svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

เงินกู้อนาคตใหม่ ปมโต้แย้งกฎหมายหรือแคมเปญรณรงค์

18 กุมภาพันธ์ 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อีกเพียง 3 วันก็จะถึงวันชี้ชะตาคดีเงินกู้ของพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งมีโทษสูงสุดถึงขั้นยุบพรรค และเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรค ยิ่งใกล้วันพิพากษา ก็ดูจะมีความพยายามหลายๆ อย่างเพื่อหยุดยั้งไม่ให้พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ โดยเฉพาะการจัดทำแคมเปญรณรงค์เพื่อสร้างกระแสคล้ายๆ ต้องการเปลี่ยนแปลงผลคดี ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องนี้เป็นการกระทำของพรรคในฐานะ "นิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน" ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดกฎหมายหรือไม่

เรื่องนี้ไม่มีใครไปขุดคุ้ยกลั่นแกล้งพรรคอนาคตใหม่ เพราะการกู้เงินถูกเปิดเผยขึ้นมาเองโดย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ซึ่งส่วนตัวอาจไม่รู้จริงๆ ว่ากฎหมายไม่ได้อนุญาตให้พรรคการเมืองกู้เงินได้ หรืออาจไปหลงเชื่อนักกฎหมายประจำพรรคที่ศึกษาเฉพาะเรื่องราวของต่างประเทศมากกว่าประเทศไทย จึงมีข้ออ้างทำนองว่าพรรคการเมืองต่างประเทศยังกู้ได้ แล้วทำไมของไทยจะกู้ไม่ได้

เงินกู้อนาคตใหม่ ปมโต้แย้งกฎหมายหรือแคมเปญรณรงค์


กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 62 ระบุให้พรรคการเมืองมีรายได้จาก 7 ช่องทางที่กำหนดไว้เท่านั้น คือ เงินทุนประเดิม / เงินค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรค / เงินที่ได้จากการจำหน่ายสินค้าหรือบริการของพรรค / เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการจัดกิจกรรมระดมทุน / เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการรับบริจาค / เงินอุดหนุนจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง / และดอกผลหรือรายได้ที่เกิดจากเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดของพรรคการเมือง
จะเห็นได้ว่ากฎหมายไม่ได้เปิดช่องทางหารายได้ "อื่นๆ" เพื่อให้ตีความว่า "กู้เงินได้" แต่อย่างใด

ฉะนั้นเมื่อมีคนไปร้อง ซึ่งก็คือ คุณศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย / กกต.ก็ตั้งอนุกรรมการไต่สวนฯ จากนั้นก็สรุปส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยยุบพรรค ตามกฎหมายพรรคการเมืองมาตรา 72 ว่าด้วยการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เงินกู้อนาคตใหม่ ปมโต้แย้งกฎหมายหรือแคมเปญรณรงค์


ที่ผ่านมาพรรคอนาคตใหม่ก็ไม่ได้อยู่เฉยๆ แต่ได้ส่งเอกสารหลักฐานชี้แจงเป็นระยะ รวมทั้งมีการขอขยายเวลาส่งหลักฐาน ซึ่งศาลก็อนุญาตให้หลายครั้ง แต่บางครั้งก็ไม่อนุญาต ถ้าเห็นว่าทำท่าจะเข้าข่ายประวิงคดี
ข้อต่อสู้ของพรรคอนาคตใหม่มี 3 ประเด็นหลักๆ คือ
1. เงินกู้ไม่ใช่รายได้ และกฎหมายไม่ได้ห้ามการกู้
ประเด็นนี้นักกฎหมายอธิบายว่า เป็นความสับสนของหลักการการตีความกฎหมายเอกชน กับกฎหมายมหาชน / คือการบอกว่าเงินกู้ไม่ใช่รายได้ แต่เป็นหนี้สินในทางบัญชีนั้น เป็นการตีความในฐานะที่ผู้กู้เป็น "นิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน" คือบริษัทห้างร้านทั่วไป / แต่พรรคการเมืองเป็น "นิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน" ไม่สามารถมองเรื่องกำไรขาดทุนได้ การกู้เงินจึงไม่มีช่องทางที่กฎหมายรับรอง

ที่สำคัญในกฎหมายมหาชน สิ่งที่เปิดช่องให้ทำได้ กฎหมายจะเขียนไว้ นอกเหนือจากนั้นถือว่าทำไม่ได้ ซึ่งเป็นหลักการตรงข้ามกับกฎหมายเอกชน คืออะไรที่ห้ามทำ กฎหมายจะเขียนไว้ อะไรที่กฎหมายไม่เขียน ถือว่าทำได้ทั้งหมด / ประเด็นนี้สุดท้ายต้องรอฟังคำวินิจฉัยของศาลว่าจะเป็นไปอย่างที่นักกฎหมายหลายรายอธิบายมานี้หรือไม่
2. พรรคอนาคตใหม่อ้างว่า อนุไต่สวนฯของ กกต. 2 ชุด สรุปให้ยกคำร้อง แต่ กกต.กลับยื่นคำร้องยุบพรรค ทั้งๆ ที่ไม่เคยเรียกไปชี้แจง
ประเด็นนี้เป็นข้อกล่าวหาในเรื่องขั้นตอนกระบวนการ ต้องรอดูว่าคำชี้แจงของฝ่าย กกต.เป็นอย่างไร และสุดท้ายศาลจะให้น้ำหนักฝ่ายไหน
และ 3. มีอีก 16 พรรคที่กู้เงินเหมือนกัน ซึ่งก็มีหลักฐานการกู้จริง แต่จะกู้เหมือนที่พรรคอนาคตใหม่กู้ด้วยเงื่อนไขและหลักกฎหมายเดียวกันหรือไม่ ยังต้องพิสูจน์กันต่อไป
จะเห็นได้ว่าสาระสำคัญของคดีนี้ เป็นข้อโต้แย้งทางกฎหมายที่ต้องมี "คนกลาง" คือศาลมาพิพากษาว่าผิดหรือถูกอย่างไร ฉะนั้นการตั้งแคมเปญรณรงค์ต่างๆ ที่กำลังทำกันอยู่ จึงถูกวิจารณ์อย่างหนักจากหลายฝ่ายว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ และเข้าข่ายละเมิดอำนาจศาลหรือเปล่า

logoline