svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ธนาธร" ชี้พร้อมเผชิญหน้าวิกฤต ด้วยอุดมการณ์-เป้าหมายเดิม

21 มีนาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วันนี้ (21 มี.ค.63) วันเปิดตัวของคณะก้าวหน้า "ธนาธร" นำทีม พูดถึงสถานการณ์วิกฤตของประเทศมากมายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น วิกฤตศรัทธาของผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง และวิกฤตการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19

นายธนาธร กล่าวว่า วันนี้เป็นวันเปิดตัวของคณะก้าวหน้า ท่ามกลางวิกฤตของประเทศมากมายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น วิกฤตศรัทธาของผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง และวิกฤตการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 สำหรับตนแล้ว วิกฤตที่เรากำลังเผชิญในวันนี้ มีความรุนแรงสาหัส มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่พวกเราจะต้องร่วมมือกัน จากทุกฝ่ายในสังคม ในการพาสังคมไทยออกจากวิกฤตเหล่านี้ให้ได้ คณะก้าวหน้าตั้งขึ้นมาภายใต้การเผชิญหน้ากับวิกฤตเหล่านี้ เรายืนยันที่จะเดินฟันฝ่าวิกฤตเหล่านี้ไปด้วยอุดมการณ์เดิม เป้าหมายเดิมของพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกยุบไป อันได้แก่ การสร้างสังคมที่คนไทยทุกคนเท่าเทียมกัน และประเทศไทยเท่าทันโลก เราตั้งคณะก้าวหน้าขึ้นมาด้วยความปราถนาดี ต่ออนาคตของประเทศชาติ ด้วยความหวังดีกับเพื่อพี่น้อง ประชาชนคนไทยทุกคน เราต้องการรณรงค์เพื่อพาประเทศไทยไปข้างหน้าอย่างสันติ เราต้องการสร้างฉันทามติใหม่ที่จะทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เท่าเทียม และได้รับความเป็นธรรม

"ธนาธร" ชี้พร้อมเผชิญหน้าวิกฤต ด้วยอุดมการณ์-เป้าหมายเดิม


"ในฐานะที่ตนเป็นตัวแทนของคณะก้าวหน้า มีข้อเสนอเพื่อแก้วิกฤตของรัฐไทย เริ่มจากการวิเคราะห์หลักคิดในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาลปัจจุบัน ในการแก้ปัญหาของไวรัสโควิด-19 ของคุณประยุทธ์นั้น เราเห็นข้อบกพร่อง เราเห็นหลักคิดที่ไม่เหมาะสมของผู้นำประเทศ อย่างเช่นในช่วงที่ผ่านมามีการรายงานข่าวจากสื่อมวลชนว่า การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยได้มีการเปิดโรงแรมสุวรรณภูมิกว่า 100 ห้อง เพื่อรับคนต่างชาติเข้ามากักตัว 14 วัน ในขณะเดียวกัน ที่ศูนย์กักตัวแรงงานไทยที่กลับจากประเทศเกาหลี มีเพียงมุ้ง มีเพียงขัน ซึ่งการปฏิบัติทั้ง 2 กรณีเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า หลักคิดว่าคนไม่เท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติระหว่างคนกลุ่มหนึ่ง กับคนอีกกลุ่มหนึ่ง แสดงให้เห็นถึงการแบ่งชั้นวรรณะในกระบวนคิดของผู้บริหาร ทั้งนี้ เราไม่ได้ขาดคนที่หวังดีต่อสังคม" นายธนาธร กล่าวนายธนาธร กล่าวอีกว่า เราไม่ได้ขาดคนที่มีความสามารถ แต่สิ่งที่เราขาดก็คือผู้นำที่เข้าใจปัญหา ผู้นำที่มีหลักคิดที่ถูกต้องในการแก้ปัญหา รูปแบบที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำซากของการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ใน 2 เดือนที่ผ่านมาแสดงให้เห็นการดูแลคนไทยไม่เท่าเทียมกัน ไม่เห็นหัวคนเล็กคนน้อย คนรวยคนมีอำนาจได้รับการปฏิบัติอย่างหนึ่ง ขณะที่คนจนได้รับการปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง มีการฟ้องปิดปาก รัฐบาลขาดประสิทธิภาพในการสั่งการ ส่งผลให้การปฏิบัติไม่เป็นรูปธรรม การแก้ไขปัญหาไวรัสโควิด-19 จำเป็นจะต้องแก้ไขปัญหาต้องกระบวนทัศน์ใหม่ เราต้องจัดความสำคัญใหม่ ให้ผู้เชี่ยวชาญยื่นข้อเสนอ ซึ่งประกอบด้วยข้อเสนอ 3 มาตรการที่เชื่อมต่อกัน คือ 1.มาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส 2.มาตรการทางการแพทย์และสาธารณะสุข 3.มาตรการเยี่ยวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งการตัดสินใจด้วยข้อมูล ใช้ข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์และแบบจำลองทางสถิติมาเป็นเครื่องช่วยตัดสินใจ

"ธนาธร" ชี้พร้อมเผชิญหน้าวิกฤต ด้วยอุดมการณ์-เป้าหมายเดิม


"เราจะคิดแต่มาตรการใดมาตรการหนึ่งไม่ได้ การออกแบบมาตรการในการแก้ไขปัญหา จำเป็นจะต้องออกแบบด้วยการคำนึงถึง 3 ส่วนไปด้วยกัน เราต้องยึดหลักการให้มั่นว่าการแก้ไขปัญหาโควิด-19 หลักการที่สำคัญที่สุดคือ หลักการที่ว่าทุกชีวิตสำคัญเท่ากัน ต้องช่วยเหลือชีวิตของเพื่อนร่วมสังคมให้ได้มากที่สุด และสุดท้ายเราต้องระดมสรรพกำลัง สนับสนุนให้ผู้ที่นำนโยบายที่ตัดสินใจจากฝ่ายการเมือง ไปใช้ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และต้องให้พวกเขาเหล่านั้นมีขวัญกำลังใจที่ดี เพื่อที่จะต่อสู้เป็นแถวหน้าของการป้องกัน และการจัดการการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 นี่คือกระบวนทัศน์ที่จะต้องมี" นายธนาธร กล่าว

นายธนาธร กล่าวอีกว่า ขอเสนอแรกของคณะก้าวหน้าในการแก้วิกฤตของชาติในครั้งนี้ คือ คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต้องเสียสละลาออก เปิดทางให้คนอื่นเข้ามาเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาวิกฤตของชาติแทน เมื่อคุณประยุทธ์ ลาออกแล้ว ให้สภาผู้แทนราษฏรแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยมีภารกิจเฉพาะหน้า 2 อย่าง ที่จะต้องทำให้เสร็จภายในกรอบเวลา 1 ปี คือ ภารกิจที่ 1 คือ แก้สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 รวมถึงการฟื้นฟูประเทศหลังจากนั้น ภาระกิจที่ 2 คือ เป็นเจ้าภาพในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามข้อเสนอ 3 ยุบ 1 เลิก 1 แก้ คือ ยุบศาลรัฐธรรมนูญ ยุบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ยุบวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ส่วน 1 เลิก คือเลิกมาตรา 279 ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ยกเลิกการนิรโทษกรรมให้แก่บรรดาประกาศคำสั่งและการกระทำของคสช. และ 1 แก้ คือแก้มาตรา 256 ให้สามารถมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้น และกำหนดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน

"ธนาธร" ชี้พร้อมเผชิญหน้าวิกฤต ด้วยอุดมการณ์-เป้าหมายเดิม


"ทำไมต้อง 3 ยุบ 1 เลิก 1 แก้ เหตุผลก็คือเพื่อทำให้การเลือกตั้งครั้งหน้า เราจะได้ผู้นำของประเทศที่เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง ที่มาจากเจตนารมณ์ของประชาชนจริงๆ ไม่ใช่ผู้นำของประเทศที่มาสืบทอดอำนาจจากการทำรัฐประหาร เมื่อสภาผู้แทนราษฏรแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้ว มีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่แล้ว เอาภาระกิจเฉพาะหน้า 2 เรื่องนี้ไปจัดการภายใน 1 ปี เสร็จแล้ว 'ยุบสภา' เปิดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ ให้มีการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญพร้อมกันในคราวเดียวกัน หากเดินตามโร้ดแมพนี้ เราจะได้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อมาทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คืนอำนาจให้กับประชาชน เราจะได้ผู้นำประเทศคนใหม่ที่มาจากเจตจำนงของประชาชน และนั่นคือโร้ดแมพในการแก้วิกฤตรัฐไทยที่คณะก้าวหน้าเสนอในวันนี้ ไม่ใช่เพื่อแก้วิกฤตใดวิกฤตหนึ่ง แต่เอาวิกฤตทั้งหมดมาทำให้เป็นโอกาส ในการพาประเทศไทยเดินไปข้างหน้า ตอนนี้ผมไม่ใช่ ส.ส.แล้ว ไม่ใช่ผู้นำพรรคการเมืองแล้ว ดังนั้น ขอเสนอของเราไม่ใช่เป็นการช่วงชิงอำนาจทางการเมือง แต่เป็นข้อเสนอเพื่อพาประเทศไทยไปข้างหน้า" นายธนาธร กล่าว

"ธนาธร" ชี้พร้อมเผชิญหน้าวิกฤต ด้วยอุดมการณ์-เป้าหมายเดิม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตอนหนึ่งเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้ส่งคลิปวีดีโอรวมถึงโทรศัพท์เข้ามาถาม โดยมีคำถามบางส่วนว่า ในสถานการณ์ของ covid-19 ขณะนี้ การดำเนินการของคณะก้าวหน้าจะทำอย่างไร และการทำงานบนโซเชียลมีเดียจะบรรลุผลได้มากแค่ไหน โดย นายธนาธร กล่าวว่า ในสถานการณ์ covid-19 เช่นนี้ สิ่งที่เราพอจะทำได้ก็คือการเริ่มจากตัวเองในการมีวินัย หลีกเลี่ยงการพบปะกับผู้อื่น ป้องกันไม่ให้เราได้รับเชื้อและไม่ให้เราเอาเชื้อไปแพร่ใส่ผู้อื่น ในภาวะที่รัฐบาลไม่มีความชัดเจน นี่เป็นเป็นมาตรการที่เราเริ่มด้วยตัวเองได้ คือการมีวินัยและความรับผิดชอบต่อสังคม อย่างการจัดรูปแบบออนไลน์เช่นนี้ก็เป็นโอกาสให้สังคมเรียนรู้และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ อย่างที่ผ่านมาตนก็ได้ไปสอนหนังสือออนไลน์มาแล้วสามคลาส โดยที่ตนไม่ต้องเดินทางไปสอนหนังสือตามคำเชิญด้วยตนเองเลย

"ธนาธร" ชี้พร้อมเผชิญหน้าวิกฤต ด้วยอุดมการณ์-เป้าหมายเดิม


ขณะที่ นายปิยบุตร ระบุว่า สิ่งที่เราเริ่มต้นด้วยความรับผิดชอบ ก็คือการจัดงานในลักษณะออนไลน์เช่นนี้เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้คนมาพบกัน ซึ่งถ้าประสบความสำเร็จดี ได้รับความสนใจ มีคนติดตามมาก เราก็จะจัดในรูปแบบนี้ต่อไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีปัจจัยอะไรที่จะทำให้ข้อเสนอโรดแมปของคณะก้าวหน้าเป็นจริงได้ นายธนาธร ตอบว่า การแพร่ระบาดของไวรัสขณะนี้ แน่นอนว่า ทำให้การรวมตัวของคนหมู่มากในการเรียกร้องข้อเสนอเป็นไปไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเราพูดคุยและส่งสารให้ผู้มีอำนาจไม่ได้ ตนอยากบอกว่าสิ่งที่เสนอมาทั้งหมดนั้น พวกตนไม่มีใครได้ประโยชน์อะไรเลยจากข้อเสนอเหล่านี้ เพราะถูกตัดสิทธิ์ไปแล้วและตนไม่ได้เป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีแล้ว และที่เราไม่เสนอยุบสภาก็เพราะการยุบสภาจะทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง ในภาวะนี้จะเกิดสุญญากาศทางการเมืองไม่ได้ แต่การให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในอำนาจต่อไป โอกาสที่จะฝ่าวิกฤติเป็นไปได้ยากมาก ถ้าผู้นำไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน และ พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ไว้ใจประชาชนมาแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว ในสภาวะแบบนี้จะฝ่าวิกฤติที่ต้องการความร่วมแรงร่วมใจของประชาชนไปได้อย่างไร วิกฤติ covid-19 นี้จะอยู่กับเราอีก 1 ปีอย่างน้อย ยิ่งแก้ยิ่งตัดสินใจช้าต้นทุนทางสังคมในการแก้ปัญหาในอนาคตจะยิ่งสูงมาก เราไม่ได้ต้องการส่งสาสน์แค่ถึงประชาชนให้ร่วมกันเรียกร้อง แต่เราส่งสารตรงๆไปถึงผู้มีอำนาจ ไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ว่าถึงเวลาแล้วที่ พล.อ.ประยุทธ์จะต้องเสียสละให้ประเทศไปต่อได้แล้ว ยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อผลร้ายยิ่งมหาศาล พล.อ.ประยุทธ์ไม่เข้าใจการบริหารงานในทางเศรษฐกิจเลย วันนี้การชุมนุมรวมตัวกดดันให้ลาออกเป็นไปไม่ได้ แต่เราช่วยกันคนละไม้ละมือออนไลน์ ส่งเสียงดังๆ ได้ นี่คือเวลาที่กลุ่มชนชั้นนำต้องพิจารณาเรื่องนี้จริงจัง

"ธนาธร" ชี้พร้อมเผชิญหน้าวิกฤต ด้วยอุดมการณ์-เป้าหมายเดิม


นายปิยบุตร กล่าวต่อไปว่า โรดแมปที่คณะก้าวหน้าเสนอ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ วิกฤติทั้งความชอบธรรมและประสิทธิภาพที่รัฐบาลนี้เผชิญมาตลอด ได้มาระเบิดออกเมื่อมีวิกฤติ covid-19 ตนอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์มองออกไปจากโลกส่วนตัวแล้วมองให้กว้าง ให้ไกล ฟังเสียงประชาชนให้มาก ลองดูบรรยากาศที่ประชาชนเรียกร้อง คนที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์มาก่อนยังบอกเลยว่าไม่ไหวแล้ว ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบกลไกการแก้รัฐธรรมนูญที่เป็นไปไม่ได้เลยถ้า ส.ว.ไม่ยอม วิถีทางเดียวคือเจ้าของ ส.ว.ต้องส่งสัญญาณให้ ส.ว.ยอมแก้ หรือสอง เจ้าของประเทศต้องส่งสัญญาณมาให้แก้ ซึ่งไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะในอดีตก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เราต้องตั้งหลักไว้ว่าถ้าประเทศไทยเป็นของคนทุกคนร่วมกัน ไม่ใช่ของชนชั้นนำกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแต่เป็นของคนไทยทั้งประเทศร่วมกัน การตัดสินใจที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของคนทั้งประเทศ ชนชั้นนำจะพร้อมรับฟังและพร้อมเปลี่ยนแปลง

"ธนาธร" ชี้พร้อมเผชิญหน้าวิกฤต ด้วยอุดมการณ์-เป้าหมายเดิม

ผู้สื่อข่าวยังถามต่ออีกว่า การถูกตัดสิทธิทางการเมือง การเคลื่อนไหวในฐานะคณะก้าวหน้าจะทำอย่างไรไม่ให้ขัดกับรัฐธรรมนูญ นายปิยบุตรตอบว่า ตนถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง มีผลให้เราห้ามไปก่อตั้งและยุ่งเกี่ยวกับการก่อตั้งพรรคใหม่ มีลักษณะต้องห้ามไปเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ไปครอบงำพรรคการเมืองไม่ได้ แต่ไม่ได้มีการตัดสิทธิในความเป็นพลเมืองไทย เสรีภาพการแสดงออก การเสนอความคิดเห็น และการรณรงค์ทางการเมืองยังสามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง ในท้ายที่สุด พรรคก้าวไกลที่เกิดขึ้นก็เป็น ส.ส.ของอดีตพรรคอนาคตใหม่ และประกาศไปอย่างชัดเจนที่จะเดินทางไปตามแนวทางพรรคอนาคตใหม่ต่อ วันนี้ ส.ส.ฝ่ายค้านในสภาเหลือแค่ประมาณ 220 เสียง ต่อไปนี้งานในสภาโหวตกี่ครั้งฝ่ายค้านก็จะแพ้ฝ่ายรัฐบาล แต่ความคิดที่เรารณรงค์ไม่หายไป ตรงกันข้าม ประชาชนสนับสนุนเรามากขึ้น ดังนั้น จำนวน ส.ส.ในสภาวันนี้ไม่ได้สำคัญแล้ว ความนิยมของรัฐบาลไม่ได้เพิ่ม เสียงต่อต้านก็มากขึ้นเรื่อยๆ นี่คือจุดชี้วัดที่สำคัญว่าการทำงานทางความคิดสำคัญกว่าจำนวน ส.ส.ในสภา

"ธนาธร" ชี้พร้อมเผชิญหน้าวิกฤต ด้วยอุดมการณ์-เป้าหมายเดิม


ขณะที่ นายธนาธร กล่าว่า ตอนพวกเราตั้งพรรคขึ้นมาไม่มีใครคิดว่าจะมี ส.ส.เยอะ หรือต้องการที่จะมียศถาบรรดาศักดิ์ตำแหน่งใหญ่โต แต่เราคิดเรื่องการรณรงค์ทางคามคิดกับสังคม เป็นเรื่องของการทำงานในระยะยาว ไม่มีใครคิดว่าการเลือกตั้งครั้งเดียวจะหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจได้ เมื่อตั้งพรรคมาแบบนั้น พอถูกยุบพรรคเราก็ยังทำงานการเมืองต่อได้ เป้าหมายของเราไม่ใช่เพื่อการเป็น ส.ส. หรือรัฐมนตรี แต่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีขึ้น ให้มีประชาธิปไตยและความเท่าเทียมในสังคมไทย เมื่อเป้าหมายเป็นแบบนี้แล้ว จะอยู่ในบทบาทอะไรก็ทำได้ ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส.อย่างเดียว

logoline