svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

ภัยโควิดสะท้อนวิกฤตินักโทษล้นคุก แนะเชิงรุกใช้มาตรการอื่นแทนคุมขัง

28 มีนาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จากสถานการณ์ที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ คือการพบผู้ต้องขังในเรือนจำติดเชื้อโควิด-19 แม้ล่าสุดจะมีข้อมูลยืนยันเพียง 2 รายจาก 2 เรือนจำก็ตาม แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าภายในเรือนจำมีนักโทษล้น และต้องอยู่กันอย่างแออัด จึงมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดการแพร่ระบาดใหญ่ได้

ที่ผ่านมามีมาตรการที่กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว เช่น การตั้งวอร์รูมกรมราชทัณฑ์ เพื่อเกาะติดสถานการณ์ทุกวัน, การคัดกรองและแยกกักกันสำหรับผู้ต้องขังรายใหม่ทุกราย, การคัดกรองผู้ป่วย และแยกกักกัน, มาตรการงดเยี่ยมญาติ และงดการทำงานฝึกอาชีพในสถานประกอบการนอกเรือนจำ เป็นต้น ซึ่งก็สามารถบรรเทาปัญหาไปได้ระดับหนึ่ง
ขณะที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สั่งใช้กฎเหล็ก "คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า" รวมทั้งให้เร่งสร้างห้องกักโรค และห้องน้ำ ให้เพียงพอได้สัดส่วนกับผู้ต้องขัง เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาด

ภัยโควิดสะท้อนวิกฤตินักโทษล้นคุก แนะเชิงรุกใช้มาตรการอื่นแทนคุมขัง


ปัญหานี้เป็นเรื่องใหญ่จริงๆ ถึงขนาดสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ยังออกมาแสดงความกังวล เพราะเกรงจะเกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ ทำให้สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ เสนอมาตรการเพิ่มเติมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพราะเห็นว่าปัญหา "นักโทษล้นคุก ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ" ในบ้านเรานั้น วิกฤติจริงๆ
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวว่า ขอให้กำลังใจและสนับสนุนมาตรการของกรมราชทัณฑ์ที่ดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ แต่สิ่งที่ TIJ อยากเสนอเพิ่มเติมก็คือ การจัดการปัญหา "ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ" อย่างเป็นระบบทั้งระยะเฉพาะหน้าและระยะยาว เพราะปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ของเรือนจำในบ้านเราอยู่ก่อนแล้ว เมื่อเจอกับสถานการณ์โรคระบาด จึงทำให้เห็นว่าเป็นปัญหาที่รอไม่ได้อีกต่อไป

จากข้อมูลของกรมราชทัณฑ์ มีผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศราว 377,000 คน ขณะที่ความจุของเรือนจำทุกแห่งรวมกันอยู่ที่ 250,000 คนเท่านั้น สะท้อนว่ามีจำนวนผู้ต้องขังเกินกว่าความจุมาถึงกว่า 127,000 คน จนเป็นที่ทราบกันว่าผู้ต้องขังแต่ละคนมีที่นอนคนละไม่ถึง 1 ตารางเมตร ฉะนั้นจะใช้มาตรการ "ระยะห่างทางสังคม" หรือ social distancing ย่อมเป็นไปไม่ได้
และหากปล่อยไว้แบบนี้ อาจเป็นการเพิ่มความเครียดให้กับผู้ต้องขัง ยิ่งหลายๆ เรือนจำมีมาตรการงดเยี่ยมญาติด้วย ยิ่งเสี่ยงทำให้เกิดความเครียด ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการก่อจลาจลแล้วในเรือนจำบางประเทศ เช่น อิตาลี หรือโคลัมเบีย ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนไม่น้อย
จากการเก็บข้อมูลของ TIJ มีมาตรการเชิงรุกเสนอเพิ่มเติมจากมาตรการของกรมราชทัณฑ์ คือ พิจารณาให้ปล่อยชั่วคราว หรือปล่อยตัวผู้ต้องขังบางส่วนที่อยู่ในข่ายสมควรได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ ประกอบด้วย
- นักโทษเด็ดขาด (หมายถึงคดีถึงที่สุดแล้ว) ที่เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี กลุ่มนี้มีจำนวน 72,000 คน
- "ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณา" ซึ่งหมายถึงผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการต่อสู้คดี ต้องถูกคุมขังทั้งๆ ที่คดียังไม่ถึงที่สุด เพราะไม่ได้รับประกันตัว รวมทั้งมีบางรายถูกกักขังแทนค่าปรับ เนื่องจากไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ กลุ่มนี้มีราวๆ 67,000 คน นับเป็นสถิติที่สูงมากแห่งหนึ่งของโลก

- ผู้ต้องขังสูงอายุ ซึ่งมีความเสี่ยงได้รับอันตรายถึงชีวิตหากโควิดระบาด ทุกเรือนจำมีผู้ต้องขังอายุเกิน 60 ปีที่คดีถึงที่สุดแล้วรวมกันราวๆ 5,800 คน
- กลุ่มผู้ต้องขังคดีลหุโทษ หรือความผิดเล็กๆ น้อยๆ เช่น กระทำผิด พ.ร.บ.ป่าไม้ กระทำผิด พ.ร.บ.การพนัน หรือเข้าเมืองผิดกฎหมาย กลุ่มนี้มีอีก 9,000 คน
ผู้ต้องขังเหล่านี้ กรมราชทัณฑ์และหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมอาจพิจารณาร่วมกัน เพื่อใช้วิธีการปล่อยชั่วคราว (ให้ประกันตัว) หรือปล่อยก่อนกำหนด หรือพักโทษ หรือใช้มาตรการอื่นแทนการคุมขัง เช่น สวมกำไลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดจำนวนผู้ต้องขัง ซึ่งจะเป็นการช่วยลดความแออัดในเรือนจำไปในตัว
ที่ผ่านมาหลายประเทศก็เริ่มพิจารณาใช้มาตรการเหล่านี้บ้างแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา อิหร่าน อินเดีย เป็นต้น บางประเทศนำระบบเยี่ยมญาติออนไลน์มาใช้ เพื่อลดความเครียดของผู้ต้องขังด้วย
ดอกเตอร์กิตติพงษ์ บอกด้วยว่า ทั้งหมดนี้เป็นมาตรการที่สามารถดำเนินการได้ทันที ถือเป็นมาตรการระยะสั้นเพื่อแก้วิกฤติไปก่อน และต้องพิจารณาเพิ่มเติมไปถึงห้องกักของ ตม. (สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง) รวมถึงสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนด้วย
สำหรับระยะยาวคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องพูดคุยกันอย่างจริงจึงถึงการใช้มาตรการอื่นแทนการคุมขัง เพราะจากสภาพที่เป็นอยู่ ชัดเจนว่าเมืองไทยใช้โทษจำคุกฟุ่มเฟือยเกินไป จนมีปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำติดอันดับสูงสุดของโลก

ภัยโควิดสะท้อนวิกฤตินักโทษล้นคุก แนะเชิงรุกใช้มาตรการอื่นแทนคุมขัง

logoline