svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"อดีตพนง.ของรัฐ สธ." ความหวังที่ยังรอในยุคโควิด

05 พฤษภาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แม้ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ภารกิจนี้ยังต้องทำต่อในระยะยาว โดยอาศัย "กลุ่มนักรบเสื้อกาวน์" เป็นด่านหน้าที่สำคัญ ที่ผ่านมามีข่าวดีที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติบรรจุบุคลากรสาธารณสุขเป็นข้าราชการเพิ่มกว่า 4 หมื่นอัตรา แต่คุณผู้ชมรู้หรือไม่ว่า ยังกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์บางส่วนที่ตกสำรวจในครั้งนี้ / เราไปติดตามจากรายงานของคุณอนุรักษ์ เพ็ญสวัสดิ์

นี่คือเสียงสะท้อนจากปากอดีตพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเก็บงำความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจเอาไว้ไม่ไหว...จนต้องระเบิดออกมา

หากย้อนกลับไปดูปูมหลังของเรื่องนี้จะพบว่า เริ่มต้นจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2543 ที่พยายามควบคุมการบรรจุข้าราชการ ทำให้มีการเปิดตำแหน่ง "พนักงานของรัฐ" ให้กับนักศึกษาแพทย์พยาบาลที่จบการศึกษามาเพื่อรองรับแทน แม้ต่อมา "พนักงานของรัฐ" กลุ่มนี้จะได้รับบรรจุเป็นข้าราชการ แต่กลับไม่มีการนับอายุงานช่วงที่ทำงานในสถานะ "พนักงานของรัฐ" มารวมด้วย ทำให้อายุราชการหายไป 4 ปี ส่งผลเสียหายต่อการคิดบำเหน็จบำนาญในอนาคตช่วงเกษียณอายุราชการ ซ้ำร้ายพวกเขาและเธอยังต้องเงินเดือนลดลงเมื่อบรรจุเป็นข้าราชการ เพื่อแลกกับความมั่นคงในวิชาชีพด้วย
เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำจากการเปิดตำแหน่งให้นักศึกษาแพทย์และพยาบาลรุ่นต่อๆ มา เป็น "ลูกจ้าง" และ "พนักงานราชการ" ซึ่งภายหลังก็ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการเช่นกัน แต่กลับเป็นกลุ่มที่ได้รับการเยียวยาเงินเดือนที่ลดลงจากการบรรจุเป็นข้าราชการ ซึ่งก่อผลข้างเคียงทำให้เงินเดือนของอดีตลูกจ้างและพนักงานราชการกลุ่มนี้ ซึ่งเป็น "รุ่นน้อง" แซงหน้ากลุ่ม "อดีตพนักงานของรัฐ" ที่เป็นรุ่นพี่ เพราะไม่ได้รับเยียวยาเงินเดือนจาก ก.พ.

กลุ่มอดีตพนักงานของรัฐต่อสู้ทวงสิทธิ์มาเนิ่นนาน บางคนมีตำแหน่งเป็นถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลแล้วในปัจจุบัน แต่ก็ยังไม่ได้รับการเหลียวแล

อายุราชการที่หายไป 4 ปี บางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็ก แต่จริงๆ แล้วส่งผลถึงเงินบำเหน็จบำนาญตามสิทธิประโยชน์ของข้าราชการที่ควรจะได้รับถึงเดือนละไม่ต่ำกว่า 4,000 บาท หรือปีละเกือบครึ่งแสน และหากคิดจากค่าเฉลี่ยการรับบำนาญเป็นเวลา 20 ปี ยอดเงินที่หายไปจะสูงเกือบ 1 ล้านบาทเลยทีเดียว ทั้งๆ ที่เป็นเงินที่ใช้ต่อชีวิต เลี้ยงชีพในยามแก่เฒ่า

โดยสามารถแบ่งออกได้ดังนี้ วิชาชีพแพทย์ จำนวนเงินบำนาญที่ได้รับต่อเดือน ลดลงประมาณ 4,000 บาทต่อเดือน จำนวนเงินบำนาญที่ได้รับต่อเดือน ลดลงประมาณ 48,000 บาทต่อปี เงินที่หายไป 960,000 บาท (ตัวอย่างฐานเงินเดือน 65,000 บาท) วิชาชีพพยาบาล จำนวนเงินบำนาญที่ได้รับต่อเดือน ลดลงประมาณ 2,148 บาทต่อเดือน จำนวนเงินบำนาญที่ได้รับต่อเดือนลดลงประมาณ 25,776 บาทต่อปี คิดเป็นเงินที่หายไป 515,520 บาท (ตัวอย่างฐานเงินเดือน 53,680 บาท) ด้านแผนไทย จำนวนเงินบำนาญที่ได้รับต่อเดือนลดลงประมาณ 1,000 บาทต่อเดือน)

ทั้งหมดนี้คือภาพสะท้อนถึงขวัญกำลังใจต่อความมั่นคงในวัยเกษียณ /ในยุคที่ประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ / ขณะที่วิกฤติโรคระบาดกำลังเป็นภัยคุกคามระยะยาวที่ต้องใช้พลังจากพวกเขา...บุคลากรทางการแพทย์....ในการรับมือ

logoline