svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

สธ.จับมือโรงเรียนแพทย์ตั้งทีมวิจัยพลาสมารักษาโควิด19

21 เมษายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมการแพทย์จับมือโรงเรียนแพทย์ตั้งทีมวิจัยพลาสมาจากผู้ป่วยที่หายแล้ว ขอรับบริจาคตัวอย่างเพื่อศึกษาวิจัย พร้อมปรับใช้การแพทย์วิถีใหม่ เน้นสื่อสารด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลตั้งแต่คัดกรองจนถึงเข้าพบแพทย์ พร้อมจัดทีมแพทย์พยาบาลไม่ให้ทำงานข้ามทีมระหว่างกัน ลดความเสี่ยงติดเชื้อข้ามกลุ่มในบุคลากรทางการแพทย์ด้วยกันเอง

บ่ายวันนี้ (20 เมษายน 2563) ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า กรมการแพทย์ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องทำงานในช่วงสถานการณ์โควิด19 อย่างสูงสุด นำแนวทางการแพทย์วิถีใหม่ (New Normal Medical Services) มาปรับใช้ เน้นการสื่อสารผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลกับผู้ป่วยตั้งแต่ยังไม่มารับบริการที่โรงพยาบาลเพื่อซักประวัติ คัดกรอง นัดหมาย ลดความเสี่ยงทั้งผู้ให้บริการและผู้ป่วยรายอื่นในโรงพยาบาล พร้อมมีการจัดตารางงานทีมแพทย์พยาบาลที่ไม่ข้ามทีมระหว่างกัน (Cross Over Schedule) ป้องกันกรณีมีบุคลากรติดเชื้อจากกลุ่มหนึ่งแล้วนำไปติดอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลให้ต้องกักตัวทำให้กระทบต่อกำลังคนในการทำงานคาดว่าจะช่วยป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลได้อีกแนวทางหนึ่ง

สธ.จับมือโรงเรียนแพทย์ตั้งทีมวิจัยพลาสมารักษาโควิด19

นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้ประสานความร่วมมือกับโรงเรียนแพทย์เพื่อตั้งทีมวิจัยการสกัดพลาสมาจากเลือดผู้ป่วยที่หายแล้วมาวิจัยเพื่อหาวิธีการรักษาผู้ป่วยรายอื่น เนื่องจากตามหลักการของโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสอื่นผู้ป่วยที่หายดีแล้วจะมีภูมิคุ้มกันในร่างกาย เมื่อนำมาสกัดพลาสมาจะใช้รักษาโรคได้ แต่ในกรณีของโควิด19 เป็นโรคใหม่ ทำให้ยังไม่มีองค์ความรู้ทั้งหมด เราจึงอยากขอบริจาคเลือดจากผู้ป่วยที่หายแล้วในช่วงเวลา 15-30 วัน เพื่อนำมาศึกษาวิจัยภูมิต้านทานว่ามีอยู่จริงหรือไม่ต่อไป

สธ.จับมือโรงเรียนแพทย์ตั้งทีมวิจัยพลาสมารักษาโควิด19


ขณะที่ นายแพทย์อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า แนวการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก (Active Case Finding) จากในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตที่ระบาดต่อเนื่องมาสองเดือนขณะนี้เริ่มคุมได้ พบว่าสถิติการตรวจหาผู้ป่วยด้วยวิธี PCR ในจังหวัดภูเก็ตมีอัตราผลบวกอยู่ที่ร้อยละ 4.65 ส่วนกลุ่มเสี่ยงสูงผลบวกอยู่ที่ร้อยละ 6.28 ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ เป็นองค์ความรู้ที่จะนำไปขยายผลต่อด้วยมาตรการเชิงรุกที่ได้มาตรฐาน ขณะนี้เริ่มในพื้นที่เมืองพัทยา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และในกรุงเทพมหานคร 2 จุด คือ บางเขน และคลองเตย สามารถค้นพบผู้ติดเชื้อในชุมชนป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้างได้

สธ.จับมือโรงเรียนแพทย์ตั้งทีมวิจัยพลาสมารักษาโควิด19

logoline