svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ชาติพัฒนา" แนะรัฐเลื่อนเสียภาษี - ลด VAT เหลือ 5% สู้โควิด-19

21 มีนาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ชาติพัฒนา"เสนอมาตรการแบ่งเบาภาระประชาชนช่วงโควิด-19 ระบาด แนะ แนะรัฐเลื่อนการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปเป็น ก.ย.63 ยกเว้นหักภาษี ณ ที่จ่ายในแต่ละเดือน, เลื่อนจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลไป เป็น ส.ค.63 , พิจารณาลดภาษี VAT จาก 7% เหลือ 5% ถึงสิ้นปี 63

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา พร้อมด้วยนายเทวัญ ลิปตพัลล รัฐมนตรีรประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา ได้แถลงถึงข้อเสนอแนะของพรรคชาติพัฒนาต่อสถานการณ์ COVID-19 ระบุว่า
ตามที่ได้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ตลอดระยะเวลาสองสามเดือนที่ผ่านมา มีผลให้ขณะนี้ (20 มีนาคม) มียอดผู้ติดเชื้อสะสมของไทยเพิ่มเป็น 322 ราย และมีผู้เสียชีวิต 1 รายนั้น
พรรคชาติพัฒนามีความเห็นต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ นอกจากการแก้ไขปัญหาเรื่อโควิด-19 แล้ว รัฐบาลยังได้มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยา ที่จะทำคู่ขนานเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ และผู้ใช้แรงงาน และประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาการว่างงาน การเลิกจ้าง ภาระการผ่อน หนี้สิน ฯลฯ โดยมอบให้หน่วยงานต่างๆ ไปดำเนินการ
พรรคชาติพัฒนาเห็นว่าเป็นนโยบายที่ถูกต้องที่รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการ เยียวยาแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนโดยด่วน คู่ขนานกับการจัดการปัญหาโควิด-19 แม้กระทั่งสหรัฐอเมริกาเองก็ได้กำหนด

"ชาติพัฒนา" แนะรัฐเลื่อนเสียภาษี - ลด VAT เหลือ 5% สู้โควิด-19


มาตรการทางเศรษฐกิจในวงเงินประมาณ 1 ล้านล้าน ดอลล่าร์ (ประมาณ 30 ล้านล้าน บาท) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ผู้ว่างงาน รวมทั้งมาตรการเลื่อนชำระภาษี เพื่อพยุงเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา
พรรคชาติพัฒนาใคร่ขอเสนอแนะข้อคิดเห็นให้รัฐบาลรับไปพิจารณา คือ ควรกำหนดมาตรการทางการคลัง และมาตรการทางการเงินที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มรายได้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง และลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการ และประชาชน ผู้เดือดร้อนในขณะนี้ คือ
1. สำหรับประชาชนทั่วไป ควรพิจารณาลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2562 ที่กำหนดจากเดิมชำระในเดือนมิ.ย.63 นี้ (หลังจากที่รัฐบาลได้เลื่อนให้แล้ว 3 เดือน) จากอัตราก้าวหน้า 10-35% เป็น 5-35% และเลื่อนการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมจากเดือน มิ.ย. 2563 เป็น ก.ย. 2563 รวมทั้งการยกเว้นการหักภาษี ณ ที่จ่ายในแต่ละเดือน ของเงินได้ประเภทจ้างแรงงานหรือรับจ้าง ออกไป 6 เดือน โดยให้ไปชำระคราวเดียวกันในเดือนมีนาคม 2564 ก็จะเป็นการเสริมสภาพคล่องให้กับประชาชนโดยตรง ในภาวะวิกฤตปัจจุบัน
2. เลื่อนการจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคล (อัตรา 20% ของกำไร) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุด 31 ธ.ค. 2562 ที่จะต้องจ่ายในเดือน พ.ค. 2563 เป็น ส.ค. 2563 และเลื่อนการยื่นเสียภาษีกลางปีของปี 2563 ที่จะครบกำหนดเดือน ส.ค.2563 ออกไปเป็น พ.ย. 2563 และลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล จาก 20% ลงเหลือ 10% สำหรับปี 2563 ผู้ประกอบธุรกิจก็จะมีสภาพคล่องมากขึ้น
3. เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชนด้านราคาสินค้าและบริการในช่วงวิกฤต เห็นสมควรพิจารณาลดภาษี VAT จาก 7% เป็น 5% ให้มีผลโดยเร็วถึงสิ้นปี 2563 นี้ เพื่อให้สินค้าราคาถูกลง เป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของประชาชน
4. เลื่อนการมีผลบังคับใช้ของกฎหมายใหม่ คือ ภาษีที่ดินแล ะสิ่งปลูกสร้างออกไป 1 ปี ในช่วงวิกฤต ซึ่งยังไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ณ ขณะนี้
5. ขอความร่วมมือจากธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ ในการลดอัตราดอกเบี้ย และผ่อนผันการชำระคืนเงินต้นต่างๆ ของผู้ประกอบการ SME และประชาชนทั่วไป ให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบ สอดคล้องกับการลดดอกเบี้ยนโยบายของ กบง. จาก 1% เหลือ 0.75%
6. เสริมสร้างการจ้างงานในชนบทให้ถึงมือประชาชน และผู้ใช้แรงงาน เกษตรกรโดยตรง ผ่านกลไกกองทุนหมู่บ้าน หรือกองทุนพัฒนาชุมชนเมือง ในลักษณะคล้ายโครงการเงินผันในอดีต เพื่อแก้ไขปัญหาการว่างงาน และสร้างรายได้ให้รากหญ้า
7. รัฐบาลต้องเตรียมตั้งรับกับภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนอย่างรุนแรงจากเดิมที่โลกเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากสงครามการค้า และเมื่อมีเหตุการณ์โควิด-19 ที่แพร่ขยายไปทั่วโลก และยังไม่สามารถประเมินสถานการณ์ที่ชัดเจนได้ว่าจะยุติเมื่อไหร่ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอนก็คือ การขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกจะติดลบ (Negative Growth) คือ การว่างงานจะเพิ่มขึ้น การผลิตและบริการจะลดลง GDP ของประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะติดลบ ราคาน้ำมันที่ถูกลง จะเกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำมันของประเทศ ราคาสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของประเทศ
พรรคชาติพัฒนาใคร่ขอเสนอให้มีการปรับแผนการใช้จ่ายเงินของประเทศภายใต้งบประมาณปี 2563 (ประมาณ 3.2 ล้านล้าน บาท) และปรับปรุงงบประมาณปี 2564 ที่อยู่ระหว่างการจัดทำและยังไม่ได้เสนอสภา (ประมาณ 3.3 ล้านล้าน บาท) ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมันและสถานการณ์โควิด-19 ในด้านการแก้ปัญหาโควิด-19 จะต้องมีการจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขที่เพียงพอกับการแก้ไขปัญหาการขาดแคลน แพทย์ โรงพยาบาล อุปกรณ์ ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ และส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาด้านการแพทย์อย่างจริงจัง เพื่อระงับยับยั้งโควิด-19 ให้ทันกับสถานการณ์ และเป็นบรรทัดฐานในการสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพของประชาชนให้กับประเทศ
ขณะเดียวกันภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยและติดลบ รวมถึง GDP ของประเทศที่มีแนวโน้มติดลบ อาจนำไปสู่ DEMAND ด้านต่างๆ ที่ลดลงอย่างมาก ควรทบทวนงบประมาณด้านการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ ให้เหมาะสมกับระยะเวลา ขนาดการลงทุน และความต้องการและให้ลำดับความสำคัญของการจัดสรรงบประมาณประเทศให้กับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และพัฒนาศักยภาพ ด้านการเกษตร และการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง โดยเฉพาะด้านการเกษตรที่ประเทศไทยเป็นครัวของโลก ซึ่งหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย เรื่องอาหาร กับการเกษตร จะเป็นสินค้าที่มีความต้องการอย่างมากในตลาดโลก ซึ่งวิกฤตที่เกิดขึ้น ก็อาจสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้

logoline