svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ปิยบุตร​ โพสต์เฟซบุ๊ก​ "ทำทุกวันเสมือนเป็นวันสุดท้าย"

17 กุมภาพันธ์ 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โพสต์แฟนเพจเฟซบุ๊ก "ทำทุกวันเสมือนเป็นวันสุดท้าย" ลั่น ยังมั่นใจว่า อนาคตใหม่จะไม่ถูกยุบพรรค แจงเหตุผลหลายข้อ ย้ำข้อกฎหมาย-ข้อเท็จจริง ยุบ อนค.ไม่ได้

[ ทำทุกวันให้เสมือนเป็นวันสุดท้าย ]
"ทว่า Sisyphe ได้สอนเราถึงความซื่อตรงอันสูงยิ่งในการปฏิเสธพระเจ้า และการผลักดันก้อนหิน เขาอีกนั่นแหละที่เป็นผู้ตัดสินว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาทำนั้นดีแล้ว ดังนั้น โลกอันปราศจากเจ้านายของเขา จึงไม่แห้งผาก และไม่ได้ไร้ประโยชน์ ทุกชิ้นส่วนของก้อนหินนี้ ทุกชิ้นแร่ของภูเขาลูกนี้ คือ เขาแต่เพียงผู้เดียวที่นำมันมาหลอมรวมเป็นโลก
การต่อสู้เพื่อไปให้ถึงยอด ก็เพียงพอที่จะเติมเต็มหัวใจของมนุษย์ให้อิ่มเอม
ดังนั้น เราต้องจินตนาการได้ถึง Sisyphe ผู้เปี่ยมสุข"
Albert Camus, Le Mythe de Sisyphe, 1942.
.
จนกระทั่งถึงวันนี้ ผมยังมั่นใจว่าพรรคอนาคตใหม่จะไม่ถูกยุบ เพราะ ไม่ว่าจะพิจารณาจากข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ไม่มีเหตุตามกฎหมายใดเลยที่จะยุบพรรคอนาคตใหม่ได้
ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราใด ข้อใด ที่ห้ามมิให้พรรคการเมืองกู้เงิน หาก พ.ร.ป.พรรคการเมืองต้องการมิให้พรรคการเมืองกู้เงิน ก็ต้องกำหนดไว้ให้ชัดเจน เพื่อให้ทุกพรรคการเมืองทราบล่วงหน้า
ทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน มีพรรคการเมืองจำนวนมากที่กู้เงิน พรรคการเมืองหลากหลายประเทศก็กู้เงิน
"เงินกู้" มิใช่ "รายได้" แต่เป็น "หนี้สิน" จึงไม่เข้าข้อจำกัดตามที่ พ.ร.ป.พรรคการเมืองกำหนดที่มาของรายได้ของพรรคการเมือง
"เงินกู้" มิใช่ "เงินบริจาค" และ มิใช่ "ประโยชน์อื่นใด" พรรคอนาคตใหม่มีสัญญาเงินกู้ชัดเจน เมื่อกู้มาแล้วเป็นหนี้สิน พรรคต้องชำระหนี้คืน และได้ทยอยชำระหนี้คืนไปบางส่วนแล้ว
"เงินกู้" มิใช่ "เงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย" มิใช่ "เงินสกปรก" มิใช่ "เงินจากการทำผิดกฎหมาย"
อย่างไรก็ตาม อย่างที่ผมเน้นย้ำอยู่เสมอว่า "ปากกาไม่ได้อยู่ที่ผม" แต่ "ปากกาอยู่ในมือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" ดังนั้น ในท้ายที่สุด การยุบพรรคอนาคตใหม่จะเกิดขึ้นหรือไม่ จึงอยู่ที่อำนาจตัดสินใจของศาลรัฐธรรมนูญ
และด้วยปรากฏการณ์ "ยุบพรรค" ในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ก็ย่อมทำให้คนจำนวนมากคาดการณ์ไปต่างๆนานาถึงชะตากรรมของพรรคอนาคตใหม่ที่อยู่ในมือของศาลรัฐธรรมนูญ
.
สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) เคยบอกไว้ว่า "ผมมองกระจกทุกเช้าและถามตัวเองว่า ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต ผมยังจะทำสิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้หรือเปล่า และเมื่อไรที่คำตอบคือไม่ ผมรู้ทันทีว่าผมต้องเปลี่ยนแปลง"
หากเราตระหนักว่า ในแต่ละวัน อาจเป็นวันสุดท้าย แล้วเรายังคงเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราทำในแต่ละวันนั้นถูกต้อง สอดคล้องกับมโนธรรมสำนึก และเป็นไปตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน เราก็จำต้องเร่งลงมือทำสิ่งเหล่านั้น
ทำทุกวันให้เสมือนเป็นวันสุดท้าย
นับตั้งแต่เข้าสู่ปีใหม่ ผมเร่งทำงานในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างหนักหน่วงเต็มที่ ทั้งการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร และงานในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน

ผมได้อภิปรายในวาระที่สองของการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญและสำนักงานศาลปกครอง 
ผมได้อภิปรายแถลงญัตติแสดงถึงเหตุผลความจำเป็นของการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางป้องกันมิให้รัฐประหารเกิดขึ้นอีกในอนาคต 
ผมได้อภิปรายไว้อาลัยและเอ่ยชื่อผู้เสียชีวิตจากโศกนาฏกรรมที่โคราช เพื่อสร้างธรรมเนียมสอดคล้องกับสากลในการระลึกและให้การยอมรับนับถือต่อเหยื่อผู้เสียชีวิต ในพื้นที่สำคัญอย่างสภาผู้แทนราษฎร 
ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ผมได้เสนอรายงานที่คณะกรรมาธิการพิจารณาแล้วเสร็จ เรื่อง ผลกระทบของภาษีที่ดิน เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และสภาฯได้ให้ความเห็นชอบ นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป 
คณะกรรมาธิการฯของเรา ยังได้พิจารณาเรื่องร้องเรียนหลายเรื่อง โดยเชิญผู้ร้องและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงและตอบข้อซักถาม ได้แก่ การเก็บดีเอ็นเอของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้, การจำกัดเสรีภาพในการจัดกิจกรรม "วิ่งไล่ลุง", ข้อร้องเรียนของกลุ่มผู้ขับขี่รถสองล้อ, ปัญหาสถานะที่ราชพัสุดในเกาะเต่า, ปัญหาของ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ, การรับข้อเสนอร่าง พ.ร.บ.ต่อต้านการซ้อมทรมานและบังคับบุคคลให้สูญหาย ฯลฯ 
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรประจำสัปดาห์นี้ ในวันพุธที่ 19-20 กุมภาพันธ์ 2563 ผมมีภารกิจหลายเรื่อง
หนึ่ง เสนอรายงานของคณะกรรมาธิการฯอีกสองเรื่องให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา 
เรื่องแรก การทบทวนกระบวนการพิจารณาคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ ซึ่งปัจจุบัน ประกาศ คสช. ได้ยกเลิกอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดในส่วนนี้ คงเหลือให้เป็นอำนาจของตำรวจ 
เรื่องที่สอง ผลกระทบของประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. : ศึกษากรณีการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร การจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก และการจำกัดเสรีภาพสื่อ

ภายหลังที่สภาผู้แทนราษฎร "นับคะแนนใหม่" ทำให้ไม่สามารถตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ "มาตรา 44" ได้ ผมจึงตั้งคณะทำงานขึ้นมาคณะหนึ่งในคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ เพื่อศึกษาเรื่องเหล่านี้โดยตรง ซึ่งประเด็นปัญหาของ "มาตรา 44" มีหลากหลายประเด็น จำเป็นต้องทำรายงานออกมาหลายฉบับ นี่คือรายงานฉบับแรก 
สอง อภิปรายสรุปญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางป้องกันมิให้รัฐประหารเกิดขึ้นอีกในอนาคต ผมตั้งใจใช้โอกาสนี้อภิปราย "ทิ้งทวน" เพื่อบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ของสภาผู้แทนราษฎรไว้ 
สาม เชิญ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. มาชี้แจงและตอบข้อซักถามกับคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ ในกรณีเรื่องแนวทางการจัดการชุมนุมสาธารณะ และกรณี "วิ่งไล่ลุง" 
สี่ เชิญ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. มาชี้แจงและตอบข้อซักถามกับคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ เรื่อง ปัญหาทางกฎหมายกรณีการประกอบธุรกิจของกองทัพ และการทำธุรกิจกันในค่ายทหาร 
ห้า ต้อนรับและสนทนาแลกเปลี่ยนกับประธานกรรมาธิการคมนาคม และอดีต รมต คมนาคม และคณะ จากประเทศสหพันธสาธารณรัฐเยอรมนี   
หก ประชุมคณะอนุกรรมาธิการศึกษาวิเคราะห์บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ซึ่งสัปดาห์นี้จะเข้าเรื่องสำคัญ นั่นคือ หมวดว่าด้วยรัฐสภา 
ในตารางการทำงานของผม ยังกำหนดไว้อีกหลายเรื่องในสัปดาห์ต่อๆไป เดือนต่อๆ ไป 
การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า
การเสนอร่างพระราชบัญญัติอีกหลายเรื่อง เช่น เพิ่ม ป.อาญา มาตรา 113/1, แก้ไขกฎหมายความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์, กฎหมาย anti-slapp, กฎหมายยกเลิกโทษอาญาในความผิดฐานหมิ่นประมาท, แก้ไขกฎหมายความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์, แก้ไขกฎหมายชุมนุมสาธารณะ, แก้ไข พ.ร.บ.กฎอัยการศึก เป็นต้น 
การจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบของประกาศ คสช คำสั่ง คสช. การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในทุกมิติ
การพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน 
การจัดเวทีเสวนาใหญ่เรื่องสิทธิมนุษยชน โดยเชิญนักวิชาการ นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน จากในประเทศและต่างประเทศ 
การจัดเวที "คณะกรรมาธิการฯพบประชาชน" ในหลายจังหวัด 
การนำคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ไปศึกษาดูงานที่ประเทศรวันดา เพื่อหาความรู้กรณีการปรองดองสมานฉันท์ภายหลังการฆ่าล้างเผ่านพันธุ์, ไปศึกษาดูงานที่ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อหาความรู้จากศาลรัฐธรรมนูญของเขา ที่เริ่มต้นมาพร้อมเรา แต่เดี๋ยวนี้พัฒนาไปไกลกว่าเรามาก และไปดูการแสวงหาความปรองดองและสันติภาพที่อาเจะห์ 
การนำคณะกรรมาธิการฯเข้าพบประธานศาลรัฐธรรมนูญและคณะ ประธานศาลฎีกาและคณะ ประธานศาลปกครองสูงสุดและคณะ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น 
การนำคณะกรรมาธิการฯเข้าดูสภาพเรือนจำ และเยี่ยม "นักโทษการเมือง" 
การผลักดันร่าง พ.ร.บ.ต่อต้านการซ้อมทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย  ฯลฯ 
ทั้งหมดนี้ ผมจะได้ทำในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในวันศุกร์ที่ 21 ก.พ.นี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นสถาบันการเมืองเพียงแห่งเดียวที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 
"ผู้แทนราษฎร" คือ ผู้ที่ใช้อำนาจของราษฎรแทนราษฎร 
สภาผู้แทนราษฎร มีพันธกิจในการนำความต้องการของประชาชนมาทำให้เกิดผล
สำหรับผมแล้ว เวลาจะมากหรือน้อยเพียงใด เหลือเวลาอีกเท่าไร ไม่สำคัญ ขอเพียงเราเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ และทำมันทุกวันเสมือนทุกวันเป็นวันสุดท้าย

ปิยบุตร​ โพสต์เฟซบุ๊ก​ "ทำทุกวันเสมือนเป็นวันสุดท้าย"


ชมโพสต์ต้นฉบับ

logoline