svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เตือน "โควิด-เมาแล้วขับ" ส่อพุ่งหลังปลดล็อกขายเหล้า

03 พฤษภาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ข้อมูลจากศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน พบว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลดลงต่อเนื่องหลังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมีมาตรการห้ามขายเหล้า ผวาหลังรัฐบาลยอมผ่อนปรนให้ซื้อกลับบ้าน เสี่ยงเพิ่มทั้งผู้ติดเชื้อโควิด และกลุ่มเมาแล้วจับ

นพ.ธนพงษ์ จิณวงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน บอกกับ "เนชั่นทีวี" ว่า ข้อมูลจากบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พบว่าผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในปี 2563 ลดลงมาโดยตลอดตั้งแต่เดือนมีนาคม โดยลดลง 30-40% หลังจากที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และลดลงอย่างชัดเจนในช่วง 1-30 เมษายน โดยมีจำนวนผู้เสียชีวิต 739 ราย เฉลี่ยวันละ 24.63 ศพ ลดลงจากเดือนเดียวกันของปี 2562 ที่มีผู้เสียชีวิตถึง 1,132 ราย เฉลี่ยวันละ 37.7 ศพ โดยลดลงถึง 393 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 34.72
สาเหตุที่ทำให้ลดลง ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการ "ห้ามขายเหล้า" ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดได้อาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมโรค ออกประกาศห้ามขายเหล้าตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายน ถึงวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา
ฉะนั้นมาตรการผ่อนปรนให้จำหน่ายสุราและเบียร์ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดกำลังออกประกาศและบังคับใช้ตามข้อกำหนดการผ่อนคลายมาตรการของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะต้องมีหลักประกันให้คนในสังคมมั่นในว่า คนที่ซื้อเหล้า-เบียร์กลับไป จะไม่ไปตั้งวงดื่มที่บ้านในลักษณะที่เพิ่มความเสี่ยง ทั้งการเพิ่มการถ่ายทอดเชื้อโควิด และเสี่ยงต่อผลกระทบอื่น ๆ ทั้งทะเลาะวิวาท และเมาแล้วออกขับขี่
เพราะสุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ได้รับบาดเจ็บจากทะเลาะวิวาทหรืออุบัติเหตุ ก็จะมาจบที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล และการต้องรับมือกับคนเมาที่ห้องฉุกเฉิน ถือเป็นศึกหนักสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ เพราะทราบกันดีว่าคนเมาไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ยอมใส่หน้ากากในระหว่างที่หมอพยาบาลฉีดยาเย็บแผล ดีไม่ดีก็มีการร้องโวยวาย ตะโกนหรือพ่นน้ำลายออกมาอีก ยิ่งถ้าอาการหนักก็เหนื่อยทั้งโรงพยาบาล เพราะต้องส่งชันสูตร เข้าห้องผ่าตัด ถ้าฉุกเฉินก็ต้องเลื่อนเคสอื่นๆ มาผ่าตัดก่อนอีก รวมทั้งการส่งหอผู้ป่วย เป็นภาระให้ครอบครัวต้องแวะเวียนกันมาเยี่ยมเยียนในแต่ละวัน

ด้วยเหตุนี้ หมอธนพงษ์ จึงเสนอมาตรการที่ผู้ว่าราชการทุกจังหวัด และ ศบค.ต้องสร้างหลักประกันหลังผ่อนปรนให้ขายเหล้า ได้แก่
1. มีระบบเฝ้าระวังและติดตามยอดผู้ติดเชื้อโควิดและยอดผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งทะเลาะวิวาท และที่สำคัญคือกรณีเมาแล้วขับขี่อย่างไกล้ชิด
2. กำหนดให้ทุกจังหวัดต้องมีด่านตรวจเมาขับอย่างครอบคลุมเส้นทางต่างๆ เพื่อป้องปรามคนเมาไม่ให้ออกมาขับขี่บนท้องถนน
3. กรณีพบมีผู้ประสบเหตุหรือผู้บาดเจ็บที่เข้ารับการรักษาพยาบาล ทั้งจากกรณีเมาขับหรือกรณีอื่นๆ จาการดื่มแอลกอฮอล์ ต้องมีการสอบสวนสาเหตุโดยละเอียดและดำเนินคดีในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น กรณีผู้บาดเจ็บอายุน้อยกว่า 20 ปี ต้องตรวจสอบร้านจำหน่าย ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
4. ในระดับจังหวัด ต้องมีการสรุปสถิติยอดผู้ติดเชื้อหรือผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนที่เกี่ยวข้องกับเมาแล้วขับ เพื่อประมวลสถานการณ์ในทุกๆ วัน พร้อมทั้งมีการทบทวนมาตรการที่จะป้องกันผู้ติดเชื้อ และผู้รับผลกระทบจากการดื่ม

logoline