svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

พลิก...กฎหมายคดี "จิตรลดา" วิกลจริต-บ้า..รอดคุก?

30 มีนาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วันนี้มีเรื่องราวที่น่าจับตามองอีกเรื่อง คดีของ "จิตรลดา" หลายคนอาจจะงงว่าจะโดนลงโทษจากศาลหรือไม่ และถ้าอ้างว่าเป็นคนวิกลจริต จะไม่โดนลงโทษเลยใช่หรือไม่

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รอง โฆษก ตร. เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณี หญิงป่วยทางจิตใช้อาวุธมีดเเทงเด็กหญิงวัย 4 ขวบ จนเสียชีวิต ว่า ได้รับรายงานจาก สภ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ว่าเมื่อวันที่ 29 มี.ค.2563 เวลา 17.00 น. รับเเจ้งเหตุมีผู้ถูกทำร้ายร่างกาย ภายในร้านอาหารตามสั่ง บริเวณถนนนครชัยศรี-ห่วยพลู ต.วัดเเค อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม จากตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุพบมีดปลอกผลไม้ของกลาง 1 เล่ม ผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นเด็กหญิง อายุ 4 ขวบ ถูกอาวุธมีดแทงได้รับบาดเจ็บสาหัส และถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลฯ แต่ได้เสียชีวิตในเวลาต่อมาต่อมาได้มี น.ส.จิตรลดา ตันติวาณิชยสุข อายุ 50 ปี ได้เดินทางมาที่ สภ.นครชัยศรี เเต่ไม่ได้ให้ปากคำใดๆ ต่อพนักงานสอบสวน กระทั่งทราบจากญาติของ น.ส.จิตรลดา ว่าเป็นผู้ป่วยทางจิต เมื่อปี พ.ศ.2548 และเคยก่อเหตุเเทงเด็กนักเรียนโรงเรียนเเห่งหนึ่งมาแล้ว โดยเพิ่งพ้นโทษออกมาเข้ารับการรักษาอาการอยู่ที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ล่าสุดมีอาการป่วยอีกจึงกลับไปรักษาอีก จากนั้นได้ออกมาอยู่ที่บ้านได้ไม่กี่วัน น.ส.จิตรลดา ได้นำมีดจากที่บ้านไปก่อเหตุเเทงเด็กหญิงรายนี้จนเสียชีวิต
จริงๆ แล้วเรื่องการรับผิดในทางอาญาของบุคคลที่มีปัญหาทางจิต เป็นพวกจิตเภท หรือวิกลจริต มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 ระบุว่า "ผู้ใดกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น

แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้" 

พลิก...กฎหมายคดี "จิตรลดา" วิกลจริต-บ้า..รอดคุก?


นี่คือหลักการของกฎหมาย ซึ่งวางบรรทัดฐานเรื่่องการรับผิดทางอาญาเอาไว้ใน มาตรา 59  คือบุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนาเท่านั้น ซึ่งการกระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นด้วย ฉะนั้นหากเป็นการกระทำโดยไม่รู้สำนึก หรือไม่มีสติสัมปชัญญะ เพราะวิกลจริต จิตฟั่นเฟือน ย่อมไม่ถือว่าเป็นการกระทำโดยเจตนา หรือไม่มีการกระทำนั้นเกิดขึ้น จึงไม่ต้องรับผิด
แต่การจะพิจารณาวินิจฉัยว่าผู้กระทำผิดรู้สำนึกขณะที่กระทำ หรือวิกลจริต 100% หรือไม่ / ถือเป็นดุลยพินิจของศาล ซึ่งต้องพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ และมีเอกสารรับรองทางการแพทย์ยืนยัน สำหรับกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นวิกลจริต กระทำโดยไม่รู้สำนึก หรือไม่รู้ตัว แม้จะเอาผิดทางอาญาไม่ได้ แต่ผู้เสียหายก็สามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากบิดา มารดา หรือ "ผู้อนุบาล" ซึ่งหมายถึงผู้ดูแลตามกฎหมายได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 ที่ว่า "บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์ หรือวิกลจริต ก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวัง ตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น" 

logoline