svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

นักวิชาการถามหา "มารยาท" ธนาธร-ปิยบุตร

25 กุมภาพันธ์ 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นักวิชาการถามหา "มารยาททางการเมือง" ของอดีตแกนนำพรรคอนาคตใหม่ หลังโดนตัดสิทธิ์-ยุบพรรค ยังปรากฏตัวที่สภา ประชุมติวเข้ม ส.ส.อภิปรายไม่ไว้วางใจ.........

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ ภูมิ มูลศิลป์ ประธานหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บอกว่า เรื่องนี้ต้องมองแยกเป็น 2 ส่วน คือ มารยาททางการเมือง กับประเด็นข้อกฎหมาย โดยมารยาททางการเมืองแล้วก็ถือว่าไม่ควรทำ เพราะคำวินิจฉัยออกมาชัดเจน และอย่าลืมว่าต้องมีการส่งรายชื่อกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา อีกทั้งที่ผ่านมา ผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองก็จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวใดๆ กับกิจกรรมทางการเมืองหรือพรรคการเมือง 
ส่วนประเด็นข้อกฎหมาย อาจารย์ภูมิ อธิบายว่า ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง หมวด 8 การสิ้นสุดของพรรคการเมือง ตามมาตรา 94 และมาตรา 95 ได้บัญญัติเอาไว้ โดยเฉพาะมาตรา 95 ที่เขียนไว้ชัดว่า กรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบ จะดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในนามพรรคการเมืองที่สิ้นสภาพหรือยุบไปแล้วไม่ได้ ดังนั้นถ้าจะเอาผิด ก็ต้องไปพิสูจน์ว่าได้กระทำเข้าข่ายเงื่อนไขของกฎหมายหรือไม่ 
สรุปความเห็นของอาจารย์ภูมิ ก็คือ การเอาผิดตามกฎหมายไม่ง่าย แต่เรื่องมารยาทนั้นชัดเจนว่าไม่ควรทำ ขณะที่ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช รองศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ ยุทธพร อิสรชัย มองว่า สิ่งที่แกนนำอดีตพรรคอนาคตใหม่ทำ ถือเป็นเทคนิคทางการเมืองเพื่อแสดงออกถึงการไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยการไปสภาก็จะอ้างว่าไปในฐานะประชาชน เพื่อพบ ส.ส.ที่ตนรู้จักหรือชื่นชอบ ก็ถือเป็นสิทธิ์ที่สามารถกระทำได้ และไม่มีกฎหมายข้อไหนจะไปดำเนินการเอาผิดได้ 
นอกจากนั้น พรรคอนาคตใหม่เพิ่งถูกยุบ และการไปสภาเพื่อพบ ส.ส.ก็ไม่ได้แปลกอะไร เพราะในอดีตก็มีตัวอย่างกรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพรรคการเมือง ซึ่งก็มีให้เห็น จึงถือเป็นช่องว่างทางกฎหมาย

logoline