svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

พาดขาเป็นเหตุ! ส่องระเบียบทหารห้ามปฏิบัติ

14 พฤษภาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ หลังปรากฏภาพนายทหารหนุ่ม สังกัดกรมข่าวทหารบก นั่งพาดขาบนบัลลังก์ประธานรัฐสภา ณ ห้องประชุมพระสุริยัน อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ทำให้กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) สั่งตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนวินัย

หลายภาคส่วนอาจมองและสงสัยพร้อมกับตั้งคำถาม ว่าจำเป็นต้องถึงขั้นลงโทษนายทหารหนุ่มรายนี้ด้วยหรือ เพียงแค่นั่งโพสท่าถ่ายรูป แต่ถ้าหากไปดูเนื้อหาพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พ.ค. 2476 ซึ่งยังคงบังคับใช้อยู่ปัจจุบัน
โดยหมวด 2 ว่าด้วยวินัยซึ่งได้บัญญัติไว้ใน มาตรา 5 วินัยเป็นหลักสำคัญที่สุดสำหรับทหาร เพราะฉะนั้นทหารทุกคนจักต้องรักษาโดยเคร่งครัดอยู่เสมอ ผู้ใดฝ่าฝืนให้ถือว่าผู้นั้นกระทำผิด
ทั้งนี้ ตัวอย่างการกระทำผิดวินัยทหาร ที่ถูกกำหนดไว้มีด้วยกัน 9 ประการ ได้แก่
1. ดื้อ ขัดขืน หลีกเลี่ยง หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเหนือตน
2. ไม่รักษาระเบียบการเคารพระหว่างผู้ใหญ่ผู้น้อย
3. ไม่รักษามรรยาทให้ถูกต้องตามแบบธรรมเนียมของทหาร
4. ก่อให้แตกความสามัคคีในคณะทหาร
5. เกียจคร้าน ละทิ้ง หรือเลินเล่อต่อหน้าที่ราชการ
6. กล่าวคำเท็จ
7. ใช้กิริยาวาจาไม่สมควร หรือประพฤติไม่สมควร
8. ไม่ตักเตือนสั่งสอน หรือลงทัณฑ์ผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำผิดตามโทษานุโทษ
9. เสพเครื่องดองของเมาจนถึงเสียกิริยา

ทั้งนี้ เมื่อทหารกระทำผิดวินัย ก็จะต้องถูกลงทัณฑ์ ซึ่งหมวด 3 อำนาจลงทัณฑ์ โดยมาตรา 8 ทัณฑ์ที่จะลงแก่ผู้กระทำผิดนั้น กำหนดไว้ 5 สถานเท่านั้น คือ 1.ภาคทัณฑ์ 2.ทัณฑกรรม 3.กัก 4.ขัง และ 5.จำขัง
นอกจากนี้ กฎหมายยังได้นิยามความหมายของทัณฑ์แต่ละประเภทเอาไว้ด้วยอย่างชัดเจน ได้แก่
ภาคทัณฑ์ คือ ผู้กระทำผิดมีความผิดอันควรต้องรับทัณฑ์สถานหนึ่งสถานใดใน 5 สถาน แต่มีเหตุอันควรปราณี จึงเป็นแต่แสดงความผิดของผู้นั้นให้ปรากฏ หรือให้ทำทัณฑ์บนไว้
ทัณฑกรรม คือ ให้กระทำการสุขา การโยธา ฯลฯ เพิ่มจากหน้าที่ประจำซึ่งตนจะต้องปฏิบัติอยู่แล้ว หรือปรับให้อยู่เวรยามนอกจากหน้าที่ประจำ
กัก คือ กักตัวไว้ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งตามแต่จะกำหนดให้
ขัง คือ ขังในที่ควบคุมแต่เฉพาะคนเดียวหรือรวมกันหลายคนแล้วแต่คำสั่ง
จำขัง คือ ขังโดยส่งไปฝากให้อยู่ในความควบคุมของเรือนจำทหาร
กฎหมายยังบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า นอกจากทัณฑ์ 5 สถานนี้แล้ว ห้ามมิให้คิดขึ้นใหม่ หรือใช้วิธีลงทัณฑ์อย่างอื่นเป็นอันขาด
ทั้งหมดจึงเป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ว่าจะพิจารณาลงโทษอย่างไรต่อการกระทำที่เกิดขึ้น เพราะหากมองในสายตาประชาชนทั่วไปอาจเป็นแค่เรื่องขี้ผง แต่ด้วยชายชาติทหาร การกระทำถือเป็น เกียรติ ศักดิ์ศรี รวมถึงหน้าตาของกองทัพ ที่ต้องปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่าง โดยเฉพาะกับผู้ใต้บังคับบัญชา ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องลอยลม
อ่านกฎหมายฉบับเต็มได้ที่นี่

logoline