svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"เพื่อไทย" แนะรัฐ 4 ข้อ ใช้จัดการโควิด-19

09 เมษายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ศูนย์ร่วมใจสู้โควิด-19 เพื่อไทย" แนะรัฐบาลถึงมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัส ย้ำมาตรการ 21 วันสยบโรคร้ายถือเป็นทางออกดีที่สุด จี้เร่งตรวจหาผู้ที่ติดเชื้อให้ได้มากที่สุด

นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ประธานศูนย์ร่วมใจสู้ภัยโควิด -19 พรรคเพื่อไทย แถลงข่าวถึงการติดตามสถานการณ์ และมาตรการต่างๆในการควบคุมโรคของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ถึง 7 เม.ย 63 พบว่า 1.ประเทศไทยยังมีการตรวจหาเชื้ออยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ หรือ เยอรมันนี โดยใช้รายงานที่เป็นทางการของศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กสธ. โดยกรมควบคุมโรค และรายงานของ worldometers.info ซึ่งอ้างอิงจากเวปไซด์ของกรมควบคุมโรค http.//ddc.moph.go.th/viral pnuemonia เมื่อ 1 เม.ย 63 ประเทศไทยมีผลการตรวจเชื้อ 26 ต่อประชากร 100,000 คน แต่ต่อมามีการอ้างอิงข้อมูลการตรวจจาก สปสช. และรายงานของศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการวิจัยและวิชาการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เมื่อวันที่ 7 เม.ย 63 ประเทศไทยมีผลการตรวจ 71,860 ตัวอย่าง คิดเป็น 1,079 ต่อล้านประชากร ดังนั้น จะเห็นได้ว่าระบบรายงานผลการตรวจ มีข้อมูลส่วนใหญ่ไม่ถูกนำมารายงาน อย่างเป็นทางการ
นพ.ทศพร กล่าวต่อว่า 2.ในการรายงานสถานการณ์จากศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค 63 พบว่า ตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย 63 ได้มีการแก้ไขรูปแบบของการนำเสนอข้อมูล โดยมีการตัดข้อมูลตัวเลขผลการตรวจผู้ป่วยที่มีอาการตามนิยามเฝ้าระวังที่เหลือ จำนวนผู้ป่วยตรวจไม่พบเชื้อ และผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างรอผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการออก ซึ่งเป็นข้อมูลที่สำคัญ ต่อการควบคุมโรค แต่ไม่ทราบว่าการไม่รายงานข้อมูลดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร

3.มีการกำหนดหลักเกณฑ์การตรวจโรคโควิด-19 ใหม่ โดยให้ตรวจฟรี แต่หากไม่เข้าเกณฑ์ สปสช. จะไม่สนับสนุนค่าตรวจ ซึ่งบังคับใช้ทั้งโรงพยาบาลรัฐ และเอกชน โดยห้ามโรงพยาบาลเก็บค่าตรวจ ซึ่งเกณฑ์ใหม่ที่กำหนด มีการจำกัดการตรวจมากขึ้น ต้องมีประวัติเสี่ยง ต้องมีไข้ ร่วมกับมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย อาทิ มีอาการปอดอักเสบ โดยเกณฑ์ดังกล่าวจะทำให้มีการตรวจน้อยลง และไม่ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยถึง ร้อยละ 85 และจากรายงานการติดเชื้อ ผู้ป่วยโควิด-19 ในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด ตั้งแต่เดือน ม.ค - 4 เม.ย 63 พบว่า มีการติดเชื้อจากภายในบ้าน ถึงร้อยละ 35 ในกรุงเทพมหานคร และร้อยละ 49 ในต่างจังหวัด หากยังคงไม่มีมาตรการค้นหาผู้ป่วยด้วยการตรวจอย่างเข้มข้น คนกลุ่มนี้จะไม่ได้รับการตรวจ และพร้อมจะแพร่เชื้อได้ตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม 4.ศูนย์ร่วมใจสู้ภัยโควิด-19 พรรคเพื่อไทย ยังยืนยันมาตรการ 21 วันสยบโควิด ที่ได้นำเสนอไปแล้ว คือ ต้องเร่งตรวจหาผู้ติดเชื้อให้มากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อจะต้องได้รับการตรวจทั้งหมดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศูนย์ร่วมใจสู้ภัยโควิด-19 พรรคเพื่อไทย จึงมีข้อเสนอเพิ่มเติมดังต่อไปนี้ 1) พิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์ใหม่ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการตรวจมากขึ้น กลุ่มที่มีประวัติเสี่ยงทุกคนต้องได้รับการตรวจ โดยไม่ต้องรอให้มีอาการ กำหนดเพิ่มอาการให้ครอบคลุมมากขึ้น เช่น สูญเสียการรับกลิ่น ทั้งนี้ เกณฑ์การตรวจต้องเป็นมาตรฐานเดียว ไม่เปลี่ยนแปลงกลับไปกลับมา เพื่อสะดวกต่อการแปรผล และนำข้อมูลไปใช้ 2) ควรเน้นการตรวจและรายงานผลเฉพาะพื้นที่ เฉพาะจังหวัด เพื่อกำหนดเป้าหมายควบคุมโรคให้จบเป็นรายจังหวัด 3) ระบบรายงาน ต้องรายงานการตรวจเชื้อครอบคลุมทุกสถานบริการทั้งประเทศ กรณีมีการตรวจโดยสมัครใจเสียค่าใช้จ่าย ต้องมีการรายงานด้วย 4) ควรนำ Rapid Screening Test การตรวจหาภูมิคุ้มกัน (Ab) มาใช้เพื่อความสะดวกเร็ว เข้าถึงได้ง่าย ประหยัดงบประมาณ


ทั้งนี้ เพื่อให้การควบคุมโรคระบาดโควิด-19 สยบอย่างรวดเร็ว ทุกจังหวัดสามารถเปิดเมืองกลับคืนสู่ภาวะปกติได้เร็ว รัฐบาลและศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) จึงควรนำข้อเสนอนี้ไปพิจารณาต่อไป

logoline