svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

อนุสนธิจากวิกฤติโรคระบาด...หมดเวลาของยุทธศาสตร์ชาติฉบับคสช.

05 พฤษภาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนบทความตั้งคำถามถึงภัยคุกคามด้านโรคระบาดจากไวรัสโควิด-19 ว่าน่าจะทำให้ "ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี" ที่เป็นผลงานของรัฐบาล คสช. สิ้นสภาพไปโดยปริยายหรือไม่ เพราะเป็นยุทธศาสตร์ที่ไม่รองรับการเปลี่ยนแปลงจาก "สภาวะแวดล้อมที่คาดไม่ถึง"

อนุสนธิจากวิกฤติโรคระบาด...หมดเวลาของยุทธศาสตร์ชาติฉบับคสช.



หนึ่งในปัญหาสำคัญของข้อถกเถียงในการวางยุทธศาสตร์ของประเทศ (และมีนัยถึงยุทธศาสตร์ทหารด้วย) ก็คือ คำถามว่า ยุทธศาสตร์ชาติ (National Strategy)และรวมถึงยุทธศาสตร์ทหารด้วยนั้น ควรมีกรอบระยะเวลาเท่าใด? หรือเป็นคำถามในมิติของเวลาว่า ยุทธศาสตร์ควรมีอายุยาวเท่าไร?
มิติของเวลาในแผนยุทธศาสตร์
หากตอบในทางวิชาการแล้ว เราอาจกล่าวในเชิงภาพรวมของกระบวนการทำนโยบายของประเทศได้ว่า ยุทธศาสตร์ไม่ควรมีอายุน้อยกว่า 10 ปี เพราะยุทธศาสตร์เป็นการกำหนดแนวทางของประเทศในระยะยาว หรืออาจกล่าวได้ว่ายุทธศาสตร์เป็นการมองไปในอนาคตระยะยาว (long-term future) ดังจะเห็นได้ว่าเอกสารนโยบายทางยุทธศาสตร์ของหลายๆ ประเทศนั้น มีกรอบเวลาอยู่ที่หนึ่งทศวรรษ หรือในบางกรณีสองทศวรรษ เป็นต้น
หากตอบจากมุมมองของยุทธศาสตร์ทหารแล้ว เราอาจกำหนดกรอบเวลาได้ในระยะเวลา 20 ปี (สองทศวรรษ) ซึ่งเหตุผลหลักที่สำคัญที่ใช้กรอบเวลาเช่นนี้ก็คือ วงรอบอายุของโครงการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ (procurement cycle)ในกระบวนการทำยุทธศาสตร์ทหารนั้น จึงมีนัยว่ากรอบเวลาการจัดซื้ออาวุธจะเป็นปัจจัยโดยตรงในการกำหนดกรอบเวลาของยุทธศาสตร์นี้
ดังได้กล่าวแล้วว่า การกำหนดเช่นนี้ควรมีกรอบของระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี ซึ่งจะเห็นได้ว่าในแต่ละประเทศอาจจะมีกรอบเวลาของยุทธศาสตร์ที่แตกต่างกัน เช่น สมุดปกขาวด้านความมั่นคงของฝรั่งเศสที่ออกในปี 2008 กำหนดกรอบเวลาทางยุทธศาสตร์ไว้เป็นระยะเวลา 15 ปี (แต่ในความเป็นจริงแล้วมีกรอบเวลา 17 ปี เพราะเป็นยุทธศาสตร์จากปี 2008 ถึงปี 2025)
ยุทธศาสตร์ในมิติทางทหาร เช่น ในกรณีของสมุดปกขาวด้านการป้องกันประเทศของออสเตรเลีย ออกในปี 2009 มีกรอบเวลา 20 ปี (2009-2030) หรือสมุดปกขาวของกระทรวงกลาโหมนิวซีแลนด์ ออกในปี 2010 ก็ใช้กรอบเวลา 20 ปีเช่นกัน (2010-2030) กรณีของสามประเทศที่กล่าวแล้วในข้างต้นชี้ให้เห็นถึงระยะเวลาของแผนยุทธศาสตร์ที่ถูกกำหนดขึ้น
ตัวอย่างเช่นนี้คือการตอกย้ำว่า ยุทธศาสตร์มีนัยที่เป็น "แผนระยะยาว" หรือกล่าวในอีกด้านหนึ่งของกระบวนการนี้ได้ว่า ยุทธศาสตร์เป็นแผนที่ถูกกำหนดขึ้นมากกว่าการใช้กรอบเวลาที่เป็น "แผนระยะใกล้" (near term) แต่การกำหนดแผนระยะยาวเช่นนี้มักจะเผชิญความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของ "สภาวะแวดล้อมทางยุทธศาสตร์" ที่ทำให้แผนที่ถูกจัดทำขึ้นกลายเป็นปัญหาในตัวเอง





เวลาและความเปลี่ยนแปลง?
นักเรียนในวิชายุทธศาสตร์ถูกสอนให้ตระหนักเสมอว่า ในสภาวะแวดล้อมทางยุทธศาสตร์นั้น ความเปลี่ยนแปลงใหญ่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น มักจะเป็นประเด็นที่ "ไม่อาจคาดเดาได้" หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น "ปัจจัยของความไม่แน่นอน" (uncertainties) และมีผลกระทบโดยตรงต่อรัฐ เพราะอย่าง น้อยต้องยอมรับว่า ในกรอบระยะเวลา 20-30 ปี มีสิ่งต่างๆ ที่เป็นความเปลี่ยนแปลงใหญ่ในแบบที่คาดเดาไม่ได้ สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ
ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาที่ยุทธศาสตร์ที่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน จึงต้องมีกรอบเวลาของการ "ทบทวนทางยุทธศาสตร์" เพื่อให้เกิดการปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิด ทั้งในระดับภายในและภายนอก ซึ่งก็คือในกระบวนการออกแบบทางยุทธศาสตร์ต้องการความ "ยืดหยุ่น" เพื่อให้แผนยุทธศาสตร์ที่ถูกสร้างขึ้นจะไม่กลาย เป็นสิ่งของที่ล้าสมัยไปกับความเปลี่ยนแปลงของโลก
โจทย์ของการกำหนดเวลาจึงไม่ใช่ปัญหา เพราะในความเป็นจริงของกระบวนการที่เกิดขึ้นทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติก็คือ ยุทธศาสตร์ไม่ใช่สิ่งที่จะกำหนดด้วยกรอบระยะสั้น ฉะนั้นการเผชิญกับความไม่แน่นอนที่เป็นสิ่งที่ไม่อาจคาดเดาได้ ย่อมเป็นเรื่องที่หลีกหนีไม่ได้ในโลกปัจจุบัน ในเงื่อนไขเช่นนี้ นักยุทธศาสตร์จึงต้องตระหนักเสมอว่า "ยุทธศาสตร์ต้องออกแบบให้สามารถปรับตัวให้ได้กับความเปลี่ยนแปลง"
ฉะนั้นแม้กรอบเวลาในแผนยุทธศาสตร์จะเป็นระยะยาว แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาในทางปฎิบัติ หากปัญหาที่แท้จริงเป็นเรื่องของการปรับยุทธศาสตร์มากกว่า... จะทำอย่างไรให้แผนยุทธศาสตร์เป็นสิ่งที่สามารถปรับปรุงแก้ไขได้มากกว่าจะเป็นเหมือน "สิ่งศักดิ์สิทธิ์" ที่แตะต้องไม่ได้ หรือยุทธศาสตร์จะต้องไม่ใช่สิ่งที่ถูกออกแบบให้เป็น "บทบัญญัติทางกฎหมาย" ที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และการละเมิดถือเป็นความผิดทางกฎหมาย ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นแล้ว สิ่งที่ถูกสร้างขึ้นจะไม่มีทางเป็นยุทธศาสตร์ได้เลย

อนุสนธิจากวิกฤติโรคระบาด...หมดเวลาของยุทธศาสตร์ชาติฉบับคสช.


ยุทธศาสตร์ไทยหลังโควิด?
ยุทธศาสตร์ชาติ หรือที่เรียกกันว่า "ยุทธศาสตร์ 20 ปี" ที่ถูกกำหนดขึ้นโดยรัฐบาลทหารของไทยนั้น จะกลายเป็นปัญหาทางการเมืองหลังจากการสิ้นสุดการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างแน่นอน เพราะในด้านหนึ่งนั้น ไม่มีความชัดเจนว่ารัฐบาลปัจจุบันที่สืบทอดมาจากรัฐบาลทหารเดิม ได้ดำเนินนโยบายของประเทศไปตามยุทธศาสตร์ที่ตนเองได้กำหนดไว้เพียงใด
แม้อาจจะมีข้อโต้แย้งจากผู้สนับสนุนรัฐบาลว่า การที่รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการตามทิศทางเช่นนั้นได้ เป็นเพราะเกิดปัจจัย "ที่คาดเดาไม่ได้" จากการระบาดของเชื้อโรคอย่างรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถของประเทศในด้านต่างๆ โดยตรง จึงทำให้รัฐบาลไม่สามารถนำยุทธศาสตร์ดังกล่าวมาใช้ได้ แต่คำตอบเช่นนี้คือคำยืนยันในตัวเองว่า ยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลทหารได้กำหนดขึ้นอย่างตายตัวจนไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้นั้น กำลังกลายเป็นปัญหาในตัวเอง โดยเฉพาะในอีกส่วนที่ยุทธศาสตร์นี้ผูกโยงกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จนไม่อาจนำไปสู่การปรับยุทธศาสตร์ได้จริง และในขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจใช้ได้จริงด้วย
ดังนั้นถ้าการระบาดของเชื้อโควิดสิ้นสุดลงแล้ว การ "ปรับรื้อ" ยุทธศาสตร์นี้ควรจะต้องเริ่มขึ้น และจะต้องตัดยุทธศาสตร์ให้หลุดออกจากรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นแนวทางของการพาประเทศไปสู่อนาคตในระยะยาว และจะต้องยุติความคิดในการนำเอายุทธศาสตร์มาใช้เป็นเครื่องมือของการควบคุมทางการเมือง ด้วยความหวังใน แบบผู้นำทหารสายอนุรักษ์นิยมว่า "กฎหมายยุทธศาสตร์" จะควบคุมประเทศไทยได้นานถึง 20 ปี ซึ่งในความเป็นจริงเห็นได้ชัดว่ายุทธศาสตร์นี้เมื่อต้องเผชิญกับโควิดแล้ว สาระและกรอบเวลา 20 ปีที่ถูกกำหนดไว้กลายเป็นสิ่งที่สิ้นสภาพไปทันที
ยุทธศาสตร์ไทยก่อนยุคโควิดหมดสภาพไปกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น และไม่มีประโยชน์กับการคงไว้อีกต่อไป ... ได้เวลาต้องเตรียมตัวคิดเรื่อง "ยุทธศาสตร์ใหม่" เพื่อที่จะพาประเทศไทยไปสู่อนาคตใหม่ในยุคหลังโควิดแล้ว!

logoline