svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ปรับแผนรักษาโควิด ให้ "ยาฟาวิพิราเวียร์"กลุ่มปานกลาง

05 เมษายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

5 เม.ย. นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ว่า ประเทศไทยพยายามปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษาโควิด-19 ไปตามผลวิจัยทั่วโลก ในรอบเดือนที่ผ่านมาก็เปลี่ยนแนวทางไปแล้ว 2 ครั้ง

ประเทศไทยพยายามปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษาโควิด-19 ไปตามผลวิจัยทั่วโลก ในรอบเดือนที่ผ่านมาก็เปลี่ยนแนวทางไปแล้ว 2 ครั้ง วันที่ 6 เม.ย.จะมีการประชุมผู้เชี่ยวชาญอีกครั้งหนึ่งเพื่อดูว่าแนวทางการรักษาและผลการรักษาในประเทศ จะมีการปรับอย่างไร แต่โดยหลักการอาการของผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนใหญ่จะเป็นอาการไม่รุนแรง คล้ายไข้หวัดปกติ 65% ไม่มีอาการ 20% ปอดอักเสบไม่รุนแรง 12% และปอดอักเสบรุนแรง 3% ผู้เชี่ยวชาญจึงแบ่งการรักษาตามอาการ คือ
1.กลุ่มไม่มีอาการ ให้สังเกตอาการใน รพ. 2-7 วัน โดยเรายึด 7 วันทั้งหมด เพื่อความมั่นใจ ถ้าทุกอย่างปกติ ให้ย้ายคนไข้จากรพ.เพื่อเป็นการประหยัดเตียงใน รพ. โดยให้ย้ายไปนอนที่รัฐจัดให้ คือ Hospitel หรือหอผู้ป่วยเฉพาะกิจโควิด-19 นอนอีก 7 วัน โดยใน กทม.มี 3 แห่ง คือ โรงแรมแถวดินแดง 270 ห้อง  หอพักมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต  308 ห้อง และโรงแรมแถวจุฬาฯ มีประมาณ 40 ห้อง ตอนนี้มีประมาณ 600 ห้อง
2.กลุ่มอาการไม่รุนแรง จะมีปัจจัยเสี่ยงหรือไม่ก็ตาม ก็จะให้ยาต้านไวรัสบางตัว แต่ไม่รวมยาฟาวิพิราเวียร์ จะรักษาใน รพ. ซึ่งกี่วันก็ตามไม่ทราบ แต่ถ้าอาการดีขึ้นแล้วเหมือนกับไม่มีไข้เลย ไอนิดหน่อย ก็จะย้ายคนไข้พวกนี้ไปนอนที่ Hospitel เช่นกัน รวมแล้วทั้ง 2 กลุ่มเวลาที่อยู่กับเราถ้าเป็นไปได้ จะอยู่กับเราประมาณ 14 วันถึงให้กลับบ้าน กลับไปแล้วยังต้องไปดูอาการตัวเองที่บ้าน ใส่หน้ากาก ทำรักษาระยะห่าง ไม่สัมผัสกับบุคคลอื่นให้ครบ 1 เดือนนับจากวันที่มีอาการ
3.ปอดอักเสบไม่รุนแรง ให้ยาต้านไวรัสกับยาต้านมาลาเรีย ซึ่งการให้ยามีมากขึ้น แต่ยังไม่ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ถ้ามีอาการแย่ลง จะเริ่มให้ยาฟาวิพิราเวียร์
และ 4.ปอดอักเสบรุนแรง ได้รับยาครบทุกตัว และยาฟาวิพิราเวียร์ ส่วนใหญ่ 2 กลุ่มหลังจะนอนใน รพ.นาน เพราะมีอาการพอสมควรหรือมีอาการรุนแรง บางคน 3-4 สัปดาห์ หรือเกินเดือน ก็จะรักษาให้หายดีแล้วค่อยกลับบ้าน ไม่มีการย้ายไปยัง Hospitel
สำหรับประเด็นที่ว่าญี่ปุ่นจะบริจาคยาฟาวิพิราเวียร์นั้น เป็นการให้เฉพาะนำมาใช้ในการศึกษาวิจัย ไม่ได้เอามาใช้ในการรักษา ซึ่งได้มีการติดต่อร.ร.แพทย์แห่งหนึ่งใน กทม. ไม่ใช่ให้คนไข้ทั่วไป ซึ่งชีวิตคนไข้รอไม่ได้ เราจึงต้องติดต่อขอซื้อยานี้ อย่างที่บอกว่ายานี้จะใช้ในกลุ่มที่มีอาการรุนแรง แต่วันที่ 6 เม.ย. จะมีการหารือเพื่อปรับแนวทาง ถ้ายาจะเข้ามาเป็นแสนเม็ด ผู้เชี่ยวชาญอาจจะปรับ เพราะแพทย์บางท่านบอกยิ่งให้ยิ่งเร็วยิ่งดี ก็อาจจะมีการปรับให้ใช้ง่ายขึ้นในกลุ่มอาการกลางๆ คือ ปอดอักเสบไม่รุนแรง ทั้งนี้ ถ้าเปลี่ยนแนวทางมาใช้รักษากลุ่มอาการกลางๆ ด้วยประมาณการว่า 1 เดือนจะใช้ยาประมาณ 7 หมื่นเม็ดหรือถึงแสนเม็ด ซึ่งถ้าแนวทางปัจจุบันที่ใช้ในผู้ป่วยอาการรุนแรงใช้อยู่ที่ประมาณ 4-5 หมื่นเม็ดต่อเดือน
ขณะที่ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า เป้าหมายในการจัดหายาฟาวิพิราเวียร์ คือ ดูแลประชาชนให้ได้รับยาตามข้อบ่งชี้ที่คนสมควรได้ และให้ได้ทั่วถึง สำหรับยาที่มีอยู่ตอนนี้มาจาก วันที่ 24 ก.พ. เราซื้อจากญี่ปุ่น 5 พันเม็ด  ต่อมาวันที่ 2 มี.ค. จีนมีการบริจาค 2 พันเม็ด วันที่ 12 มี.ค. ซื้อจากญี่ปุ่น 4 หมื่นเม็ด วันที่ 30 มี.ค. ซื้อจากญี่ปุ่น 4 หมื่นเม็ด รวมทั้งหมดเป็น 8.7 หมื่นเม็ด ส่วนแผนจัดหาต่อไป คือ จะซื้อจากจีน 1 แสนเม็ด เบ้าใจว่าจะมาถึงวันที่ 6 เม.ย. โดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้จัดหาและกระจาย และจะสั่งซื้อจากญี่ปุ่น 1 แสนเม็ด สำหรับหลักในการกระจายยาเพ่อให้เข้าถึงรวดเร็ว ทั่วประเทศไทย เราจึงแบ่งเป็น 12 เขตสุขภาพ มีโรงพยาบาลที่มียาอยู่ครบ 12 เขต รวมถึงโรงเรียนแพทย์ในภูมิภาค เช่น ม.เชียงใหม่ ม.ขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ก็จะมียา  หรือ กทม.ในส่วนของกรมการแพทย์ สถาบันบำราศนราดูร รพ.สังกัด กทม. และรพ.เอกชน ที่เราร่วมกันก็มียาอยู่ในกลุ่มเหล่านี้ แต่คลังกลางที่จะกระจายยาออกจากคือ อภ. โดยข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 4 เม.ย. เราให้ยาผู้ป่วยไปแล้ว 515 ราย ใช้ไปทั่งสิ้น 4.8 หมื่นเม็ด คงเหลือประมาณ 3.8 หมื่นเม็ด ข้อบ่งชี้ในการให้ยารายที่มีอาการรุนแรง หรือมีอาการแล้วอาจจะแย่ลงก็จะรีบใช้
นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.อภ. กล่าวว่า ยาอื่นที่ใช้ในการรักษาโควิด-19 อภ.มียา 7 รายการ ซึ่งผลิตได้ในประเทศ ก็ไม่เกิดปัญหา เราสำรองเพียงพอ ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ยังไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ ต้องนำเข้ามา โดยมีการหามาตั้งแต่ ม.ค. แต่ได้ไม่มาก เพราะต้องการทั้งโลก เช่น สหรัฐฯ อิตาลี สเปน ยุโรปที่ระบาดรุนแรงก็ต้องการ แต่เรามีแหล่งผลิต 2 ที่ คือ ญี่ปุ่นที่เป็นต้นตำรับยา และจีนที่ได้รับสิทธิบัตร เราก็ได้มาทีละน้อย ซึ่งเราตั้งเป้าอยากสำรองให้ได้ 1 ล้านเม็ด เพราะคนไข้เพิ่มวันละร้อยราย เราต้องเตรียมให้พร้อม ต้องขอซื้อให้ได้ แต่ญี่ปุ่นก็มีแผนสำรองใช้ในประเทศ 2 ล้านเม็ดเช่นกัน การแสวงหาแต่ละล็อตจึงได้แค่คราวละแสนเม็ด เพราะมีปริมาณจำกัด ต้องทยอยผลิตและแบ่งมา เราไม่สามารถรอของบริจาคได้ ทั้งนี้ คนไข้ปัจจุบัน 2 พันราย ตาย 23 รายหรือเกือบ 1% ถ้าไม่ใช้ยานี้อาจไม่ใช่ตัวเลขนี้ก็ได้ อย่างไรก็ตาม ยานี้เรายังต้องมีการติดต่อเพื่อขอซื้ออีก ซึ่งรัฐบาลก็เตรียมงบประมาณสนับสนุนเต็มที่ และเราพยายามหาแหล่งวัตถุดิบตัวนี้ เพื่อเอาวัตถุดิบตัวนี้มาทดลองทำ แต่คงใช้เวลาอีกสักพักกว่าจะสำเร็จ
เมื่อถามถึงกรณีแพทย์ถูกออฟยา  นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ตามปกติแล้วการรับยาฟาวิพิราเวียร์ จะมีการประเมินอาการในช่วง 5 วันหลังรับยา ซึ่งหากอาการดี แพทย์ที่รักษาก็จะประเมินว่าไม่ต้องรับยาต่อ แต่หากประเมินแล้วยังควรรับยาต่อก็จะเบิกจ่ายยาต่อไป 
ดังนั้น แพทย์ผู้ดูแลจะเป็นผู้พิจารณา ซึ่งกรณีนี้แพทย์ที่รักษารายนี้ที่ออกมาพูดว่าถูกออฟยาไม่ได้ยานั้น ก็เป็นการออกมาพูดก่อนที่จะมีการประเมิน เพราะกลัวว่าประเมินแล้วจะไม่ได้รับยาต่อ ทั้งที่จริงแล้ว แพทย์รายนี้ก็ได้รับยาจนครบ เพราะพอ 5 วันแล้วยังมีอาการพอสมควร

logoline