14 พฤษภาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"พลังประชารัฐ" ร้าวไม่หยุด"อุตตม" ยังดื้อไม่ออกหัวหน้าพรรค "สมคิด" หัวเสียหลังส่อหลุดยกก๊วน "สามมิตร" ยกขบวนลาออกกรรมการบริหาร หนุน"บิ๊กป้อม" ขณะที่ เก้าอี้เลขาฯชิงกันวุ่น "ณัฏฐพล-สุริยะ-สันติ"

หลังเกิดกระแสข่าว นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยอมลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค เพื่อให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรค นั่งหัวหน้าแทน ก็มีรายงานข่าวล่าสุดว่า นายอุตตม ยังไม่ยอมลาออกช่วงนี้ และก่อนหน้านี้ ก็ใช้วิธีการปล่อยข่าวจุดประเด็น เพื่อให้ตัวเองได้อยู่ในตำแหน่งต่อไปช่วงหนึ่ง เท่าที่จะรั้งไว้ได้ เพราะมองว่า หากเกิดกระแสขัดแย้งในพรรค ก็จะมีผู้ใหญ่ในพรรค อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมาเบรค เนื่องจากไม่ใช่ช่วงเวลาของการเมือง เพราะประชาชน กำลังเผชิญปัญหาโควิด-19 อยู่ ก็จะทำให้กลุ่มที่เคลื่อนไหว หยุดเดินการเมือง เหมือนกระแสขย่มหัวหน้าพรรคก่อนหน้านี้ และเงียบหายไปสักพัก หลังพล.อ.ประยุทธ์ ออกมาหย่าศึก
โดยรายงานข่าวนี้ สอดรับกับ คำสัมภาษณ์ของนายอุตตม ที่ยืนยันเสียงแข็งว่า ยังไม่ยื่นลาออกจากหัวหน้าพรรค และยังทำหน้าที่เหมือนเดิม รวมถึงมีการเอ่ยชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า นายกฯให้สัมภาษณ์ว่าให้เอางานนำทุกอย่าง ซึ่งเหมืิอนเป็นการพยายามดึงนายกฯมาหย่าศึกอีกครั้ง ทั้งนี้ ยังมีรายงานข่าวว่า หลังเกิดกระแสข่าว นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะแกนนนำก๊กสี่กุมาร ก็ได้แสดงความไม่พอใจเป็นอย่างมาก เพราะส่อว่าจะหลุดจากตำแหน่งทั้งก๊ก

ขณะที่ แหล่งข่าวระดับสูงในพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า ขณะนี้ มีความแน่นอนแล้วว่า ต้องเปลี่ยนตัว หัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรค เพราะที่ผ่านมา ส.ส.ของพรรค ไม่สามารถประสานงานกับหัวหน้าพรรคได้ ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ได้ การเปลี่ยนครั้งนี้ จึงเป็นความต้องการของ ส.ส.ส่วนใหญ่ในพรรค ส่วนจะเป็นพล.อ.ประวิตร นั่งหัวหน้าพรรคหรือไม่ ก็ยังอยู่ระหว่างการประเมิน เพราะต้องมีการคำนึงถึงคะแนนนิยมของพรรคด้วย แต่ท้ายสุด ถ้าเป็นความต้องการของ พล.อ.ประวิตร ก็ไม่มีใครขัดข้อง
แหล่งข่าวยังเปิดเผยว่า ส่วนตำแหน่งเลขาธิการพรรค ยังคงแย่งชิงกันอยู่ระหว่างก๊กต่างๆ เพราะมีผลต่อตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงใหญ่ อย่าง กระทรวงพลังงาน ที่เป็นปัญหาถูกแย่งชิงกันมาโดยตลอด ซึ่งครั้งนี้ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ก็ยังคงมีความต้องการ ดังนั้น ก็เสนอตัวเข้าร่วมชิงตำแหน่งเลขาธิการพรรค ส่วนกลุ่มสามมิตร ก็เสนอตัวเช่นเดียวกัน โดยส่งนายอนุชา นาคาศัย รองหัวหน้าพรรค ที่เคยตกเป็นแคนดิเดตเลขาธิการพรรค มาแล้วครึ่งหนึ่ง แต่หากเสียงสนับสนุนไม่ชนะ อาจส่งมือเก๋า อย่าง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ชิงเก้าอี้เลขาธิการพรรคเอง เพื่อเป็นบันไดนั่งรมว.พลังงาน ขณะที่ กลุ่ม"วิรัช-เสี่ยเฮ้ง" ก็สนับสนุน นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อหวังได้นั่ง รมว.คลัง ส่วนกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ มีแนวโน้มสูงว่า ไม่ส่งใครชิง แต่จะหนุนกลุ่มสามมิตร เพื่อเป็นการกระจายอำนาจ เนื่องจากกลุ่ม"วิรัช-เสี่ยเฮ้ง"สายตรง"บิ๊กป้อม"อยู่แล้ว

นอกจากนี้ มีรายงานข่าวล่าสุดว่า กลุ่มสามมิตร ที่เป็นกรรมการบริการพรรค อาทิ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายอนุชา นาคาศัย และ นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ได้เขียนหนังสือลาออกจากกรรมการบริหารพรรคแล้ว ซึ่งกลุ่มสามมิตร ถือว่า เป็นกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งในพรรค และการลาออก ก็เป็นการแสดงว่า สนับสนุนพล.อ.ประวิตร หลังก่อนนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พยายามเข้าหาสามมิตร และต่อรองกับนายสุริยะ ดังภาพร่วมโต๊ะจีน หรือ ดอดเข้ากระทรวงอุตสาหกรรม แต่เมื่อเสียง ส.ส.ในพรรคส่วนใหญ่ หนุนให้เปลี่ยน ก็ต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่

logoline