svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ย้อนผลงานอดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ "ปิยบุตร"จงใจแขวะใคร?

05 พฤษภาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การโพสต์ไล่เรียงคดีที่ นายนุรักษ์ มาประณีต อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ เคยร่วมวินิจฉัย ในวันที่มีการเผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้นายนุรักษ์เป็นองคมนตรี ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงเจตนาของนายปิยบุตร ว่าแฝงนัยอะไรหรือไม่

โดยเฉพาะที่ระบุว่า "ผลงานสุดท้าย...ยุบพรรคอนาคตใหม่" เพราะการตัดสินคดีของศาล ไม่ว่าศาลใด ไม่น่าจะเรียกว่าเป็น "ผลงาน" ของผู้พิพากษาหรือตุลาการคนใดคนหนึ่งได้ ยิ่งคดีที่นายปิยบุตรเลือกมา ล้วนเป็นคดีการเมืองที่ส่งผลลบกับฟากฝ่ายที่ตนเองยืนอยู่ทั้งสิ้น จึงทำให้เห็นเจตนาซ่อนเร้นของนายปิยบุตร ทั้งๆ ที่คดีเหล่านี้มีที่มาที่ไป และมีเหตุผลประกอบข้อกฎหมายในคำวินิจฉัยรองรับทั้งหมด

เริ่มจากคดียุบพรรคไทยรักไทย เมื่อปี 2550 พร้อมตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค 111 คน คดีนี้เกิดจากข้อกล่าวหาพรรคไทยรักไทยจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์บอยคอต ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเมื่อปี 49 ทำให้หลายเขตเลือกตั้งอาจมีพรรคไทยรักไทยส่งผู้สมัครแค่เพียงพรรคเดียว โดยเฉพาะในภาคใต้ ฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ แต่กฎหมายกำหนดไว้ว่า ถ้าเขตไหนมีผู้สมัครแค่คนเดียว จะต้องได้คะแนนเกินกว่าร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในเขตนั้น พรรคไทยรักไทยเกรงว่าจะไม่ได้เสียงตามเกณฑ์ที่กำหนด จึงว่าจ้างพรรคเล็กลงสมัคร เพื่อเลี่้ยงเกณฑ์ 20%
2. คดีนายสมัครพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2551 ที่มาของคดีนี้ก็คิอ นายสมัครเป็นพิธีกรรายการทำกับข้าวทางโทรทัศน์ ซึ่งศาลมองว่ามีสถานะเป็นลูกจ้างของบริษัทเจ้าของรายการ ทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งผู้นำประเทศ
3. คดียุบ 3 พรรคการเมือง ในปี 2551 ประกอบด้วย พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย สาเหตุก็คือกรรมการบริหารพรรคมีส่วนรู้เห็นกับการทุจริตเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญในยุคนั้นบัญญัติให้มีโทษถึงยุบพรรค และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคทั้งหมด

4. คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ในปี 2553 กรณีเงินบริจาค 258 ล้านบาท ซึ่งถูกกล่าวหาว่ารับเงินบริจาคมาโดยมิชอบและทำนิติกรรมอำพรางเพื่อปกปิดข้อมูล คดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง เพราะ กกต.ยื่นคำร้องข้ามขั้นตอน
5. คดี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นตำแหน่งนายกฯ เมื่อปี 2557 ก่อนการรัฐประหารเพียง 2 เดือน สาเหตุมาจากการย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ เลขาฯสมช. โดยมิชอบ
6. คดียุบพรรคไทยรักษาชาติ ในปี 2562 สาเหตุมาจากการเสนอพระนาม ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นแคนดิเดตนายกฯ ซึ่งศาลชี้ว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
7. คดีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พ้นจากตำแหน่ง ส.ส. สาเหตุมาจากการยังคงถือหุ้น บริษัท วีลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งเป็นหุ้นในกิจการสื่อสารมวลชน และทำเอกสารโอนหุ้นย้อนหลัง
8. คดียุบพรรคอนาคตใหม่ และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี สาเหตุมาจากการกู้เงิน 191.2 ล้านบาทจากนายธนาธร เพื่อมาทำกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งศาลมองว่าไม่มีกฎหมายเปิดช่องให้ทำได้ และเข้าข่ายทำให้นายธนาธรมีอิทธิพลครอบงำพรรคการเมือง
ทั้งหมดนี้เป็น 8 คดีหลักๆ ที่นายปิยบุตรไล่เรียงเอาไว้ จริงๆ ยังมีคดีอื่นๆ อีก แต่เราคัดมาเฉพาะคดีหลักๆ ที่ประชาชนยังจำกันได้
ข้อสังเกตเกี่ยวกับพฤติกรรมของนายปิยบุตรก็คือ นายปิยบุตรน่าจะจงใจยกข้อมูลมาด้านเดียว เพื่อให้เห็นว่าคนที่ตนพาดพิงถึงนั้นมีอคติทางการเมือง เพราะมีการยกมาด้วยว่าเคยเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2550 และเกี่ยวข้องกับคดียุบพรรคการเมืองในขั้วการเมืองหนึ่ง แต่อีกขั้วการเมืองหนึ่งยกคำร้อง คือไม่ยุบพรค
จริงๆ แล้วยังมีอีกหลายคดีที่นายปิยบุตร และเครือข่ายฝั่งเดียวกันได้ประโยชน์จากคำวินิจฉัยของศาล แต่นายปิยบุตรกลับไม่หยิบมาพูดถึง เช่น คดีอิลลูมินาติ ที่กล่าวหาพรรคอนาคตใหม่ล้มล้างการปกครอง คดีนี้ศาลยกคำร้อง ในช่วงที่นายนุรักษ์เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ปี 2563 หรือคดียกคำร้องยุบพรรคเพื่อไทยเมื่อปี 2555 ในข้อกล่าวหาล้มล้างการปกครอง ซึ่งศาลยกคำร้องเช่นกัน
นอกจากนั้น การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทำในรูป "องค์คณะ" ฉะนั้นคำวินิจฉัยกลางจึงไม่ใช่ผลงานหรือความคิดของตุลาการคนใดคนหนึ่ง ขณะเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญยังเป็นองค์กรปลายน้ำ คือเป็นองค์กรวินิจฉัยท้ายสุด ก่อนที่คำร้องจะถึงศาล ย่อมต้องผ่านการกลั่นกรองจากหน่วยงานในชั้นต้น หรือองค์กรต้นน้ำและกลางน้ำมาก่อน เช่น กกต. และที่สำคัญศาลตัดสินตามกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้น การทำคำวินิจฉัยของตุลาการจึงยึดหลักกฎหมายประกอบกับข้อเท็จจริง ไม่ใช่ความเห็นหรือใช้อคติส่วนตัว
ที่น่าคิดก็คือ การโพสต์ข้อความหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งองคมนตรี นายปิยบุตรมีเจตนาอะไร เพราะกระบวนการได้มาซึ่งองคมนตรี บัญญัติไว้ในมาตรา 10 และ 11 ของรัฐธรรมนูญ ว่า "ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย" ขณะที่องคมนตรีมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา

logoline