svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ช่อ" แนะรัฐรวมศูนย์การสื่อสาร ช่วงโควิด-19

19 มีนาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"พรรณิการ์" แนะรัฐสื่อสารช่วง "วิกฤตโควิด-19" 4 ประเด็นต้องแก้ไข ช่องทางถูกต้องรวมศูนย์- ครอบคลุมครบถ้วน- หยุดไล่ฟ้อง ปชช. - สร้างโอเพ่นดาต้าให้ประชาชนรับรู้

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม นางสาวพรรณิการ์ วานิช อดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงแนวทางการสื่อสารของภาครัฐ และการรับสารของประชาชน ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 โดยระบุว่า ในช่วงเวลาที่อยู่ในภาวะวิกฤตสาธารณะสุขที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 100 ปี ในการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ไม่ได้มีเพียงปัญหาด้านสาธารณะสุขเพียงอย่างเดียว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้ด้านการจัดการในด้านสาธารณะสุขนั้นก็คือ การจัดการด้านการสื่อสาร วันนี้ อยากจะแสดงความคิดเห็นเล็กน้อย เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ในด้านการสื่อสารจากรัฐไปถึงประชาชน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับชีวิตของประชาชนคนไทยในการรักษาตนเองให้รอดจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีอยู่ 4 ประเด็นในการสื่อสารระหว่างรัฐกับประชาชนในช่วงที่เกิดวิกฤตเช่นนี้

"ช่อ" แนะรัฐรวมศูนย์การสื่อสาร ช่วงโควิด-19


นางสาวพรรณิการ์ กล่าวว่า ประเด็นแรกการสื่อสารในห้วงวิกฤต ไม่ใช่การสื่อสารตามระบบราชการปกติ แต่ปัจจุบันหากประชาชนจะหาข้อมูลอัพเดทที่เที่ยงตรงแม่นยำเรื่องโควิด-19 กลับไม่มีใครนึกออกว่าควรไปดูที่ช่องทางไหน มีทั้งเพจชัวร์ก่อนแชร์ เพจศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากการติดเชื้อโควิดและเว็บไซต์กรมควบคุมโรค แถลงทางการจากกระทรวงสาธารณสุข แถลงจากนายกรัฐมนตรี คำถามง่ายๆ หากเดินไปถามประชาชนคนไทย ถ้าคุณอยากจะติดตามข่าวสารไวรัสโควิด-19 ได้อย่างเที่ยงตรง ไม่บิดเบือน เป็นข้อมูลที่ดีที่สุด คุณจะไปดูที่ไหน ตนเชื่อว่าไม่มีใครตอบได้หรือไม่มีคำตอบที่ตรงกัน นี่ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ในห้วงที่เกิดวิกฤตเช่นนี้ แต่ว่าการสื่อสารของภาครัฐในช่วงนี้ ไม่ได้เป็นการสื่อสารในช่วงวิกฤต แต่เป็นการสื่อสารในระบบราชการทั่วๆ ไป เราจึงจะเห็นได้ว่ามีแถลงการณ์ จากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทำให้ประชาชนเกิดความสับสนไม่รู้ว่าจะเชื่อข่าวจากทางไหนกันแน่ ซึ่งบางข้อมูลขัดแย้งกัน อย่างเพจชัวร์ก่อนแชร์ มีข้อมูลที่ดีมาก แต่อินโฟกราฟิกเข้าใจยาก ทำให้เข้าไม่ถึงประชาชน

"ช่อ" แนะรัฐรวมศูนย์การสื่อสาร ช่วงโควิด-19


พรรณิการ์ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ 2 ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลมากที่สุด อย่างกรมควบคุมโรค ประชาชนเข้าถึงน้อยมาก ในขณะที่แถลงการณ์จากนายกรัฐมนตรีที่เป็นโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ก็ไม่ใช่ข้อมูลที่ครบถ้วนเพียงพอ และยากต่อการทำความเข้าใจ ซึ่งช่องทางหลักของการสื่อสารควรรวมเป็นแหล่งเดียว ออก 2 ช่องทาง คือทีวี และออนไลน์ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศยังเข้าถึงทีวีมากที่สุด ในขณะที่ออนไลน์มีลักษณะอัพเดทรวดเร็ว ไวต่อสถานการณ์ แถลงการณ์ของกรมควบคุมโรคควรเป็นแถลงออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ และมีตัววิ่งทางทีวี ควบคู่กับการอัพเดทออนไลน์ ตัวอย่างเช่น ไต้หวัน ในแต่ละวันมีการออกมาตรการต่างๆ โดยรัฐถึง 4-5 รายการ แต่ก็ไม่ได้สร้างความสับสน เพราะมีการสื่อสารแบบรวมศูนย์โดยศูนย์บัญชาการโควิดที่เดียวอย่างเป็นระบบ

"เว็บไซต์ที่เป็นประโยชน์กับประชาชนกลับไม่มีใครเข้าไปดู ประชาชนไม่รู้ว่าต้องเข้าไปที่เว็บไซต์ใดถึงจะได้ข้อมูลที่ครบถ้วนที่สุด ในขณะเดียวกันแถลงการณ์จากนายกรัฐมนตรีที่ส่งถึงประชาชนมากกว่า 95 % หากพูดกันอย่างตรงไปตรงมา ไม่ได้มีข้อมูลที่จำเป็นสำหรับประชาชนมากพอ แต่กลับเป็นข้อมูลที่ไปถึงประชาชนในระดับกว้างที่สุด สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น การสื่อสารควรจะรวมศูนย์เป็นช่องทางเดียว เป็นการสื่อสารที่เป็นทางการ รวดเร็ว ฉับไว และมีข้อมูลที่ครบถ้วน" นางสาวพรรณิการ์ กล่าว
พรรณิการ์ กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่ 3 รัฐใช้ศูนย์ต่อต้านเฟคนิวส์ รับมือกับข่าวสารผิด บิดเบือน ข่าวปลอม ในกรณีโควิด-19 ซึ่งแน่นอนว่าการจัดการข่าวปลอมเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อป้องกันความตื่นตระหนกและการเผยแพร่ความเข้าใจผิดๆเกี่ยวกับการรับมือโรคระบาด แต่ปัญหาคือ การสื่อสารที่ไปไม่ถึงประชาชน ทำให้เกิดช่องว่าง ประชาชนกระหายข้อมูลที่ฉับไวรวดเร็ว เพราะกำลังกังวลเรื่องโรคระบาด จึงไม่แปลกที่จะเกิดข้อมูลข่าวสารมากมายจากช่องทางไม่เป็นทางการ วิธีการที่ดีที่สุดในการต้านข่าวปลอมในช่วงเวลานี้ จึงเป็นการทำให้ข้อมูลข่าวสารจากรัฐ ไปถึงประชาชนอย่างรวดเร็วและกว้างขวางที่สุด

"ช่อ" แนะรัฐรวมศูนย์การสื่อสาร ช่วงโควิด-19


"นี่คือครั้งแรกที่โลกเผชิญกับภัยพิบัติโรคระบาดที่แพร่กระจายทั้งโลกในยุคโซเชียลมีเดีย ในยุคที่ผู้คนกระหายข้อมูลอย่างมาก เนื่องด้วยความกังวลว่าจะติดโรคระบาด สิ่งที่รัฐจะทำได้เพื่อยุติเฟคนิวส์หรือทำให้เฟคนิสว์เหลือน้อยที่สุดนั่นก็คือ การให้ข้อมูลที่รวดเร็วและเที่ยงตรงกับประชาชน ถ้ารัฐย่นระยะช่องว่างระหว่างความต้องการข่าวสารกับความสามารถที่รัฐจะให้ข่าวได้ ยิ่งลดได้มากเท่าไร ยิ่งเหลือพื้นที่สำหรับเฟคนิวส์น้อยเท่านั้น อย่ามัวแต่ไปไล่ฟ้องคนที่ให้ข่าว ซึ่งบางครั้งอาจไม่ใช่เฟคนิวส์ แต่อาจเป็นข่าวที่ไม่เป็นทางการเท่านั้นเอง" นางสาวพรรณิการ์ กล่าว
นางสาวพรรณิการ์ กล่าวอีกว่า ประเด็นสุดท้าย การใช้ open data (ข้อมูลเปิดเผย) และเปิดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลอย่างฉับไว ทั้งข้อมูล travel log หรือบันทึกการเดินทางไปยังที่ต่างๆ ของผู้ติดเชื้อ และที่จัดจำหน่ายหน้ากาก เจลล้างมือ ชุดตรวจโรค รวมถึงข้อมูลจำเป็นทั้งหมดอย่างเป็นระบบ จำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่เฟส 3 ที่การระบาดของโรคแพร่ไปมากแล้ว ตอนนี้มีความพยายามทั้งจากรัฐและเอกชน ในการจัดทำข้อมูลเช่นนี้ แต่ปัญหาคือ ในขณะที่เอกชนทำอินเตอร์เฟซแอพพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์ได้ดี แต่ก็ขาดข้อมูลที่มากพอ ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขมีข้อมูลมากในฐานะรัฐ แต่ไม่มีประสบการณ์ในการจัดการข้อมูลให้ดูง่าย เข้าใจง่ายสำหรับประชาชนทั่วไป การร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนเพื่อทำเว็บไซต์หรือแอพฯที่ทั้งข้อมูลครบถ้วนและเข้าใจง่าย เริ่มขึ้นแล้ว แต่ยังล่าช้าไม่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม เราควรเร่งให้เกิดเว็บไซต์หรือแอพฯรวบรวมข้อมูลที่เข้าใจง่ายและเที่ยงตรงเช่นนี้โดยเร็วที่สุด หากไทยเข้าสู่เฟส 3 จะได้สามารถรับมือสถานการณ์ และสร้างความอุ่นใจให้กับประชาชนได้

logoline