svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

รู้จัก "อสม." หัวหมู่ทะลวงฟัน - มดงาน สธ.สู้โควิด

25 เมษายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รู้จัก อสม. ในฐานะ "หัวหมู่ทะลวงฟัน" ป้องกันโควิด-19 เพราะเป็นตัวแทนสาธารณสุข ทำงานป้องกันโรคระบาดในระดับชุมชนและหมู่บ้าน หลังนายกฯลุงตู่โพสต์ยกย่อง "คุณตาบุญส่ง มะนาวหวาน" อสม.วัย 72 ปีที่ปฏิบัติหน้าที่สู้โรคระบาดจนต้องสละชีวิตเพราะอุบัติเหตุ

คุณตาบุญส่ง ประสบอุบัติเหตุถูกรถหกล้อส่งน้ำแข็งพุ่งชนขณะขี่รถจักรยานยนต์นำหน้ากากอนามัยไปแจกจ่ายในพื้นที่รับผิดชอบ คือ อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี โดยถูกชนขณะออกจากบ้าน ต่อหน้าต่อตาภรรยาและคนในครอบครัว เหตุเกิดเมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา
เช้าวันนี้ (25 พ.ย.) นายกรัฐมนตรีโพสต์ข้อความแสดงความอาลัย และยกย่องคุณตาบุญส่งว่าเป็นคนดีของชุมชนและประเทศชาติ พร้อมชื่นชม อสม.ทั่วประเทศนับล้านคนว่าคือผู้เสียสละ ช่วยรัฐบาลในภารกิจต่อสู้กับโควิด-19
หลายคนคงสงสัยว่า อสม. คือใคร และทำอย่างไรถึงจะได้เป็น อสม.สำหรับ อสม. มีชื่อเต็มๆ ว่า "อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน" มีความเป็นมายาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ.2522 ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการสร้างเครือข่ายคนในหมู่บ้านและชุมชนให้ดูแลด้านสุขภาพและอนามัยของคนในชุมชนด้วยกันเอง
จากข้อมูลทางการของกระทรวงสาธารณสุข อสม.ต้องได้การคัดเลือกจากชาวบ้านในแต่ละหมู่บ้าน จากนั้นต้องอบรมตามหลักสูตรที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยมีบทบาทหน้าที่สำคัญในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมสุขภาพอนามัย, การสื่อข่าวสารสาธารณสุข, การแนะนำเผยแพร่ความรู้, การวางแผนและประสานกิจกรรมพัฒนาสาธารณสุข ตลอดจนให้บริการสาธารณสุขด้านต่างๆ เช่น การส่งเสริมสุขภาพ การเฝ้าระวังและป้องกันโรค การช่วยเหลือและรักษาพยาบาลขั้นต้นโดยใช้ยาและเวชภัณฑ์ตามขอบเขตที่กระทรวงสาธารณสุข รวมไปถึงการส่งต่อผู้ป่วยไปรับบริการการฟื้นฟูสภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ

รู้จัก "อสม." หัวหมู่ทะลวงฟัน - มดงาน สธ.สู้โควิด

สำหรับการรับผิดชอบดูแลครัวเรือนในหมู่บ้านและชุมชน กำหนดจำนวน อสม.ในหมู่บ้านและชุมชน โดยเฉลี่ย 1 คน รับผิดชอบ 10-15 หลังคาเรือน
ภารกิจของ อสม.นอกจากดูแลผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยติดเตียงในหมู่บ้านและชุมชนแล้ว ยังมีหน้าที่ช่วยป้องกันโรคระบาดด้วย เหตุนี้เองที่ทำให้ อสม.มีความจำเป็นมาก และยิ่งจำเป็นมากขึ้นไปอีกสำหรับพื้นที่ห่างไกลหมอและสถานพยาบาล โดยเฉพาะในยุคที่มีโรคระบาดร้ายแรงอย่างโควิด-19
ปัจจุบันมี อสม.ทั่วประเทศมากกว่า 1,040,000 คน (ข้อมูล ณ ปลายปี 62) ในทุกอำเภอและจังหวัด โดยเป็น อสม.ระดับหมู่บ้าน ไม่เว้นแม้ในพื้นที่ปลายด้ามขวานอยางสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังมี อสม.
แต่เดิม อสม.ทำงานระบบอาสาสมัคร คล้ายๆ จิตอาสา ไม่มีค่าตอบแทนให้ แต่ด้วยภารกิจที่หนักและเสียสละ รัฐบาลในยุคต่อๆ มาจึงมอบค่าตอบแทนให้คนละ 600 บาทต่อเดือน แม้จะเป็นเงินจำนวนน้อยนิด แต่ อสม.ก็ไม่เคยปริปากบ่น กระทั่งในรัฐบาล คสช. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการอนุมัติเพิ่มเงินเดือน อสม. จากละ 600 บาทเป็น 1,000 บาท คือเพิ่มให้คนละ 400 บาท เป็นเวลา 1 ปี หรือ 12 เดือน ทำให้ อสม.ทั่วประเทศดีใจกัน เพราะถือว่ารัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญ และไม่ทอดทิ้ง อสม.

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง กระทรวงสาธารณสุขยุค "หมอหนู" อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยังมีนโยบายอบรม อสม. เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ทำงานได้กว้างขวางขึ้น เหมือนเป็น "หมอประจำบ้าน" เพื่อช่วยลดโรคภัยไข้เจ็บตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งจะทำให้ลดงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลลงได้ และจะนำเงินมาให้ อสม.ที่ผ่านการประเมินอย่างเป็นระบบ เพื่อเพิ่มค่าตอบแทนให้เป็น 2,500 บาทต่อเดือน

รู้จัก "อสม." หัวหมู่ทะลวงฟัน - มดงาน สธ.สู้โควิด

logoline