svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

Nation Documentary | นักการเมืองรุกป่า

16 กุมภาพันธ์ 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อาจกลายเป็นเรื่องปกติไป ที่ผู้มีอิทธิพล นักการเมือง หรือข้าราชการระดับสูง จะต้องถือครองที่ดินแปลงงาม โดยเมื่อตรวจสอบลึกลงไปจึงได้รู้ว่า เป็นที่ดินที่ยังคลุมเครือ ไม่ชัดเจนว่าได้มาถูกต้องหรือไม่ และมักมีคำถามซึ่งการได้มาอยู่เสมอ

46 ไร่ คือจำนวนที่ดิน ที่นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ สส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ สร้างเล้าไก่รุกเข้าไปในป่าสงวน อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี กรมป่าไม้ได้แจ้งความดำเนินคดีแล้ว แต่ความคืบหน้าที่ล่าช้า จนนักเคลื่อนไหวไม่ว่าจะเป็น "ทนายอัจฉริยะ" หรือ "นายวีระ สมความคิด" ต้องออกมาทวงถาม จนได้ทราบว่ามีใบสั่งจากตำรวจใหญ่ นั่งหัวโต๊ะขอให้เบรคคดีเอาไว้ก่อน
ส่วนที่ดินที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน จำนวน 600 กว่าไร่ ก็ยังหาเจ้าภาพในการดำเนินคดีไม่ได้จนเกิดประโยคว่า "คืนที่ไม่ผิด"
เรื่องของนางสาวปารีณา ยังไม่ทันเงียบหายไป ก็เกิดกรณี พ่อของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการซึ่งเป็นลูกสาว ตระกูลนักการเมืองดังใน จ.ปราจีนบุรี ทั้ง 2 คน ครอบครองโฉนดที่ดินจำนวน 5 แปลง อยู่ติดกับเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
ร่องรอยการถางป่า กินบริเวณขึ้นไปจากเนินเขา ยังเห็นเด่นชัด เสาปูนสีขาวแดงที่ผู้ถือครองเอกสารสิทธิ์ ปักเอาไว้ คือหลักหมุดแสดงแนวเขต ที่ยังไม่ได้รับการยืนยันจากกรมที่ดิน แต่ก็มีการเปิดป่าใหม่ โค่นต้นไม้หลายต้น กลายเป็นพื้นที่โล่ง
อย่างไรก็ตาม มีโฉลด 3 แปลงแรกที่ นายสุนทร วิลาวัลย์ นำมายืนยันกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 70 ไร่ ส่วนอีก 2 แปลง ที่เจ้าหน้าที่จากกรมที่ดินรังวัดเอง เป็นที่โฉนดปรากฏชื่อนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ ประมาณ 15 ไร่ รวมเป็นทั้งหมด 85 ไร่ที่อยู่ในเอกสารสิทธิ์ส่วนนี่คือภาพมุมสูง แสดงให้เห็นการ "เปิดป่าใหม่" นอก "เอกสารสิทธิ์
กอ.รนม. ลงพื้นที่ตรวจสอบครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 มกราคม พบรุกป่านอกโฉนด จำนวน 11 ไร่ 3 งาน 96 ตารางวา และการตรวจสอบครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 20 มกราคม พบบุกรุกเพิ่มอีก 12 ไร่ 1 งาน 92 ตารางวา ทั้ง 2 ครั้งรวมกัน จึงมีจำนวนที่ดินที่รุกไปในผืนป่ามรดกโลก เขาใหญ่แห่งนี้ จำนวน 24 ไร่เศษ
กรณีรุกที่ป่าอุทยาน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีความต่างไปจากกรณีของนางสาวปารีณา ที่บุกรุกที่ป่าสงวนและพื้นที่บางส่วนอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน แต่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามหลักเกณฑ์ที่ต้องเป็นเกษตรกร และถือครองไม่เกิน 50 ไร่
ย้อนกลับในวันที่ เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ ตรวจสอบ กรมป่าไม้และสำนักงานปฏิรูปที่ดิน ต้องลงไปเดินแนวเขตร่วมกัน นำเครื่องมือมาจับสัญญาณดาวเทียม ดูว่ามีที่ดินบุกรุกเกินเขตเอกสารสิทธิ์หรือไม่
นางสาวปารีณาอ้างถือครองที่ดิน โดยมีหลักฐานเป็นใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ โดยเธอได้แจ้งการครอบครองทรัพย์สินกับ ป.ป.ช. ว่ามีที่ดินอยู่จำนวน 1,700 ไร่แต่หลังจากการตรวจสอบ ปรากฏมีที่ดินรวมประมาณ 700 ไร่เท่านั้น และในจำนวน 700 ไร่นี้ 46 ไร่อยู่ในเขตป่าสงวน
และภาพเหตุการณ์ที่ทุกคนยังจำได้ดี คือนายทวี ไกรคุปต์ พ่อของนางสาวปารีณา บุกเข้าไปกลางวงแถลงข่าว แย่งไมค์จากธิบดีกรมป่าไม้ ชี้แจงว่าได้พื้นที่มาโดยถูกต้องตามกฎหมาย โดยอ้างแผนที่อัตราส่วน ที่มีปัญหาปัญหาอัตราส่วนแผนที่ไม่ตรงกัน ดูจะเป็นปัญหาร่วมกัน ที่มักมีประเด็นทุกครั้งในการออกรังวัดที่
หลังการตรวจสอบแปลงที่ดินที่มีการบุกรุก เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ประกาศ ขอให้ชาวบ้านที่มีที่ดินติดกับเขตรอยต่อเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มารายงานตัว เพื่อยืนยันสิทธิ์
ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 18 ตำบลเนินหอม อำเภอเมืองจังหวัดปราจีนบุรี บอกว่า ที่ดินที่มีโฉนดทั้ง 5 แปลง ของนักการเมืองชื่อดังอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของตนเองจริง แต่ก็ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะมีการถากป่ากินเข้าไปในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และยอมรับว่าในพื้นที่บริเวณเดียวกันยังมีอีกหลายแปลงที่มีเขตติดต่อกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยไม่ทราบว่ามีการบุกรุกเข้าไปหรือไม่ แต่ส่วนใหญ่ ไม่ใช่ที่ดินของชาวบ้านดั้งเดิม เพราะมีการซื้อขายเปลี่ยนมือ
หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษกอ.รมน เปิดเผยว่า มีการออกโฉนดที่ดิน ในลักษณะเดียวกันนี้ และมีการบุกรุกเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อีกหลายแปลง ซึ่งจะทยอยพิสูจน์ สะสาง ไล่เรียงไปจากอำเภอเมือง ไปยังอำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี และไปจนถึงอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
เช่นเดียวกัน หลังเกิดเหตุการณ์หลังการตรวจสอบที่ดินนางสาวปวีณา สปก.จังหวัดราชบุรีก็มีการเรียกให้ประชาชนมายืนยันสิทธิ์ในที่ดินเขตปฏิรูป โดยพบที่ดินที่เป็นปริศนาที่ยังไม่มีเลขลงทะเบียน ซึ่งปรากฏว่าเป็นของนายทวี ไกรคุปต์
"เทียบกรณีชาวบ้านติดคุก"
หลานสาว ถึงกับหลั่งน้ำตาเรียกร้องให้กรมป่าไม้ช่วยเหลือ นายวิโรจน์ หวังชัย ผู้เป็นตา หลังถูกผู้ใหญ่บ้านและเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน ที่บ้านพรหาญ ต.ท่าข้าม อ.ปะเหลียน จ.ตรัง จำนวน 47 ไร่ โดยศาลฎีกาตัดสินจำคุก 8 เดือน ปรับ 500,000 บาท ซึ่งตอนนี้ชายชราอยู่ในคุก

ที่ดินของตาอยู่นอกเขตป่าสงวน รับมรดกตกทอดมาตั้งแต่รุ่น พ่อ ทำกินมาเกือบ 100 ปี และมีที่ดินอยู่เพียง 6-7 ไร่เท่านั้น น.ส.ศรัญญา หมื่นศรี ร้องขอความยุติธรรม สะท้อนมาตรฐานกฎหมายระหว่างชาวบ้านธรรมดา กับนักการเมือง
สรัญญา หมื่นศรี หนึ่งในชาวบ้าน 200 คนที่ นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม พาเดินทางเข้าพบ อธิบดีกรมป่าไม้ เพื่อตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และให้มีการรังวัดพื้นที่ของชาวบ้านใหม่ เนื่องจากที่ผ่านมามีชาวบ้านถูกจับกุมดำเนินคดี และมีชาวบ้านอายุ 70-80 ปี ถูกพิพากษาจำคุก จำนวน 2 ราย
ชาวบ้านที่ถูกแจ้งข้อหาบุกรุกป่าและอุทยานแห่งชาติเกิดขึ้นหลายกรณี แต่กลับถูกดำเนินคดีทันที ไม่มีการลดหย่อนหรือต่อรองใดใดจากทางภาครัฐ เดินทางเข้ามาที่กรุงเทพเพื่อบอกเล่าให้สังคมได้รับรู้หลายครั้ง

อย่างกรณีของชาวบ้านที่ถูกจับเนื่องจากที่ดินตก อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้ม มองว่าทำไมถึงเกิดการเหลื่อมล้ำกันทั้งที่ก็เป็นเรื่องที่ดินเหมือนกัน แถมมีการติดต่อเจรจากับทางรัฐมาโดยตลอด
กันยา ปันกิติ ชาวบ้าน ต.หนองปรือ จ.ตรัง ได้เล่าให้ฟังในมุมมองของเธอว่า จริงๆแล้วที่ดินของพวกชาวบ้าน บางครั้งไม่ได้อยู่ในรูปแบบของเอกสาร แต่สามารถตรวจสอบได้จากการปลูกสร้างว่าพวกเขาอยู่มานานเท่าไหร่แล้ว ทำไมถึงไม่มีความยุติธรรมให้พวกเขาบ้าง หรือเห็นว่าคนมีตำแหน่งมีเงินมีอำนาจมากกว่าแล้วจะไม่ถูกดำเนินคดี
ผอ.ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น สุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความที่ทำงานเพื่อเรียกร้องสิทธิมนุษยชน มาเกือบทั้งชีวิต มองว่าปัญหา ที่ดินของชาวบ้านเป็นสิ่งที่ทางภาครัฐควรจะให้ความสำคัญมากกว่านี้ และควรจะมีกฎหมายที่ยุติธรรม
แน่นอนว่าสิ่งที่ชาวบ้านต้องการคือการตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวดต่อผู้กระทำผิดในการออกเอกสารสิทธิที่ดิน และผู้ที่ครอบครองที่ดินโดยผิดกฎหมายโดยเฉพาะนายทุนและนักการเมืองที่มีการใช้อิทธิพล และอำนาจในการครอบครองที่ดินเพื่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม อย่างมิชอบ รวมถึงให้ผู้เกี่ยวข้องทุกระดับจะต้องแสดงความรับผิดชอบในทุกกรณีทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว

logoline