svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ธนาธร อัด รัฐบาลตัวแทนกลุ่มทุนอุ้มแต่รายใหญ่ !!!

10 พฤษภาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ก้าวไกล" ถกเข้มลมหายใจเอสเอ็มอี "พิธา" ชี้ซอล์ฟโลน 5 แสนล้าน ผู้ประกอบการเดือดร้อนเข้าไม่ถึง - แนะรัฐบาลรับซื้อผลผลิตเกษตรทำ "ธนาคารอาหาร" ช่วยคน ด้าน "ธนาธร" อัดรัฐบาลตัวแทนกลุ่มทุนอุ้มแต่รายใหญ่ - วาดภาพสังคมไทยหลังโควิด 19 ชนชั้นกลางหาย-ยิ่งเหลื่อมล้ำสูง

พรรคก้าวไกล จัดไลฟ์ผ่านเฟสบุ๊กในหัวข้อ "พิธา x ธนาธร : ลมหายใจ SMEs ไทยในวิกฤตโควิด-19" โดยมี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งปัจจุบันเป็นแกนนำคณะก้าวหน้า ร่วมพูดคุยกันหลังจากในช่วงที่ประเทศไทยเผชิญสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ทั้งคู่ได้เดินทางไปในพื้นที่ต่างๆ เพื่อพบปะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและคนทำงานในหลายภาคส่วนธุรกิจ และได้พบว่ามาตรการการช่วยเหลือของรัฐบาลยังไม่ตรงจุดและเข้าไม่ถึงครอบคลุมผู้ได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก นั้น นายพิธา กล่าวว่า สถานการณ์ช่วยเหลือประชาชนของรัฐบาลต้องเรียกว่าฝนตกไม่ทั่วฟ้า การคัดกรองผ่านระบบ AI กำมะลอ ตลอดช่วงเวลาโควิด -19 ที่ผ่านมา เป็นบทเรียนที่สังคมไทยต้องจ่ายในราคาแพง โดยเฉพาะพิษเศรษฐกิจที่ตามมาเป็นเหมือนพายุที่พัดพรมออกไป ทำให้เผยปัญหาความผุพังต่างๆ เกิดมาไม่เคยคนลำบากยากไร้ขนาดนี้ มีความเหลื่อมล้ำ คนเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี มีคนที่ต้องออกจากงาน รวมถึงผู้ประกอบการชนชั้นกลางที่ตนไปคุยมาต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าชักหน้าไม่ถึงหลัง และสายป่านยาวอยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือนแน่ๆ ขณะเดียวกันก็เข้าไม่ถึงการช่วยเหลือตาม พ.ร.ก. ซอล์ฟโลน วงเงิน 5 แสนล้านของรัฐบาล ซึ่งน่าแปลกตรงที่กับประชาชนนั้นมีการคัดกรองทำให้คนเข้าไม่ถึง แต่กับเอสเอ็มอีที่ควรคัดกรองและให้กับภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างเห็นชัดเจน เช่น ท่องเที่ยว ธุรกิจกลางคืน กลับไม่ทำ แต่ให้ทั้งหมด แล้วสุดท้ายผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ ก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือ ได้เฉพาะคนที่มีเครดิตกับธนาคารอยู่แล้ว "มาตรการอย่างนี้อุปมาอุปไมยเหมือนฝนไม่ตก แต่ธนาคารเอาร่มมาให้ แต่ในส่วนที่ฝนตก ภาคธุรกิจที่ต้องได้รับการช่วยเหลือ ธนานาคารกลับดึงร่มออก แต่อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการหลายคนยังกำลังใจดี แต่ก็มีขีดจำกัด พวกเขาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องการภาวะผู้นำ ต้องการรัฐบาลที่ไม่ปล่อยประชาชนเป็นไปตามยถากรรม แต่ต้องมาช่วยต่อชีพจรให้พวกเขา โดยเฉพาะวงเงิน 4 แสนล้านบาทนี้ 1 แสนล้าน ควรที่จะต้องใช้ไปกับการอุ้มพนักงาน ช่วยธุรกิจที่จะไปต่อได้ช่วยแบ่งเบาต้นทุนให้ เช่น ภาคการท่องเที่ยว รายได้เข้าประเทศที่ผ่านมา 2.8 ล้านล้าน ถ้าไปดูจะพบว่าระจุกตัวมาก อยู่แค่ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ ดังนั้น ต้องกระจายออกไป นี่เป็นโอกาสทองของจังหวัดที่ไม่เคยอยู่ในเรดาร์ของการท่องเที่ยวมาก่อน การท่องเที่ยวฐานรากการท่องเที่ยวชุมชนต้องได้รับการสนับสนุน รวมถึงธุรกิจค้าปลีกผู้ซึ่งเป็นเจ้าของร้านค้าที่อยู่ในห้าง เมื่อห้างโดนปิดก็ต้องปิดตัวด้วย ต้องเข้าไปดูแล เพราะถ้าปล่อยให้ล้มจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง นี่คือสิ่งที่พรรคก้าวไกลต้องไปพูดในสภาว่า พ.ร.ก. ซอฟต์โลน จะช่วยผู้ประกอบการอย่างไร" นายพิธา กล่าว

นายพิธา กล่าวอีกว่า เรื่องสิทธิอาหารเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ปรากฏในช่วงวิกฤตครั้งนี้ ไม่น่าเชื่อว่าประเทศไทยซึ่งเป็นครัวของโลก แต่มีคนฆ่าตัวตายเพราะไม่มีข้าวกิน ขณะที่อีกด้าน ผลไม้ ส้ม มะม่วง หรือผลิตภัณฑ์จากปศุสัตว์ เช่น นม เกษตรกรต้องเอาไปเททิ้งเพราะไม่มีผู้รับซื้อ ซึ่งคำถามคือ ทำไมรัฐบาลไม่ไปรับซื้อสินค้าเกษตรที่ส่งออกไม่ได้นี้ทั้งหมดเลย นำมาทำเป็นธนาคารอาหาร แล้วมากระจายอาหารให้กับคนที่เขาไม่มีจะกิน ใช้งบประมาณครั้งเดียวแต่ได้ประโยชน์ 2 เด้ง เงินก้อนเดียวกันนี้ ช่วยผู้เดือดร้อนได้ 2 ฝ่าย ตนไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมรัฐบาลถึงไม่คิดทำเรื่องนี้ ด้าน นายธนาธร กล่าวว่า จากที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ขัดกับความเชื่อคนที่คิดว่าถ้าเกิดปัญหา ผู้ประกอบการจะเอาลูกน้องออกเป็นอย่างแรก ซึ่งจากการไปพูดคุยมาพบว่าไม่จริง พวกเขาเขาพยายามรักษาลูกน้องให้มากสุด เพราะถ้าเกิดเอาพนักงานออก แล้วต้องหาคนใหม่ การสร้างความไว้ใจ ทักษะฝีมือ ทำไม่ได้ง่ายๆ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ตนเพิ่งไปดู 2 สองธุรกิจ หนึ่ง คือตัดเย็บเสื้อผ้า อีกหนึ่งธุรกิจหมอนวด ในส่วนบริษัทตัดเย็บเสื้อผ้านั้นมีพนักงาน 40 คน ส่งขายให้กับร้านค้าในห้าง พอห้างปิด ร้านก็ปิดตามขายไม่ได้ ไม่มียอดสั่งซื้อเข้ามา ซึ่งน่าห่วงว่า พนักงานส่วนใหญ่อายุ 40- 50 ปี เป็นแรงงานในอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าตลอดชีวิต มีทักษะดี ช่วงนี้ก็กลับต่างจังหวัด ด้วยอายุขนาดนี้ ต่อให้ธุรกิจกลับมา เขาจะมีไฟ มีความทะเยอทะยานอยากกลับมาหางานในกรุงเทพอีกครั้งหรือไม่ ดังนั้น ถ้าเราจัดการไม่ดี ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จะล้ม แต่ยังมีลูกจ้างที่จะต้องตกงาน ถึงเดือนมิถุนายน ถ้าไม่มีการอัดฉีดสภาพคล่องให้เอสเอ็มอีที่เข้าไม่ถึง เครื่องจักรก็จะถูกธนาคารยึดขายทอดตลาด พนักงานกลับต่างจังหวัด จากแรงงานในระบบกลายเป็นแรงงานรับจ้างรายวันในต่างจังหวัด จากเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ กลายเป็นไม่ได้กระทบเป็นลูกโซ่ "อีกธุรกิจหนึ่งคือร้านนวด ที่มีหมอนวดเป็นคนตาบอด ช่วงที่ผ่านมาไม่มีงานทำ ช่วงแรกยอมปิดร้าน แต่พอผ่านไปเดือนกว่าเริ่มรู้สึกไม่ไหวแล้ว หมอนวดก็คิดเรื่องการไปนวดดิลิเวอรี เพราะกลัวอดตายมากกว่ากลัวไวรัส ขณะที่ผู้ประกอบการเองบอกว่า น่าจะแบกอยู่ได้ถึงเดือนกรกฎาคม เพราะธุรกิจอยู่ได้ด้วยนักท่องเที่ยว เมื่อรัฐบาลไม่ให้ความชัดเจน เข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือก็ยอมทิ้งดีกว่า แบกต่อไม่ไหว นี่คือความเจ็บปวดของผู้ประกอบการ กับรัฐบาลที่ไม่มีความชัดเจน พ.ร.ก.ซอล์ฟโลน 5 แสนล้าน ที่เอาไปใช้โดยไม่เกิดประโยชน์กับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ เข้าไม่ถึง ซึ่งเรากำลังพูดถึงเอสเอ็มอี 20 -30 เปอร์เซ็นต์ที่จะล้มละลายที่ไม่ใช่จากไวรัสโควิด -19 หากแต่เป็นการปิดเมือง และจะมีคนตกงานอีกเป็นล้าน การสู้กับภัยโควิดครั้งนี้ ใครชนะไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ คือประชาชนแพ้ คนที่ไปร้องไห้หน้ากระทรวงการคลังนี่บทแรกเท่านั้น นี่แค่เดือนแรก และเดือนหน้าโรงเรียนจะเปิดเทอม มีเรื่องหนี้นอกระบบที่กู้สองเดือนไม่มีรายได้เข้ามา ความเดือดร้อนประชาชน ผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดเล็ก หรือประชาชนรากหญ้า มีแต่จะเดือดร้อนมากขึ้น ถ้าดำเนินนโยบายแบบนี้ และที่บอกว่าประเทศไทยเป็นที่หนึ่งของโลกในการบริหารจัดการโควิด ถามว่าจะเป็นที่หนึ่งทำไมถ้าทุกวันมีคนร้องไห้ มีคนเจ็บปวด และมีคนอดตายอย่างนี้" นายธนาธร กล่าว

นายธนาธร กล่าวอีกว่า เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาทที่รัฐบาลจะใช้ไปในการฟื้นฟูหลังจากนี้ ไม่ใช่เงินที่ได้มาฟรี เงินกู้ไม่ใช่รายได้ แต่เป็นหนี้สิน คนที่จะต้องจ่ายคืนคือผู้จ่ายภาษี โดยเฉพาะคนที่อยู่ในวัยทำงาน คนที่จะเข้าสู่ระบบแรงงาน น้องๆ จะเรียนจบจะต้องมาแบกรับหนี้ก้อนนี้ หนี้ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย ถ้าใช้ไปทำสิ่งดีงาม สร้างสรรค์ และเพิ่มมูลค่ามากกว่าดอกเบี้ยได้ สามารถใช้ทำในสิ่งที่ยกระดับการพัฒนาประเทศได้ แต่ถ้าเอามาเพื่ออุ้มการบินไทย อุ้มบริษัทปลอดภาษีในสนามบิน อุ้มคนรวย อุ้มเจ้าสัวคนไม่กี่กลุ่ม หนี้ก้อนนี้ไม่มีประโยชน์ ซึ่งเราต้องจ่ายคืน ดังนั้น ใครชนะเราไม่รู้ รู้แต่ว่าถ้าบริหารประเทศแบบนี้ประชาชนผู้เสียภาษีแพ้แน่ๆ เพราะชัดเจนว่า นี่คือรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของกลุ่มทุน เป็นตัวแทนผลประโยชน์คนกลุ่มน้อย ไม่ใช่เพื่อคนกลุ่มใหญ่ สังคมไทยหลังวิกฤตโควิด จะเป็นรูปกรวยเรียวที่ยอดแคบมากๆ คนรวยยิ่งอยู่สูงบนยอด ขณะที่ชนชั้นกลางหายไป กลายเป็นฐาน เป็นคนยากจนที่เป็นฐานกว้างมากๆ นี่จะเป็นรูปร่างหน้าตาประเทศไทยที่รัฐบาลเป็นตัวแทนของกลุ่มอภิสิทธิ์ชนสร้างขึ้น ซึ่งแลกมาด้วยน้ำตาคนเป็นล้านๆ

logoline