svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"เลเซอร์เรียกแขก" นับหนึ่ง "ประท้วงไฮเทค"

12 พฤษภาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการยิงเลเซอร์ หรือยิงแสงจากเครื่องโปรเจคเตอร์ เป็นข้อความเกี่ยวกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อเดือน พ.ค.ปี 53 ตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งขณะนี้ชัดเจนแล้วว่าเป็นการกระทำของกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม และพรรคการเมืองบางพรรค

นักสังเกตการณ์ทางการเมืองและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร มองว่านี่คือ "เลเซอร์เรียกแขก" ใช้ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อปลุกระดมเลี้ยงกระแส รอโควิดซาเพื่อเคลื่อนไหวใหญ่ทางการเมือง
ตำรวจเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ข้อมูลว่า วิธีการที่กลุ่มเคลื่อนไหวใช้ในการสร้างภาพยิงเลเซอร์เป็นข้อความตามสถานที่สาธารณะต่างๆ จากนั้นก็ถ่ายภาพแล้วนำไปเผยแพร่ต่อในโลกออนไลน์นั้น ต้นตอมาจากอปกรณ์ฉายภาพที่ขยายจากภาพเล็กเป็นภาพใหญ่ เรียกว่า "เครื่องโปรเจคเตอร์" ซึ่งปัจจุบันมีโปรเจคเตอร์ขนาดเล็ก และราคาก็อยู่ที่หลักพันบาทถึงหมื่นต้นๆ เท่านั้น 
วิธีการก็ไม่ยาก คือการติดตั้งเครื่องโปรเจคเตอร์นี้บนรถ แล้วก็เคลื่อนที่ฉายไปตามจุดต่างๆ ใช้เวลาในการปฏิบัติการเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น ส่วนข้อความที่เป็นตัวอักษร อาจจะมีการติดตั้งโปรแกรมตัวอักษร หรือทำเป็นบล็อคตัวอักษรเอาไว้ โดยใช้เลเซอร์ หรือใช้วิธีอื่นๆ ก่อนจะยิงแสงไฟไปพื้นผิวอาคาร รั้ววัด สถานีรถไฟฟ้า 
ส่วนการดำเนินการตามกฏหมายนั้น จะต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้งว่าเข้าข่ายฐานความผิดฐานใด เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เข้าข่ายหรือไม่ หรือจะเป็นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ว่าด้วยการยุยงปลุกปั่น ซึ่งต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ 


"เลเซอร์เรียกแขก" นับหนึ่ง "ประท้วงไฮเทค"




"เลเซอร์เรียกแขก" นับหนึ่ง "ประท้วงไฮเทค"

อภิสิทธิ์ ไชยประสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลมีเดีย อธิบายเสริมว่า กลุ่มที่ดำเนินการเรื่องนี้ใช้ทุนไม่มาก แต่สามารถขยายผลทางโซเชียมีเดียได้กว้างขวาง ยิ่งสื่อกระแสหลักนำไปเสนอข่าว ก็ยิ่งเป็นที่รับรู้ในวงกว้าง ทั้งที่อุปกรณ์ที่ใช้ ปัจจุบันหาซื้อได้ในราคาถูกมาก 
อภิสิทธิ์ ยังมองว่า การออกมาเคลื่อนไหวสร้างประเด็นทางการเมืองในช่วงนี้ ถือว่าสอดรับกันหลายภาคส่วน เพราะในเดือน พ.ค. เป็นเดือนครบรอบเหตุสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง และเหตุการณ์เผาเมือง ระหว่างวันที่ 17-20 พ.ค.ปี 53 ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นอกจากนั้นยังมีการปลุกกระแสด้านอื่นๆ อีกเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ช่วงที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซาลง 
ฉะนั้นในช่วงที่ถึงวันเชิงสัญลักษณ์จริงๆ เช่น ครบรอบ 10 ปีเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 53  อาจจะมีความเคลื่อนไหว เช่น นัดชุมนุมทางดิจิทัลมีเดีย ผ่านแอปพลิเคชั่นใหม่ๆ อย่าง ZOOM ซึ่งสามารถเช็คชื่อ เช็คจำนวน และจำกัดจำนวนคนที่เข้าร่วมได้ เพื่อป้องกันการเข้ามาป่วน หรืออาจใช้โซเชียลมีเดียดั้งเดิมอย่างเฟซบุ๊กไลฟ์ ที่เป็นที่นิยมกันอยู่แล้วก็เป็นได้ 

"เลเซอร์เรียกแขก" นับหนึ่ง "ประท้วงไฮเทค"


"เลเซอร์เรียกแขก" นับหนึ่ง "ประท้วงไฮเทค"



ขณะที่ อ.พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร มองว่า การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่กับสื่อสังคมออนไลน์มาโยงผูกกัน เพื่อเป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับสังคม โดยมีเป้าหมายทางการเมืองในการปลุกเร้าอารมณ์ ความรู้สึก ให้ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลออกมารวมตัว หรือสร้างกระแสขึ้นมา เป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายมากในปัจจุบัน 
ฉะนั้นหลังจากนี้จะต้องจับตาสิ่งที่เรียกว่า "การประท้วงไฮเทค" คือการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยในการชุมนุม รวมตัว หรือสร้างกระแส ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในโลกยุคปัจจุบัน เพราะไม่ต้องระดมมวลชนออกมาบนท้องถนนจำนวนมากๆ ในช่วงที่ยังมีความเสี่ยงเรื่องโรคระบาด แต่ก็สามารถสร้างการรวมตัวและเกิดพลังในโลกออนไลน์ได้เหมือนกัน

เมื่อพูดถึงการใช้แสงเลเซอร์ และการใช้เทคโนโลยีผสมผสานกับโซเชียลมีเดียในการชุมนุมประท้วง ทำให้ อาจารย์พันธ์ศักดิ์ ยกตัวอย่างการชุมนุมที่ฮ่องกง หรือ "ฮ่องกงโมเดล" เพราะนอกจากผู้ประท้วงจะใช้ป้าย ร่ม หน้ากาก และผ้าคลุมหน้า รวมทั้งสิ่งเทียมอาวุธแล้ว ผู้ประท้วงยังใช้สื่อโซเชียลยอดนิยม เช่น Facebook Twitter หรือสื่อโซเชียลอื่นๆ ที่สามารถกระจายข่าวสารระหว่างผู้ประท้วงและสารพัดวิธีที่สามารถทำให้คนทั่วโลกได้รับรู้
นอกจากนั้นผู้ประท้วงยังได้นำเครื่องยิงเลเซอร์แรงสูง (High Power Laser Pointer)หลายหลากสี ซึ่งมีความแรงกว่าเครื่องยิงเลเซอร์ที่ใช้กันในสำนักงาน มาใช้เป็นเครื่องมือในการประท้วงด้วย เนื่องจากปัจจุบันเครื่องยิงเลเซอร์ประเภทนี้หาได้ง่าย พกพาสะดวก และเป็นเครื่องมือรบกวนการประท้วงที่ไม่ต้องถูกเนื้อต้องตัวเจ้าหน้าที่ ทำให้ลดการประทะทางร่างกายลงไปได้ เครื่องยิงเลเซอร์จึงเป็นที่นิยมใช้ในการประท้วงของผู้ประท้วงในฮ่องกง ชิลี อิรัก และเริ่มมีให้เห็นในเมืองไทยบ้างแล้ว

"เลเซอร์เรียกแขก" นับหนึ่ง "ประท้วงไฮเทค"


ฮ่องกง ภาพ :Tyrone Siu / Reuters

"เลเซอร์เรียกแขก" นับหนึ่ง "ประท้วงไฮเทค"


ฮ่องกง ภาพ :Kin Cheung /AP Photo

การนำเครื่องมือไฮเทคต่างๆ มาใช้ในการประท้วงและต่อต้านฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่มีทั้งแก๊สนำตา กระสุนยาง สเปรย์พริกไทย ระเบิดฟองน้ำ กระสุนถุงเม็ดตะกั่ว (Bean bag round) กระสุนจริง และเทคนิคอื่นๆ เพื่อรับมือกับการประท้วง แสดงให้เห็นถึงการยกระดับของการประท้วงด้วยการใช้เทคโนโลยีแทนการใช้กำลังแต่อย่างเดียว ซึ่งกลยุทธ์ใหม่ๆ เหล่านี้จะสร้างความยุ่งยากแก่การควบคุมและปราบปรามฝูงชนต่อฝ่ายเจ้าหน้าที่ไม่มากก็น้อย
เช่น การนำเครื่องยิงเลเซอร์แรงสูงมาใช้ในการประท้วง มีวัตถุประสงค์หลักอยู่หลายประการ เป็นต้นว่า เพื่อรบกวนสมาธิและเบี่ยงเบนความสนใจของเจ้าหน้าที่, เพื่อรบกวนระบบการจดจำใบหน้าของกล้องซึ่งใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการแยกแยะภาพผู้ประท้วง, เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยการเขียนหรือวาดแสงเลเซอร์บนผนังของวัตถุ, เพื่อแสดงออกถึงความมีชัยชนะ, เพื่อสร้างสัญลักษณ์ของความเป็นกลุ่ม แยกตามสี
แต่เครื่องยิงเลเซอร์แรงสูง หรือแม้แต่เครื่องโปรเจคเตอร์ที่มีกำลังส่งมากๆ ก็มีอันตรายอยู่ในตัวหากใช้ผิดวิธี เช่น อาจการรบกวนการบินระหว่างเครื่องบินขึ้นและลงหากนำไปใช้ใกล้สนามบิน, สามารถทำลายผิวหนังหรือทำให้เกิดความร้อนเฉพาะจุด และสามารถทำลายดวงตาได้หากมีความแรงมากพอและส่องตรงเข้าไปยังดวงตา อาจทำให้เกิดตาบอดชั่วขณะหรือตาบอดถาวรได้
เหตุนี้เองบางประเทศจึงมีกฎหมายควบคุมระดับความแรงของการส่งแสงเลเซอร์ รวมทั้งมีการควบคุมการนำเข้า การโฆษณา การผลิต และการซื้อ-ขาย นอกจากนั้นการใช้งานของเครื่องยิงเลเซอร์ระดับต่างๆ ต้องถูกควบคุมให้อยู่ในสภาวะที่มีความปลอดภัยภายใต้คำแนะนำที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เครื่องมือเหล่านี้ถูกนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์จนเกิดอันตรายได้
แต่หากนำมาตรการเหล่านี้มาใช้ในบ้านเรา อาจถูกโจมตีว่าเป็นการจำกัดสิทธิ์กันอีก ทั้งๆ ที่การนำเลเซอร์ไปยิงก่อกวนใคร ก็เป็นการละเมิดสิทธิ์ผู้อื่นด้วยเช่นกัน

logoline