svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

สำรวจกับระเบิด...หลังสภาเปิดฝ่ายค้านรอถล่ม

11 พฤษภาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

โควิดเริ่มซา ปัญหาการเมืองก็เริ่มรุมเร้า แม้ฝ่ายค้านจะพลาดหวังเรื่องการล่าชื่อขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ (จริงๆ น่าจะรู้อยู่แก่ใจว่าเปิดไม่ได้แน่ แต่เคลื่อนไหวเพื่อชิงพื้นที่ข่าว) แต่ถึงอย่างไรรัฐบาลก็หนีสภาไม่พ้นอยู่ดี เพราะมีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยสามัญประกาศออกมาแล้ว ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ มีกฎหมายอะไรจ่อเข้าบ้าง ทีมข่าวรวบรวมมานำเสนอ

มีกฎหมายและญัตติร้อนๆ จากฝ่ายค้านรอจังหวะเปิดสภาเพื่อเข้าไปชำแหละอย่างน้อยๆ 5 ฉบับ กับ 1 ญัตติ ประกอบด้วย
1. พระราชกำหนด หรือ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 มีวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า "พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้าน"
2. พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท
3. พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ในระยะแรกให้มีกองทุน วงเงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท
รวม พ.ร.ก. 3 ฉบับ มีวงเงินกู้และตั้งกองทุนที่เกี่ยวกับการต่อสู้โควิด-19 ถึง 1 ล้าน 9 แสนล้านบาท (1.9 ล้านล้านบาท) ซึ่งพระราชกำหนดทั้ง 3 ฉบับมีผลบังคับใช้แล้ว เพียงแต่ต้องนำเข้าขออนุมัติจากรัฐสภา

นอกจากนั้นยังมีร่างพระราชบัญญัติอีก 2 ฉบับที่รอเข้าสู่การพิจารณาของสภา ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณ วงเงิน 100,395 ล้านบาท และร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 กรอบวงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท ซึ่งมีการตัดงบสัมนา และงบดูงานต่างประเทศ เพื่อนำมาตั้งงบกลางสู้โควิดโดยเฉพาะ
ส่วนอีก 1 ญัตติ เสนอโดยพรรคก้าวไกล ได้ยื่นญัตติด่วนขอให้สภาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามตรวจสอบการใช้งบประมาณและมาตรการแก้ไขปัญหาภายใต้วิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อเปิดช่องทางให้สภาได้ตรวจสอบติดตามการใช้งบของรัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหาร

สำหรับทิศทางการอภิปรายและการตรวจสอบของฝ่ายค้านหลังเปิดสภา คงไม่หาญกล้าถึงขนาดหักรัฐบาล ด้วยการระดมเสียงไม่อนุมัติ พ.ร.ก.กู้เงินสู้โควิดทั้ง 3 ฉบับ เพราะเสี่ยงเจอกระแสตีกลับ ขัดขวางการช่วยเหลือประชาชน แต่ประเด็นที่ฝ่ายค้านจะหยิบมาใช้โจมตีก็คือ
1. ปัญหาความไม่โปร่งใส เนื่องจากที่ผ่านมามีตัวอย่างให้เห็นชัดเจนเกี่ยวกับการจัดซื้อขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับโควิด ปรากฏว่ามีปัญหาในหลายจังหวัด ถือเป็นความเสี่ยงในการใช้งบประมาณหากไม่มีการตรวจสอบที่ดีพอ
2. การอนุมัติวงเงินสูงถึง 1.9 ล้านล้านบาท เหมือนให้ "เช็คเปล่า" กับรัฐบาล โดยเฉพาะหากไม่มีกลไกสภาเข้าไปตรวจสอบถ่วงดุล
3. ปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยยกกรณีเงินเยียวยา 5,000 บาท ซึ่งเกิดปัญหาคนที่ควรได้ กลับไม่ได้รับ แต่คนทื่ไม่ควรได้ กลับได้รับหน้าตาเฉย
4. ปัญหาการบริหารจัดการที่มีความล่าช้า ทำให้มีประชาชนจำนวนหนึ่งตัดสินใจคิดสั้น ฆ่าตัวตาย
5. การพยายามใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษอย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อปิดปากฝ่ายที่เห็นต่าง และจำกัดเสรีภาพการเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยใข้เคอร์ฟิว

logoline